แหล่งโบราณคดีในอู่ทอง
เมืองโบราณอู่ทองเป็นเมืองโบราณที่อยู่ในสุพรรณบุรี ที่มีตัวเมืองเป็นรูปรีค่อนข้างกลมซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ และเจดีย์สถาน สร้างในสมัยทวารวดี นอกจากนี้ยังมี ธรรมจักรพร้อมเสาและฐาน ที่พบในเมืองร้างแห่งนี้ เป็นธรรมจักรที่มีความสมบูรณ์ และสวยงามมากที่สุดในประเทศเมืองไทย กล่าวคือ ทั้งตัวธรรมจักร เสาและฐานมีครบทุกส่วน สถานที่พบคือขุดได้จากเจดีย์หมายเลข ๑๑ เป็นที่รวบรวม ศิลปวัตถุในสมัยต่างๆ ที่ขุดค้นพบ แสดงถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ยุคสมัยต่างๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในดินแดนแถบสุพรรณบุรี เครื่องมือ เครื่องใช้สมัยหินใหม่ ถึงสมัยสัมฤทธิ์ พระพุทธรูปสมัยทวารวดี เป็นต้น อีกทั้งยังได้รวบรวมวัฒนธรรมลาวโซ่ง ซึ่งเดิมเป็นชนกลุ่มน้อย ซึ่งปัจจุบันได้ผสมกลมกลืนไปกับชาวพื้นเมืองแล้ว แต่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ที่เป็นประเพณี ความเชื่อ การทำมาหากิน การแต่งกายโดยภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทอง ได้จัดสร้างบ้านลาวโซ่งขึ้น ภายในบ้านมีเครื่องมือเครื่องใช้ประจำวันอยู่ วันนี้ในเมืองโบราณอู่ทองได้เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอู่ทองที่มีการจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๗ เรื่อง “บรรพชนคนอู่ทอง” จัดแสดงโบราณวัตถุ ๗๓ รายการซึ่งพบจากแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์-ต้นประวัติศาสตร์ เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี และแหล่งโบราณคดีใกล้เคียงในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และกาญจนบุรี
ขวานหิน
นิทรรศครั้งนี้ได้แสดงถึงพัฒนาการของชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่รับอิทธิพลจากดินแดนภายนอกและพัฒนาเข้าสู่ยุคต้นประวัติศาสตร์ คือสมัยทวารวดี ที่เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี แบ่งการจัดแสดงออกเป็น๘ เรื่องที่น่าสนใจคือ ๑.เรื่องร่องรอยมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงขวานหินขัดแบบมีบ่าและไม่มีบ่า เครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ เมื่อประมาณ ๓,๐๐๐ ปีมาแล้วที่พบบริเวณเมืองโบราณอู่ทอง ๒. และ ๓.เรื่องแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๐๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะก้นกลม ภาชนะทรงพาน๔.เรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านหัวอุด อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงภาชนะดินเผารูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นภาชนะอุทิศในหลุมฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ ๓,๐๐๐-๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ภาชนะทรงพาน และหม้อสามขา ๕.เรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านทะเลบก อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยหินใหม่ อายุประมาณ ๓,๐๐๐-๔,๒๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ขวานหินขัด ชิ้นส่วนหม้อสามขา และชิ้นส่วนภาชนะมีนม ๖.เรื่องแหล่งโบราณคดีบ้านดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดสุพรรณบุรี จัดแสดงโบราณวัตถุยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก อายุประมาณ ๑,๗๐๐-๒,๓๐๐ ปีมาแล้ว เช่น ขันสำริด และกำไลสำริด ๗.เรื่องแหล่งโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย-ต้นประวัติศาสตร์ที่เมืองโบราณอู่ทอง จัดแสดงโบราณวัตถุที่พบจากแหล่งโบราณคดีเนินพลับพลา ได้แก่ขวานหินขัด ที่ประทับลายประติมากรรมปูนปั้น และโบราณวัตถุที่พบบริเวณสนามพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง เช่น ลูกปัดแก้วมีตา ลูกปัดแก้วสีต่างๆ ตะคันดินเผา ชิ้นส่วนพระพิมพ์ และเบี้ยกระดองเต่า ซึ่งมีอายุตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์จนถึงทวารวดี ๘.เรื่องจัดแสดงโบราณวัตถุที่แสดงถึงการติดต่อแลกเปลี่ยนกับดินแดนภายนอก เช่น จี้รูปสัตว์สองหัว และตุ้มหูแบบลิง ลิง โอ ซึ่งเป็นเครื่องประดับของกลุ่มคนในวัฒนธรรมซาหุญหรือซาหวิ่น (Sa Huynh) ซึ่งอยู่ทางตอนกลางและตอนใต้ของเวียดนาม กำหนดอายุในช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายสมัยเหล็กราวพุทธศตวรรษที่ ๑-๕ หรือประมาณ ๒,๐๐๐-๒,๕๐๐ปีมาแล้ว การจัดนิทรรศการสำคัญครั้งนี้ นายพนมบุตรจันทโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญชวนให้คนไทยและนักท่องเที่ยวที่สนใจประวัติศาสตร์โบราณวัตถุได้ชมนิทรรศการพิเศษที่จัดขึ้นครั้งนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี