พระเสด็จโดยแดนชล ทรงเรือต้นงามเฉิดฉาย
กิ่งแก้วแพร้วพรรณราย พายอ่อนหยับจับงามงอน
นาวาแน่นเป็นขนัด ล้วนรูปสัตว์แสนยากร
เรือริ้วทิวธงสลอน สาครลั่นครั้นครื้นฟอง
เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง
พลพายกรายพายทอง ร้องโห่เห่โอ้เห่มา
สรมุขมุขสี่ด้าน เพียงพิมานผ่านเมฆา
ม่านกรองทองรจนา หลังคาแดงแย่งมังกร
สมรรถไชยไกรกาบแก้ว แสงแวววับจับสาคร
เรียบเรียงเคียงคู่จร ดังร่อนฟ้ามาแดนดิน
สุวรรณหงส์ทรงพู่ห้อย งามชดช้อยลอยหลังสินธุ์
เพียงหงส์ทรงพรหมินทร์ ลินลาศเลือนเตือนตาชม
เรือไชยไวว่องวิ่ง รวดเร็วจริงยิ่งอย่างลม
เสียงเส้าเร้าระดม ห่มท้ายเยิ่น เดินคู่กันฯ
(กาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)
วันที่ 27 ตุลาคม 2567 เวลา 15.11 นาฬิกาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตไปยังท่าวาสุกรี เพื่อประทับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
ในโอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมารโดยเสด็จในการนี้ด้วย
ในวันดังกล่าว นับเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งที่ต้องจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนับเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ที่เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ไปในการพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวรารามฯ
นับแต่ช่วงเช้าตรู่วันที่ 27 ตุลาคม ปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากมายไปจับจองพื้นที่ริมสองฟากฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในบริเวณที่กระบวนเรือพระที่นั่งจะผ่าน ซึ่งเริ่มตั้งแต่บริเวณท่าวาสุกรีไปจนถึงปากคลองตลาด ทำให้บริเวณสองฝั่งเจ้าพระยาในช่วงดังกล่าวนั้นเต็มไปด้วยประชาชนที่พร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลืองเพื่อเฝ้าฯรับเสด็จ และเมื่อเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์เคลื่อนผ่านหน้าประชาชนที่เฝ้าฯรับเสด็จก็จะได้ยินเสียงแซ่ซ้องด้วยคำว่า ทรงพระเจริญ ดังกึกก้องไปทั่วทั้งโค้งและคุ้งของแม่เจ้าพระยา (ระยะทางจากท่าวาสุกรีถึงท่าเรือวัดอรุณราชวรารามฯ รวม 4,200 เมตร)
ผู้ที่เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จในบริเวณสองริมฝั่งแม่เจ้าพระยา มีความสุขและปลื้มปีติจนสุดจะบรรยาย เพราะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ของไทย และบังเกิดความรักและหวงแหนในพระราชประเพณีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค เพราะว่าไทยเป็นประเทศเดียวในโลกใบนี้ที่ยังคงเก็บรักษาพระราชประเพณีนี้ไว้ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์แบบที่สุด
กระบวนพยุหยาตราชลมารคในครั้งนี้มีเรือต่างๆ และเรือพระที่นั่งรวมทั้งสิ้น 52 ลำจัดกระบวนเป็น 5 ริ้ว 3 สาย กระบวนมีความยาว 1,200 เมตร กว้าง 900 เมตร ใช้กำลังพลรวมทั้งหมด 2,200 นาย กระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้มีเรือต่างๆ ดังนี้ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ (เรือพระที่นั่งทรง) เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช(เรืออัญเชิญผ้าไตรพระราชทาน) เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และเรือในกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นเรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง
สำหรับริ้วกระบวนเรือในสายกลาง เป็นเรือสำคัญเช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราชเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ และเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 และมีเรืออีเหลือง (เรือกลอง) เรือแตงโม (เรือของผู้บัญชาการขบวนเรือ เป็นเรือกลองใน) เรือตำรวจนอก และเรือตำรวจใน
ริ้วกระบวนเรือสายใน ที่แล่นขนาบข้างเรือพระที่นั่ง มีเรือทองขวานฟ้า ทองบ้าบิน เป็นเรือประตูหน้าเรือเสือทยานชล เสือคำรณสินธุ์ เป็นเรือพิฆาต และเรือรูปสัตว์ 8 ลำ คือ เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรือพาลีรั้งทวีป และเรือสุครีพครองเมือง ปิดท้ายด้วยเรือเอกไชยเหินหาว และเอกไชยหลาวทอง เป็นเรือคู่ชัก
ส่วนเรือในริ้วสายนอก ประกอบด้วยเรือดั้งเรือแซง สายละ 14 รวม
กระบวนพยุหยาตราชลมารคคือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ และเป็นเครื่องยืนยันถึงรากเหง้าด้านขนบธรรมเนียมประเพณีสำคัญของไทย และบ่งบอกว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยกับพสกนิกรไทยยังมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นลึกซึ้งต่อกันอย่างไม่มีวันเสื่อมสูญ
ขอบคุณภาพจาก Atipoj Srisukhon (โกจู๊ดกระบี่)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี