PET FAIR SOUTH EAST ASIA: แรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นธุรกิจสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคเอเชีย
วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค ร่วมกับ บริษัท Globus Events และ กระทรวงพาณิชย์ กรมปศุสัตว์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สมาคมที่เกี่ยวข้อง ตัวแทนจากหน่วยงานราชการและเอกชน เปิดตัวการจัดงาน "PET FAIR SOUTH EAST ASIA" (เพ็ท แฟร์ เซาส์ อีสท์ เอเชีย) อย่างเป็นทางการ โดยงานครั้งนี้จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ระว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค กรุงเทพฯ
ครั้งนี้นับเป็นการจัดงานครั้งที่ 3 ของงาน "PET FAIR SOUTH EAST ASIA" โดยยกระดับประสบการณ์จากงานแสดงสินค้าเพื่อการค้าปลีกสู่การเป็นเวทีระดับสากลในการเจรจาธุรกิจ โดยมีบริษัทชั้นนำกว่า 400 แห่ง จาก 40 ประเทศ และพร้อมต้อนรับผู้เข้าชมงานจาก 80 ประเทศทั่วโลก ในปี 2024 นี้มีพาวิลเลี่ยนนานาชาติจาก 12 ประเทศ ที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยงานสัมมนาเชิงวิชาการที่น่าสนใจกว่า 40 วิทยากรชั้นนำ ภายในงานยังมีโซนพิเศษ Thai Pet Avenue ซึ่งเป็นการรวบรวม SMEs ไทยในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงมาแสดงสินค้าที่เน้นความคิดสร้างสรรค์และคุณภาพ ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมี "Pet Trade Service Consultants Zone" เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการนำเข้า ส่งออก การจดทะเบียนการค้า และมาตรฐานสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการขยายธุรกิจไปยังตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและขยายฐานการตลาดได้เพิ่มมากขึ้น
ซึ่งงานนี้ถือเป็นเวทีสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ผู้จัดพร้อมรองรับผู้เข้าชมงานกว่าหมื่นรายจากนานาชาติ และคาดการณ์ว่าการจัดงานครั้งนี้จะสร้างมูลค่าการค้าสูงถึง 850 ล้านบาท (ประมาณ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) จากข้อตกลงที่เกิดขึ้นทั้งในระหว่างและหลังงานแสดงสินค้า การจัดงานครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตระยะยาวและสร้างความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และระดับนานาชาติ
นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานในพิธีเปิดงาน กล่าวว่า “อุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงของไทย โดยเฉพาะอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตชั้นนำและเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากเยอรมนี ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปี 2567 ประเทศไทยส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงมีมูลค่ากว่า 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 26% การเติบโตที่สูงขึ้นอย่างมากนี้สะท้อนถึงศักยภาพและความทุ่มเทของผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่มีคุณภาพสูงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่มทั่วโลก
“กรมปศุสัตว์เล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง เป็นอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนสามารถเป็นแหล่งที่ก่อให้เกิดรายได้ของประเทศจำนวนมากและส่งผลที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของประเทศ กรมปศุสัตว์ จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอาหารสัตวเลี้ยงเเบบครบวงจร หรือ PET FOOD SERVICE CENTER (PFSC) ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นศูนย์กลางเกี่ยวกับอาหารสัตว์เลี้ยงโดยตรง เราได้นำระบบอิเล็คทรอนิกส์ New Single Window เข้ามาใช้งานเป็นการอานวยความสะดวกต่อผู้ประกอบการอาหารสัตว์เลี้ยงให้มีความสะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของประเทศให้พัฒนาและยั่งยืนทัดเทียมประเทศอื่น” กล่าวโดย นายสัตวเเพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์
นายสราญโรจน์ สุทัศน์ชูโต รองผู้อำนวยการ (Chief Operating Officer : COO) และรักษาการผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “ปีนี้ถือเป็นปีที่สามของการจัดงาน งานในครั้งนี้จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยงทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และทั่วโลก เราภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนการจัดงานครั้งนี้ และมองเห็นถึงศักยภาพอันยิ่งใหญ่ในการยกระดับบทบาทของประเทศไทยในภาคส่วนการดูแลสัตว์เลี้ยงระดับโลก งานนี้เป็นเวทีสำคัญในการสร้างความร่วมมือและความสำเร็จร่วมกันระหว่างผู้แสดงสินค้า ผู้ซื้อ และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมนี้ ทีเส็บมุ่งมั่นที่จะเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างประเทศกับโอกาสทางธุรกิจในภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย เรามั่นใจว่างานนี้สร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง”
“การจัดงานในครั้งนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้ากว่า 400 รายจาก 40 ประเทศ รวมถึงบริษัทใหม่อีก 100 แห่ง และยังมีพาวิลเลี่ยนระดับประเทศอีก 12 บูธ และพาวิลเลี่ยนสตาร์ทอัพไทยสุดพิเศษ ภายในงาน เรามุ่งมั่นในการมอบประสบการณ์ที่น่าจดจำมากมาย อาทิ Networking Night, Pitching Contest: Innovators Pitch เป็นการแข่งขันที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้นำเสนอนวัตกรรม ปิดท้ายด้วยกิจกรรมการกุศล ร่วมบริจาคกับมูลนิธิเพื่อสุนัขในซอย (Soi Dog) เพื่อเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากบรรดาผู้ประกอบการของเราไปยังสังคมไทยต่อไป” กล่าวโดย นายยารูณ วาน โฮป ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รอยัล ดัตช์ ยาร์เบอร์ส (ผู้จัดงาน)
“ผมรู้สึกยินดีที่ได้เห็นบริษัทจากจีนจำนวนมากและสมาชิกของ Asia Pet Alliance (APA) เข้าร่วมงาน ทั้งในฐานะผู้แสดงสินค้าและผู้เยี่ยมชม สถานะที่แข็งแกร่งของพวกเขาเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอุตสาหกรรมสัตว์เลี้ยง สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของการค้าและความร่วมมือในภาคส่วนนี้ระหว่างทั้งสองภูมิภาค เราและวีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้นำเสนอแพลตฟอร์มอันยอดเยี่ยมซึ่งมอบโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ ให้กับอุตสาหกรรม” กล่าวโดย นายเดวิด จง ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Globus Events
ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงาน PET FAIR SOUTH EAST ASIA ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม – 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ไบเทค ฮอลล์ 98-100 ตั้งแต่เวลา 10:00-18:00 น. ข้อมูลเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ www.petfairsea.com (ขอสงวนสิทธิสำหรับผู้เข้าชมงานที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป และสวมใส่ชุดสุภาพเพื่อการเจรจาธุรกิจภายในงาน)
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี