ปี 2024 นับได้ว่าเป็นปีทองของ “ภูเก็ต” ที่ต้องจารึกลงบนหน้าประวัติศาสตร์ไทย เพราะในปีนี้ “ภูเก็ต” คว้า 2 รางวัลใหญ่ จากงานประกาศรางวัล “IFEA/Haas & Wilkerson Pinnacle Award 2024” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (International Festivals & Events Association : IFEA) ณ เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา โดยได้ประกาศผลไปต้นสัปดาห์ โดย นายพัฒนชัย สิงหะวาระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการภาคใต้ เป็นผู้รับมอบรางวัล ของจังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย
รางวัลที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวภูเก็ตและคนทั้งชาติก็คือรางวัล “เมืองเทศกาลโลก (World Festival and Event City)” ที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความพร้อมของจังหวัดภูเก็ต ในทุกมิติสำหรับการเป็นเมืองเจ้าภาพแห่งงานอีเว้นท์และเทศกาลในระดับโลก และนอกจากรางวัลเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก” ยังสามารถคว้ารางวัล “Grand Pinnacle” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดจากงานนี้ที่มอบให้โดย International Festivals & Events Association : IFEA ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานอีเว้นท์ทุกประเภททั่วโลก รางวัลนี้เปรียบเสมือนออสการ์ของวงการอีเว้นท์เลยทีเดียว
นอกจาก ภูเก็ตจะได้รับการประกาศเป็นเมืองเทศกาลโลกแล้ว “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” ยังคว้ารางวัลสูงสุด Grand Pinnacle จากเวทีเดียวกันมาได้อีกด้วย โดยสมาคมเทศกาลและกิจกรรมระหว่างประเทศ (IFEA) ได้พิจารณาจากองค์ประกอบของเทศกาลที่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนด และที่สำคัญคือต้องเป็นงานเทศกาลที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่เหมือนใคร แม้ในช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ-9 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ แต่ก็มี ไฮไลท์หลักที่ทำให้ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” กลายเป็นเทศกาลที่หาที่ไหนไม่ได้บนโลกนี้ โดยปีนี้จัดขึ้น ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567–วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567
ประเพณีที่มีประวัติยาวนาน และสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นกันมาเกือบ 200 ปี เป็นช่วงเวลาแห่งการรักษากายใจให้บริสุทธิ์ ผ่านพิธีกรรมและความศรัทธา ทำให้ตลอดทั้งเทศกาลจะเต็มไปด้วยประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ มากมาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเชื่อและความศรัทธาของชาวภูเก็ตที่สืบทอดกันมายาวนาน ตั้งแต่ในเย็นวันก่อนเริ่มเทศกาล จะมีพิธียกเสาโกเต้งหรือ พิธียกเสาเทวดา จุดตะเกียงไฟบนยอดเสา 9 ดวงที่ตลอดทั้ง 9 วัน ตามมาด้วย พิธีอิ้วเก้ง หรือ พิธีแห่พระรอบเมือง โดยแต่ละศาลเจ้า หรือแต่ละอ๊ามกว่า 40 แห่ง จะต้องแห่องค์เทพบนเกี้ยวที่ประดับประดาอย่างยิ่งใหญ่ตระการตาไปรอบเมือง เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ถือศีลกินผัก ทำให้สองข้างทางระหว่างเส้นทางแห่พระเต็มไปด้วย “ตั๋ว” หรือโต๊ะรับพระที่กำลังรอรับพรจากเทพเจ้า
ความยิ่งใหญ่ของพิธีแห่พระจากอ๊ามกว่า 40 แห่ง ที่ตกแต่งเกี้ยวอย่างอลังการ พร้อมกับการทำพิธีศักดิ์สิทธิ์จากม้าทรง จนมีจำนวนประชากรชาวภูเก็ตที่รอรับ-ส่งพระและเข้าร่วมขบวนแห่เกือบ 40,000 คนนี้เอง ทำให้ขบวนแห่พระถ่ายทอดความเป็นภูเก็ตออกมา ส่งผลให้ถูกเสนอเข้าชิงรางวัลสาขา Best Parade อีกรางวัลหนึ่งด้วย
ก่อนจะเข้าสู่โค้งสุดท้ายของเทศกาลด้วย พิธีโก้ยโห้ย หรือ พิธีลุยไฟ เพื่อชำระล้างพลังลบออกจากร่างกาย ด้วยการเดินข้ามสะพานไปให้ม้าทรงปัดเป่าสิ่งไม่ดี และลงตราประทับยันต์บนหลังเสื้อ พร้อมกับในคืนเดียวกันนั้น ต้องทำพิธีส่งองค์กิ้วอ๋องไต่เต่ ส่งองค์กิ้วอ่องไต่เต่และบรรดาเทพต่างๆ กลับสู่สวรรค์ โดยม้าทรงและพี่เลี้ยงจะร่วมกันหามเกี้ยวตั่วเหลี้ยนไปยังเสาโกเต้ง ซึ่งผู้ถือศีลกินผักสามารถตั้งโต๊ะบูชาและจุดประทัดเฉลิมฉลองได้ตลอดเส้นทาง เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี
เทศกาลกินผักที่รักษ์โลก กินเวลาไปนานกว่า 9 วัน พาให้เมืองภูเก็ตทั้งเมืองเต็มไปด้วยร่องรอยของการเฉลิมฉลองสุดยิ่งใหญ่ที่จำเป็นต้องได้รับการบริหารจัดการที่ยอดเยี่ยม เพื่อฟื้นคืนสภาพภูเก็ตให้กลับมาอีกครั้ง ในส่วนของ อาหาร ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ทางเมืองภูเก็ตจึงเห็นว่าจำเป็นต้องมีการจัดการตั้งแต่ต้นลม ผ่านการรณรงค์ให้ลดการใช้พลาสติก และเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดในพื้นที่โรงเจ โดยผู้ถือศีลกินผักสามารถนำปิ่นโตมา เพื่อรับอาหารกลับบ้านได้ หรือหากไม่สะดวก ทางโรงเจจะมีใบตองและชามที่ทำจากวัสดุธรรมชาติไว้ให้บริการ หรือถ้าหากผู้ถือศีลกินผักต้องการรับประทานอาหารที่โรงเจก็สามารถช่วยเมืองได้ด้วยการตักอาหารในปริมาณที่พอเหมาะกับตนเอง เพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งได้ ส่วนเศษอาหารและเศษผักจะถูกเปลี่ยนเป็นปุ๋ยชีวภาพและอาหารสัตว์ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและความยั่งยืน ทางเมืองภูเก็ตให้ความใส่ใจกับการแยกขยะอินทรีย์และขยะพลาสติก เพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมท้องถิ่น รวมถึงยังช่วยลดขยะจากการฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลได้
การที่ในปีนี้ ภูเก็ต คว้าถึง 2 รางวัลใหญ่จากสมาคมเทศกาลระดับโลกอย่าง IFEA นั้น ถือเป็นการการันตีว่า ภูเก็ต มีศักยภาพในการใช้ต้นทุนทางวัฒนธรรมผ่านงานเทศกาล เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพจากทั่วโลก สอดคล้องกับนโยบาย Festival Economy ที่ต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านการจัดงานเทศกาล พร้อมยกระดับประเพณี ถือศีลกินผัก ที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น (Homegrown) ให้กลายเป็น Flagship Event หรืองานเทศกาลประจำปีที่ยกระดับให้ ภูเก็ต ประเทศไทย ก้าวสู่การเป็นเมืองอีเว้นท์ระดับนานาชาติอย่างเต็มตัว
อยากลองประเดิมเมืองแห่งเทศกาลและอีเว้นท์โลก พร้อมกับเฉลิมฉลองรางวัล Grand Pinnacle ของ “ประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต” และตื่นตาอลังการไปกับ “ขบวนแห่พระ” ก็สามารถเข้าร่วมเทศกาลนี้ได้ตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2567-วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม 2567ที่ จ.ภูเก็ต ประเทศไทย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี