เหลืออีกเพียง 3 วัน ก็จะถึงวันชี้ชะตา 5 พฤศจิกายน ว่าใครจะได้เป็นผู้นำสหรัฐฯ คนต่อไป ระหว่างรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ผู้แทนพรรคเดโมแครต และ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีตัวแทน รีพับลิกัน ท่ามกลางการขับเคี่ยวของผู้สมัครจากทั้ง 2 พรรคการเมือง ซึ่งจนถึงตอนนี้ ยังไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าใครจะเป็นผู้ชนะ
เพราะแม้ผลสำรวจคะแนนนิยมระหว่างแฮร์ริสกับทรัมป์จะคู่คี่สูสีกันมากแค่ไหน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า คะแนนคณะผู้เลือกตั้งที่ผู้สมัครแต่ละคนจะได้รับจะสูสีกันไปด้วย
ผู้ที่จะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ใช่ผู้ที่ได้คะแนนเสียงจากชาวอเมริกันมากที่สุด แต่เป็นผู้ที่คว้าเสียงจากคณะผู้เลือกตั้งของแต่ละรัฐได้ถึง 270 เสียงก่อนคู่แข่ง โดยผู้สมัครแต่ละคนจะมีรัฐฐานเสียงของตัวเอง ซึ่งทำให้พอจะประเมินได้ว่า ขณะนี้ในมือของผู้สมัครแต่ละคน มีคะแนนของคณะผู้เลือกตั้งอยู่ในมือเท่าไหร่กันแล้ว
ข้อมูลการประเมินของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอ็น ชี้ว่า ปัจจุบันคามาลา แฮร์ริส น่าจะมีคะแนนในมือ 226 เสียง ขาดอีก 44 เสียงจะถึง 270 เสียง ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มี219 เสียง และต้องการอีก 51 เสียงเพื่อไปถึงเส้นชัย
สาเหตุที่จนถึงตอนนี้ แฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์ นั่นก็เป็นเพราะรัฐฐานเสียงของพรรคเดโมแครต มักจะเป็นรัฐใหญ่ๆ ที่มีประชากรหนาแน่นทำให้มีคะแนนจากคณะผู้เลือกตั้งมากตามไปด้วย เช่น รัฐแคลิฟอร์เนีย มี 54 เสียง ถือว่ามากที่สุดในประเทศหรือในรัฐนิวยอร์ก ที่มี 28 เสียง ก็ถือเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคเดโมแครตที่รีพับลิกันเจาะได้ยาก แม้ว่าทรัมป์ จะลงทุนไปขึ้นเวทีหาเสียงครั้งใหญ่เมื่อวันอาทิตย์ที่แล้วก็ตาม นักวิเคราะห์หลายคน มองว่าทรัมป์น่าจะเสียแรงและเสียเงินไปเปล่าๆ รีพับลิกันไม่เคยมีผู้สมัครเอาชนะได้ที่นี่มานานกว่า 40 ปีแล้ว และน่าจะเป็นเช่นนั้นต่อไป
ขณะที่ฐานเสียงของทรัมป์เองก็ไม่ธรรมดา มีทั้งรัฐเท็กซัสที่มี 40 เสียง มากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ รวมไปถึงฟลอริดา ที่มีอยู่ 30 เสียง ซึ่งขณะนี้ เปลี่ยนจากรัฐสมรภูมิ หรือ Swing State กลายมาเป็นรัฐที่มีแนวโน้มสนับสนุนพรรครีพับลิกันแล้ว
การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ เป็นการเลือกตั้งที่มักจะตัดสินกันด้วยคะแนนในรัฐสมรภูมิ ซึ่งเป็นรัฐที่ไม่ได้สนับสนุนพรรคใดพรรคหนึ่งโดยเฉพาะ คะแนนจะแกว่งเอาแน่เอานอนไม่ได้ โดย Swing Stateในการเลือกตั้งรอบนี้ มีทั้งหมด 7 รัฐด้วยกัน ได้แก่ แอริโซนา จอร์เจีย วิสคอนซิน เนวาดา นอร์ทแคโรไลนา เพนซิลเวเนีย และมิชิแกน
ขณะที่ถ้าไปดูผลคะแนนในทั้ง 7 รัฐนี้ จากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้วจะเห็นว่า ส่วนต่างของชัยชนะต่ำสุดคือหลักหมื่นในรัฐแอริโซนา ไปจนถึง 150,000 เสียง ในมิชิแกน ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีเพียงแค่รัฐนอร์ทแคโรไลนาเท่านั้น ที่ทรัมป์ชนะโจ ไบเดน ส่วนอีก 6 รัฐที่เหลือไบเดนกวาดเรียบ โดยเฉพาะแอริโซนาและจอร์เจีย ซึ่งเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันติดต่อกันไม่ต่ำกว่า5 สมัยแล้ว
ชาวอเมริกันในรัฐ Swing State แต่ละรัฐ มีประเด็นที่ให้ความสำคัญแตกต่างกันไป อย่างรัฐนอร์ทแคโรไลนา ขณะนี้ต้องจับตาดูว่า พายุเฮอร์ริเคนเฮลีนจะส่งผลกระทบ
ต่อคะแนนนิยมผู้สมัครแต่ละคนมากน้อยแค่ไหน หลังจากทรัมป์กล่าวหาว่า รัฐบาลนำเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปใช้กับผู้อพยพ โดยนับตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นมา รัฐนี้เคยเลือกผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น นั่นคือ บารัคโอบามา ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2008
ขณะที่กระแสต่อต้านสงครามและนโยบายสนับสนุนอิสราเอลทำสงครามในกาซาของรัฐบาลไบเดนกำลังทำให้แฮร์ริสและพรรคเดโมแครตสูญเสียเสียงสนับสนุนในรัฐมิชิแกน รัฐสมรภูมิสำคัญ ที่มีสัดส่วนชุมชนชาวอาหรับ-อเมริกันใหญ่ที่สุดในประเทศ เกือบ 400,000 คน
ส่วนเพนซิลเวเนีย ถือเป็นรัฐที่ทั้งทรัมป์และแฮร์ริส และบรรดาผู้สนับสนุนของทั้ง 2 พรรคการเมือง ต่างเดินสายหาเสียงกันนับครั้งไม่ถ้วน ซึ่งรัฐนี้เลือกทรัมป์ในการเลือกตั้งปี 2016 และไบเดน ในปี 2020
เว็บไซต์ FiveThirtyEight นำข้อมูลเรื่องสัดส่วนประชากร สภาพเศรษฐกิจและผลสำรวจความคิดเห็นมาจัดทำเป็นแบบจำลอง 1,000 สถานการณ์ เพื่อดูว่า ใครจะมีโอกาสชนะการเลือกตั้งเท่าไหร่ ผลสำรวจพบว่า ทรัมป์มีโอกาสที่จะชนะและได้เป็นประธานาธิบดีมากถึง 545 ครั้งสูงกว่าโอกาสของแฮร์ริส ซึ่งอยู่ที่ 452 ครั้ง แต่มี 3 ครั้งที่การเลือกตั้งรอบนี้จะไร้ผู้ชนะ ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก โดยมีโอกาสเกิดน้อยกว่า1 ใน 100
ที่น่าสนใจ คือ การคาดการณ์ของแบบจำลองชิ้นนี้ พบว่าทรัมป์มีโอกาสที่จะคว้าชัยชนะในรัฐที่เคยเป็นของไบเดนในการเลือกตั้งเมื่อปี 2020 ได้มากถึง 84% สวนทางกับแฮร์ริสที่มีโอกาสแย่งรัฐจากมือทรัมป์เมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพียง 42% เท่านั้น
การประเมินชิ้นนี้สอดคล้องกับผลสำรวจคะแนนนิยมของผู้สมัครทั้ง 2 คน ก่อนหน้านี้ ที่ระบุว่า แฮร์ริสมีคะแนนนำแค่ในรัฐวิสคอนซินและมิชิแกนเท่านั้น และนำน้อยกว่า 1% ด้วย ขณะที่อีก 5 รัฐ Swing State ที่เหลือ ทรัมป์มีคะแนนนำ โดยเฉพาะในรัฐนอร์ท แคโรไลนา จอร์เจียและแอริโซนา ซึ่งทรัมป์นำมากกว่า 1%
อีกประเด็นที่ต้องจับตามอง ก็คือข้อมูลจากห้องปฏิบัติการการเลือกตั้งของมหาวิทยาลัยฟลอริดา ที่พบว่า มีชาวอเมริกันผู้มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 61.9 ล้านคน ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้งจริงในวันที่ 5 พฤศจิกายนทั้งการเดินทางไปลงคะแนนเสียงด้วยตนเอง และลงคะแนนทางไปรษณีย์ ถือเป็นจำนวนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์ หลายรัฐ Swing Stateสร้างสถิติใหม่ของการมีผู้ออกไปลงคะแนนเสียงล่วงหน้ามากเป็นประวัติการณ์เช่นกัน โดยในการลงคะแนนเลือกล่วงหน้าของการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว พบว่าไบเดนได้คะแนนเสียงมากกว่าทรัมป์ จนช่วยให้ไบเดนคว้าชัยชนะเข้าทำเนียบขาวได้สำเร็จ
แต่จากข้อมูลทั้งหลายทั้งปวงก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ใครจะเป็นผู้ชนะ นั่นทำให้การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รอบนี้น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เรียกว่า กะพริบตาไม่ได้เป็นอันขาด
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี