ย้อนไปเมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว การจู่โจมแบบสายฟ้าแลบของกองกำลังฮามาส ที่เรียกว่า “ปฏิบัติพายุ อัล-อักซอ” ด้วยการระดมยิงจรวด ทำลายแนวป้องกันพรมแดนระหว่างทางใต้ของอิสราเอลกับฉนวนกาซา ส่งนักรบนับพันทะลวงพรมแดนเข้าไปก่อการแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในความขัดแย้งกว่า 70 ปี การแทรกซึมข้ามพรมแดนของอิสราเอลในวันนั้น มีผู้ถูกสังหารกว่า 1,200 คนและอีกกว่า 250 คน ถูกลักพาตัวข้ามพรมแดนกลับไปยังฉนวนกาซา
ผลพวงของวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ลุกลามบานปลาย ส่งผลกระทบต่อเนื่องที่โหดร้ายมาถึงวันนี้ 1 ปีผ่านไป นับตั้งแต่อิสราเอลยกทัพบุกเข้าไปในฉนวนกาซาเพื่อกวาดล้างกลุ่มฮามาส แทบทุกตารางนิ้วถูกระเบิดทำลายล้าง ด้วยเป้าหมายหลักคือการทำลายอุโมงค์ใต้ดิน คลังอาวุธและเครือข่ายการสื่อสารของฮามาสให้สิ้นซาก แต่ขณะเดียวกัน การโจมตีก็ทำให้ประชาชนพลเรือนในกาซาได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก มีระเบิดในเขตที่อยู่อาศัยและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ ยอดผู้เสียชีวิตเกือบ 42,000 ราย บาดเจ็บเกือบแสนคนพลัดถิ่นเกือบ 2 ล้านคนจากประชากรในฉนวนกาซาทั้งหมดราว 2.3 ล้านคนยากจะหาบ้านเรือนที่พอจะใช้ชีวิตได้ แถมยังต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของกาซา เช่น ที่อยู่อาศัย เศรษฐกิจ ที่ดินทำกิน และกองเรือประมงส่วนใหญ่ถูกทำลายจนสูญสิ้น ฉนวนกาซากลายเป็นจุดที่ถูกระเบิดถล่มถี่ที่สุดเท่าที่เคยบันทึกในสงครามยุคใหม่ จนนานาชาติออกมาประณามถึงผลกระทบต่อชีวิตของพลเรือนในกาซาที่เป็นผลจากการโจมตีทางทหารของอิสราเอลครั้งนี้
การจับตัวประกันถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การต่อสู้ของฮามาสในการสร้างแรงกดดันต่ออิสราเอล ขณะที่อิสราเอลตอบโต้ด้วยการโจมตีทางทหารในฉนวนกาซา ส่งผลให้นานาประเทศเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางปล่อยตัวประกันเหล่านี้ โดยเฉพาะรัฐบาลกาตาร์และอียิปต์ เสนอตัวเป็นผู้ประสานงานให้ทั้งอิสราเอลและฮามาส โดยมีบทบาทเป็นตัวกลางสำคัญในการเจรจาเงื่อนไขการปล่อยตัวประกัน แต่การเจรจาหลายครั้งประสบปัญหา เนื่องจากความขัดแย้งที่ยังดำเนินอยู่และความตึงเครียดที่สูงขึ้นทั้ง 2 ฝ่าย ส่งผลให้ความสำเร็จในการเจรจาหยุดยิงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว หรือราว 1 เดือนหลังการโจมตี ซึ่งนับเป็นการปล่อยตัวประกันเพียงครั้งเดียวที่เกิดขึ้นตลอด 1 ปีแห่งสงครามครั้งนี้
สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส มีผลกระทบทางภูมิรัฐศาสตร์อย่างกว้างขวางในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศมหาอำนาจ เช่น อิหร่าน สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศอาหรับที่ให้การหนุนหลังกาซา กลุ่มติดอาวุธในภูมิภาคที่อิหร่านหนุนหลัง ทั้งกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน และกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน ต่างเดินหน้าโจมตีตอบโต้อิหร่านเพื่อแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกันกับชาวปาเลสไตน์ ส่งผลให้ในที่สุด อิสราเอลทนไม่ไหวเปิดแนวรบด้านเหนือกับฮิซบอลเลาะห์ที่ยิงจรวดข้ามพรมแดนตอบโต้กันต่อเนื่องหลายเดือน อิสราเอลจัดหนักทั้งการโจมตีทางอากาศ และจากการโจมตีแบบลึกลับสุดไฮเทคด้วยเพจเจอร์และวิทยุสื่อสารซุกซ่อนวัตถุระเบิด จนสังหารผู้คนไปเกือบ 2,000 คน รวมถึงหัวหน้าฮิซบอลเลาะห์และแกนนำอีกจำนวนมาก
ในเวลาเดียวกัน อิหร่านได้ระดมยิงขีปนาวุธเกือบ 200 ลูกเข้าใส่อิสราเอล เพื่อแก้แค้นให้กับฮิซบอลเลาะห์และฮามาส ในฐานะที่เป็นแกนหลักของ “กลุ่มอักษะแห่งการต่อต้าน” ทำให้เวลานี้ ประชาคมโลกกำลังตื่นกลัวว่า อิสราเอลจะตอบโต้เมื่อไหร่และอย่างไร จะเลือกโต้กลับเป้าหมายการทหาร หรือจะทำลายเศรษฐกิจด้วยการพุ่งเป้าไปที่น้ำมัน หรือจะคิดใหญ่ที่เป้าหมายทางนิวเคลียร์
สงครามในฉนวนกาซาและความขัดแย้งภาพรวมในตะวันออกกลาง ยังสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของสหรัฐฯ ในภูมิภาคที่จำกัดขึ้น เพราะที่ผ่านมา คณะทำงานของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ยังไม่สามารถที่จะใช้อิทธิพลกดดันพันธมิตรอย่างอิสราเอลให้บรรลุข้อตกลงหยุดยิงได้ แม้ที่ผ่านมาจะให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างเต็มที่ในการป้องกันตนเองจากการโจมตีของฮามาส แต่ขณะเดียวกัน ก็เรียกร้องให้มีการปกป้องชีวิตพลเรือน
ไม่มีใครที่สามารถคาดการณ์ได้ว่า สงครามระหว่างอิสราเอลและฮามาส จะสิ้นสุดเมื่อใด ดูตามปัจจัยหลายข้อจากสถานการณ์ความรุนแรงระดับภูมิภาคนี้ ความขัดแย้งนี้
มีรากฐานจากความตึงเครียดทางประวัติศาสตร์อันยาวนานทั้งทางการเมือง ศาสนา และชาติพันธุ์ในภูมิภาค การเจรจาสันติภาพในอดีตก็มักล้มเหลวเพราะต่างฝ่ายต่างไม่ไว้ใจกัน ส่วนองค์กรระหว่างประเทศและประเทศที่มีอำนาจ ก็ได้พยายามเป็นตัวกลางในการเจรจาเพื่อหาทางยุติสงคราม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนในกาซา แต่การเจรจาเหล่านี้มักเผชิญกับความล้มเหลวเนื่องจากข้อเรียกร้องที่ขัดแย้งกัน เช่น ฮามาสเรียกร้องให้มีการยุติการปิดล้อมกาซา ขณะที่อิสราเอลยืนกรานว่าต้องมีการหยุดการโจมตีจากฮามาสอย่างสิ้นเชิง สุดท้าย ความรุนแรงทางทหารจากการโจมตีรายวันก็ยังคงดำเนินต่อไป ซึ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง
สงครามทุกสงครามย่อมมีวันยุติ แต่สงครามรอบนี้จะยุติลงเมื่อใด มาถึงจุดที่รุนแรงที่สุดแล้วหรือไม่ จึงขี้นอยู่กับอิสราเอล ว่า มีเป้าหมายที่แท้จริงอยู่ที่ไหน จะเพียงแค่กำจัดฮามาสและฮิซบอลเลาะห์ หรือจะมุ่งที่เป้าใหญ่อย่างอิหร่าน
นั่นจึงทำให้ ผู้คนนับล้านๆ ทั้งในฉนวนกาซา และเลบานอน รวมถึงในอิสราเอลเอง ยังไม่รู้ชะตากรรมของตนเอง ว่าพวกเขาจะยังต้องเผชิญเรื่องราวและสถานการณ์โหดร้าย ต่อไปอีกนานเท่าใด.....
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี