สหพันธ์สมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ (สสธวท) โดย คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานสหพันธ์ฯ ร่วมกับ พญ.วันทนีย์ วัฒนะ ปลัดกรุงเทพมหานคร, อู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย, สนั่น อังอุบลกุล ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล ประธานหอการค้าไทย-จีน จัดงานแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ ถนนราชดำริ
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุลประธาน สสธวท กล่าวว่า สืบเนื่องจากการจัดงานกาลาดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯ“เบญจกตัญญุตา” ภายใต้โครงการ “สสธวท รวมในเทิดเอกลักษณ์แห่งปัญจมังกร จารึกความกตัญญูต่อแผ่นดิน” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา สำเร็จลุล่วงไปอย่างงดงาม ซึ่งต่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการจัดงานกาลาดินเนอร์เฉลิมพระเกียรติฯและคณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯถวายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมการก่อสร้าง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินทุนประเดิมแก่คณะกรรมการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติฯ และขอพระบรมราชวินิจฉัย ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน คณะกรรมการ จึงมีปณิธานที่แน่วแน่ที่จะเชิญชวนให้ชาวไทยทุกหมู่เหล่า มีบทบาทในโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 2 แลนด์มาร์คใหม่บนถนนเจริญกรุง
“สำหรับโครงการจัดสร้างซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา สัญลักษณ์แห่งความกตัญญู และความจงรักภักดีของชาวไทยเชื้อสายจีนที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยมาอย่างยาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีแนวคิดเอกลักษณ์ 5 ประการ ดังนี้ 1.พระมหากษัตริย์ทรงได้รับการสดุดีเป็นมังกรแห่งมวลมนุษย์ 2.นักษัตรประจำปีพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3.ปีพุทธศักราช 2567 เป็นปีนักษัตรปีมังกรตามสุริยคติ 4.วัดเล่งเน่ยยี่หรือ วัดมังกรกมลาวาส เป็นหนึ่งในศูนย์รวมพุทธศาสนิกชน 5.ถนนเจริญกรุงได้ชื่อว่าถนนสายมังกร”
อู๋ จื้ออู่ อัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ สถานทูตจีนจึงขอมีส่วนร่วมในการจัดสร้างถาวรวัตถุที่แสดงถึงสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่นี้ ด้วยการส่งหินแกะสลักรูปกลอง 4 คู่ ช้างแบบไทย สิงโตแบบจีนโบราณ จากหินชนิดพิเศษสีขาว ผลงานช่างแกะสลักโบราณระดับชาติ สำหรับใช้ประกอบฐานของซุ้มประตูทั้งสองแห่ง คาดว่าจะเสร็จทันส่งมอบก่อนวันตรุษจีนปีหน้า นอกจากเพื่อเทิดพระเกียรติในหลวงแล้วยังเป็นการร่วมเฉลิมฉลอง 50 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หินแกะสลักที่ร่วมจัดสร้างในครั้งนี้จะที่มีความหมายเชิงประวัติศาสตร์ ยังเป็นสัญลักษณ์เชิงมิตรภาพระหว่างจีน-ไทย และขอให้มิตรภาพของทั้งสองประเทศสถิตสถาพรชั่วกาลนาน
สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจไทย กล่าวว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งถือเป็นองค์กรภาคเอกชนไทย ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศกว่า 156,000 ราย ประกอบด้วย หอการค้าทุกจังหวัด สมาคมการค้า หอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการจัดสร้างโครงการซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติยศ แสดงออกถึงความจงรักภักดี ความกตัญญู ต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง ร่มเย็น ภายใต้ร่มพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ได้ร่วมกันเฉลิมฉลองในวาระพิเศษครั้งนี้ เพื่อเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติไทยสืบไป
“ซุ้มประตูเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” จัดสร้างขึ้นในรูปแบบสถาปัตยกรรมจีนภาคเหนือ โดย แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ “ฐานเสา” มีสีแดงประดับด้วยลวดลายมังกรสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ตามความเชื่อว่าเป็นสัตว์มงคล จำนวน 1 คู่ ตั้งอยู่บนทางเท้าทั้งสองฝั่งของถนนเจริญกรุง “หลังคา” สีเหลืองสามชั้น โดยตรงกึ่งกลางของหลังคาชั้นบนสุด ประดิษฐานตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ด้านข้างซ้ายและขวาประดับด้วยมังกรปูนปั้นระบายสี หันหน้าเข้าหาตราสัญลักษณ์ สื่อถึงพสกนิกรชาวไทยเชื้อสายจีน ต่างน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ ที่ทรงปกเกล้าปกกระหม่อมให้ร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภาร
ส่วน “ฐานซุ้ม” เป็นฐานปัทม์แบบศิลปะไทย ออกแบบโดยกรมศิลปากร ด้านบนประดับด้วย ประติมากรรมกลองหินแกะสลัก ถัดมาด้านหน้าและด้านหลังของซุ้ม ประดับด้วยประติมากรรมช้างกับสิงโตแกะสลัก โดยทุกขั้นตอนการก่อสร้างใช้วิธีเตรียมวัสดุก่อสร้างทั้งหมดจากโรงงาน แล้วขนส่งมาประกอบยังสถานที่ก่อสร้าง และตกแต่งศิลปกรรมต่างๆ เพิ่มเติม จนแล้วเสร็จ โดยซุ้มประตูหมอมีจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยไม่เกินวันที่ 15 พฤศจิกายน ส่วนซุ้มประตูที่สะพานดำรงสถิตมีขั้นตอนที่ซับซ้อนเล็กน้อย คาดว่าจะเสร็จสิ้นเรียบร้อยไม่เกินวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี