เทวรูปองค์เทพในประรำพิธี จากซ้าย พระพิฆเนศ พระแม่ลักษมี พระแม่ศรีอุมาเทวีปางทุรคา พระแม่สุรัสวดี และพระขันธกุมาร
เป็นประจำทุกปีสำหรับเทศกาลถือศีลกินเจของชาวไทย-จีน ตรงกับเทศกาลนวราตรีของชาวฮินดู ปฏิบัติบูชา ถือศีล งดกินเนื้อสัตว์อย่างเคร่งครัด โดย สมาคมฮินดูธรรมสภา วัดวิษณุ จัดงาน “Shardiya Navratri Mahamahotsav 2024” หรือ “เทศกาล นวราตรี 2567” งานบูชาสรรเสริญองค์พระแม่ศรีอุมาเทวี ปางพระแม่ทุรคา เพื่อรำลึกถึงชัยชนะและเฉลิมฉลองที่สามารถปราบอสูรร้ายตามคติความเชื่อของชาวฮินดู ซึ่งจัดขึ้น9 วัน 9 คืน ในการนี้ สุมนา อภินรเศรษฐ์ได้มอบให้ ภานุมาตีฐต์ สมุทรคีรีจ์ เป็นประธานในพิธีสวดบูชาวันแรก พร้อมด้วย ปัทมาวดี-ราชตี สิงหศิวานนท์ และ พัชรา มาดล ร่วมพิธี โดยมี Shri Vinod Kumar Singh ประธานคณะกรรมการวัดวิษณุ และ Hari Shahi เหรัญญิกพร้อมด้วยคณะกรรมการต้อนรับ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 โดยงานจะมีไปจนถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2567ณ วัดวิษณุ เขตสาทร
งาน “นวราตรี” หรือ ทุรคาบูชา เป็นเทศกาลเฉลิมฉลองที่สำคัญของชาวฮินดูที่จัดขึ้นเพื่อบูชาสรรเสริญพระแม่ทุรคา ซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี ที่ใช้เวลานานถึง 9 วัน 9 คืน เพื่อปราบอสูรร้ายมหิษาสูร โดยพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีได้อวตารเป็นปางต่างๆ ถึง 9 ปาง และสามารถปราบมหิษาสูรได้ในปางของพระแม่ทุรคา ชาวฮินดูจึงให้ความเคารพนับถือและขอพรพระแม่ทุรคาในเรื่องของความสำเร็จและการขจัดสิ่งชั่วร้ายต่างๆซึ่งงานนวราตรี ไม่ได้บูชาเฉพาะพระแม่ทุรคาเท่านั้น แต่ยังบูชาเทพสตรีอีก 2 องค์ คือ พระลักษมีและพระสุรัสวดี อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังของเทพสตรี รวมถึงพระพิฆเนศ และพระขันธกุมาร เป็นความเชื่อกันว่าผู้กราบไหว้บูชาขอพรเทพทั้ง 5 พระองค์ในงานนวราตรี จะนำมาซึ่งความสำเร็จและชัยชนะเหนืออุปสรรคทั้งปวง โดยในช่วงเทศกาลนวราตรี ชาวฮินดูจะถือศีลและงดเนื้อสัตว์ทุกชนิด ซึ่งตรงกับเทศกาลกินเจอีกด้วย
สามศรีพี่น้อง ภานุมาตีฐต์ สมุทรคีรีจ์, ปัทมาวดี-ราชตี สิงหศิวานนท์
ภายในงานจะมีปะรำพิธีตั้งรูปปั้น พระแม่ทุรคาปราบมหิษาสูร, พระแม่ลักษมี, พระแม่สุรัสวดี, พระพิฆเนศ, พระขันธกุมาร โดยระหว่างพิธีวันที่ 1-6 รูปปั้นพระแม่ทั้ง 3 จะถูกปิดพระเนตรด้วยผ้าแดง และในแต่ละวันจะสวดบูชาสรรเสริญพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีในแต่ละปาง จัดขึ้นทั้งในช่วงเช้าและช่วงค่ำหลังการสวดบูชาแล้วจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองร้องเพลงและเต้นรำบทเพลงสรรเสริญพระแม่ศรีมหาอุมาเทวีและเทพองค์ต่างๆ ทั้ง 9 วัน โดยในวันที่ 7 จะมีพิธีเปิดตาพระแม่ทั้ง 3 และในคืนที่ 9 ชาวฮินดูจะร่วมกันเฉลิมฉลองสวดบูชา ร้องเพลง เต้นรำกันอย่างสนุกสนานตลอดคืนจนย่ำรุ่งของวันที่ 10 ซึ่งจะเป็นวันที่ต้องเชิญรูปปั้นองค์เทพทั้ง 5 ไปลอยน้ำ เชื่อกันว่าเพื่อส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์
สมาคมฮินดูธรรมสภา วัดวิษณุ ก่อตั้งมาครบ 103 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2464 ประกอบไปด้วยอาคารศาสนสถานที่สำคัญ อาทิ มหามณเฑียรประดิษฐานเทวรูป โดยมี เทวรูปพระวิษณุ-พระแม่ลักษมี เป็นเทพประธาน เพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีชาวฮินดู และชาวไทยหลากหลายเชื้อชาติมาสักการบูชาองค์เทพเรื่อยมา จนอาคารมหามณเฑียรเกิดความชำรุดทรุดโทรม ในปี พ.ศ.2535คณะกรรมการบริหารวัดวิษณุในขณะนั้น จึงมีมติที่จะจัดสร้างมหามณเฑียรหลังใหม่ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2537 นับเป็นความปลื้มปีติต่อชาวฮินดูในประเทศไทยทุกคน ใช้เวลาในการก่อสร้าง 9 ปีจึงแล้วเสร็จ ต่อมาในปีพ.ศ.2547 ได้อัญเชิญเทวรูปองค์เทพต่างๆ ซึ่งแกะสลักด้วยหินอ่อนจำนวน24 องค์ จากประเทศอินเดีย มาประดิษฐานที่มหามณเฑียรหลังใหม่ นับว่าวัดวิษณุมีเทวรูปองค์เทพครบทุกพระองค์เป็นแห่งแรกของประเทศไทย
ขอเชิญชวนผู้ที่สนใจร่วมงาน “Shardiya Navratri Mahamahotsav 2024” หรือ“เทศกาล นวราตรี 2567” เพื่อสวดบูชาสรรเสริญขอพรพระแม่ศรีมหาอุมาเทวี และองค์เทพอื่นๆ ได้ตลอดวัน โดยงานจะมีถึงวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ณ สมาคมฮินดูธรรมสภา-วัดวิษณุแขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี