วันนี้ (30 กันยายน) เป็นวันสุดท้ายในการทำหน้าที่ของหลายๆ คน โดยเฉพาะคนที่ทำงานราชการ ผู้เขียนในฐานะรุ่นน้อง ต้องขอขอบคุณ และระลึกถึงผลงานที่ผู้ทำงานมาจนถึงวัยเกษียณ โดยความอุตสาหะตั้งใจทำงานมาโดยตลอด นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศของเรา ผู้เขียนขอให้การเกษียณเป็นจุดเริ่มต้นของการพักผ่อน และทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวเองและต่อสังคมได้เต็มที่
การเกษียณจากการทำงานเป็นจุดที่หลายคนละวางความเคร่งเครียดจากการทำงาน แต่สำหรับเรื่องสุขภาพ คนวัยนี้ต้องเพิ่มความเข้มข้นในการดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีโรคประจำตัว จำพวกโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ อาทิ เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคหัวใจ และหลอดเลือด ซึ่งมียาที่ต้องกินตลอดชีวิต เพื่อรักษาและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงโรคที่เกิดจากทำงานมาทั้งชีวิต เช่น ออฟฟิศซินโดรม ข้อเสื่อม เครียด วิตกกังวล นอนไม่หลับ ซึ่งอาจมีทั้งยาที่กินเป็นครั้งคราว หรือมียาที่ต้องกินควบคุมอาการไปตลอดชีวิต เหมือนกับโรคเรื้อรังก็เป็นได้ ทำให้ยาที่จำเป็นต้องรับประทานในแต่ละวันนับเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปโดยปริยาย
จึงเป็นที่มาของเหตุผลว่า เหตุใดการใช้ยาในวัยเกษียณจึงจำเป็นต้องใส่ใจมากกว่าในช่วงที่อายุน้อยกว่า เหตุผลข้อสำคัญอันดับต้นๆก็คือ เพราะในช่วงอายุนี้ ผู้ป่วยมักมีโรคประจำตัวหลายโรค ทำให้ต้องใช้ยาหลายชนิดพร้อมกัน อีกทั้งการใช้ยาในกลุ่มผู้สูงอายุมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงเพราะความเสื่อมของร่างกาย รวมถึงความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของยาที่เพิ่มขึ้น การเลือกใช้ยาในคนวัยเกษียณต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะหลีกเลี่ยงยาที่อาจทำให้เกิดอันตราย และต้องระวังผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อันอาจเกิดจากยา เรื่องที่ต้องใส่ใจพิจารณา
ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายในผู้สูงอายุ
เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ ระบบการทำงานของร่างกายเริ่มเสื่อม ระบบการดูดซึม กระจาย เผาผลาญ และขับยาออกจากร่างกาย ก็จะเปลี่ยนแปลงไปด้วย เมื่อการทำงานของตับและไต ซึ่งเป็นอวัยวะหลักของการขจัดยาออกจากร่างกายลดลง ส่งผลให้ยาที่สะสมในร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนก่อให้เกิดพิษจากยาได้ง่าย
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังตอบสนองต่อยาเปลี่ยนไป เมื่อเทียบกับคนหนุ่มสาว ทำให้การเลือกใช้ยาในวัยนี้จำเป็นต้องปรับขนาด และวิธีการใช้ให้เหมาะสม ยาหลายชนิดได้กำหนดการปรับขนาดยาตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น ผู้อายุ 60 ปีขึ้นไป อาจต้องให้ยาในขนาดลดลงกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
ใช้ยาหลายชนิด
เนื่องจากผู้สูงอายุที่ป่วยหลายโรคต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกันการใช้ยาหลายชนิดพร้อมกันจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (ยาตีกัน อันเพิ่มโอกาสเกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ เช่น ยาลดความดันโลหิตที่ใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะ อาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะขาดน้ำ และอิเล็กโทรไลต์ไม่สมดุล ดังนั้น การทบทวน ตรวจสอบการใช้ยาโดยแพทย์ และเภสัชกรเป็นประจำจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดความเสี่ยงด้วย
ปฏิบัติตามแผนการรักษา
สมองของคนเราย่อมเสื่อมถอยไปตามอายุ ดังนั้น ปัญหาความจำจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่พบได้เมื่อคนเรามีอายุสูงขึ้น ผู้ป่วยสูงอายุอาจลืมกินยาตามเวลาที่กำหนด หรือกินยาเกินขนาด เนื่องจากลืมว่ากินยาไปแล้วหรือ ยังจึงกินยาซ้ำ นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจไม่เข้าใจวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง จึงแก้ปัญหานี้ได้โดย ควรสร้างระบบการจัดการยา เช่น ใช้กล่องแบ่งยา จัดทำตารางบันทึกการใช้ยา รวมถึงการให้ผู้ดูแล หรือสมาชิกในครอบครัวช่วยตรวจสอบการใช้ยา
ยาที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้สูงอายุ
การใช้ยาในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากยาบางชนิดอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอาการข้างเคียงอย่างรุนแรงและไม่พึงประสงค์ จนอาจทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือบาดเจ็บได้ ยาที่ควรหลีกเลี่ยงในผู้สูงอายุ หรือใช้ตามการดูแลของแพทย์เมื่อจำเป็น เช่น
กลุ่มยากล่อมประสาทและยาคลายเครียด เพราะการใช้ยากลุ่มนี้ในผู้สูงอายุ อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เวียนศีรษะ ง่วงนอนมึนงง และเสี่ยงต่อการล้ม การล้มในผู้สูงอายุเป็นสาเหตุหนึ่งของการบาดเจ็บที่รุนแรง เช่น กระดูกสะโพกหัก นอกจากนี้ ยังพบว่า การใช้ยากลุ่มนี้ในระยะยาวอาจทำให้เกิดการพึ่งพิงยาและภาวะขาดยาเมื่อหยุดใช้
ยาต้านฮิสตามีนรุ่นแรก เช่น มักถูกใช้รักษาอาการแพ้ แต่ในผู้สูงอายุ ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดความสับสน ง่วงนอน ปากแห้ง และภาวะปัสสาวะลำบาก นอกจากนี้ ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหกล้มด้วย จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ในผู้สูงอายุ แต่หากจำเป็นต้องใช้ยาต้านฮิสตามีน ควรพิจารณาใช้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่า
ยาลดการอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ยากลุ่มนี้ถูกใช้เพื่อรักษาอาการปวดและอักเสบ แต่ในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงในการเกิดผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ เช่น อาการระคายเคืองในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร และความเสี่ยงต่อภาวะไตเสื่อม เนื่องจากคนสูงอายุมีภาวะการทำงานของไตลดลง จึงต้องพิจารณาใช้ยาแก้ปวดกลุ่มอื่นที่มีความปลอดภัยสูงกว่า เช่น ยาสำหรับบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
ทบทวนตัวยาที่ใช้โดยสม่ำเสมอ
การติดตามและทบทวนการใช้ยาของผู้สูงอายุเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้แน่ใจว่ายาที่ใช้เหมาะสมและปลอดภัย การปรับขนาดยาหรือเปลี่ยนยา เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือเภสัชกรให้คำแนะนำ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ใช้ยาได้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
โดยสรุป การใช้ยาในวัยเกษียณเป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ ทั้งการเลือกใช้ยา ปริมาณยา และการติดตามผลการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้น ความร่วมมือระหว่างแพทย์ เภสัชกร ผู้ป่วย และผู้ดูแลผู้ป่วย จะเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ลดความเสี่ยงจากการใช้ยา และช่วยให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี