เคยนำเสนอประเด็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไปแล้วเป็นระยะๆ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หลายคนไม่เข้าใจจริง วันนี้จึงขอชวนคุยเรื่องเดิมเพื่อเพิ่มความเข้าใจ และความปลอดภัยเมื่อต้องใช้สิ่งเหล่านี้
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรในประเทศไทย โดยหลักๆ มี 2 ชนิด คือ ยาจากสมุนไพร มีไว้เพื่อบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วย หรือป้องกันโรค ซึ่งเป็นไปตามหลักวิชาการ หรือตามองค์ความรู้การแพทย์ทางเลือก
กับอีกชนิดคือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญที่เป็นสมุนไพร นำไปใช้เพื่อทำให้เกิดผลต่อสุขภาพ หรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการบำบัด รักษา และป้องกันโรคแต่อย่างใด เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (dietary supplement) คือ สิ่งที่เรากิน นอกเหนืออาหารปกติประจำวัน
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอาจใส่สารอาหาร เช่น วิตามินเกลือแร่ โปรตีน หรือกรดอะมิโน หรือสารอื่นๆ อาทิ สารจากสมุนไพร สารสกัด หรือสารสังเคราะห์ เราจึงต้องเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อการป้องกัน หรือรักษาโรค
โดยปกติ ทั้งผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เด็กและสตรีมีครรภ์ รวมถึงสตรีที่กำลังให้นมลูกจึงไม่ควรรับประทาน เนื่องจากอาจไม่มีข้อมูลความปลอดภัยของสารต่างที่อยู่ในผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมากพอ ดังนั้น จึงควรเลี่ยงการใช้
ผลิตภัณฑ์ที่มักตกเป็นข่าว คือ ผลิตภัณฑ์ที่มีการปลอมปนสารต้องห้าม หรือยาแผนปัจจุบันลงไปในผลิตภัณฑ์และทำให้ผู้ใช้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิต ผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่มักมีการปลอมปนได้แก่ ผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก หรือลดความอ้วน ถ้าผลิตภัณฑ์ใดให้ผลลดความอยากอาหารได้ชะงัก น้ำหนักลดอย่างเห็นผลได้ชัด หรือเกิดอาการข้างเคียงต่างๆ จากการใช้ผลิตภัณฑ์ คุณตั้งข้อสงสัยได้เลยว่า ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นน่าจะมีการปลอมปนสารต้องห้าม หรือแอบใส่ยาแผนปัจจุบันลงไปซึ่งมักเป็นสารที่มีผลต่อระบบประสาท และระบบหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทำให้ผู้ใช้ตกเป็นข่าวในหนังสือพิมพ์และสื่อสารมวลชนต่างๆ หลังจากที่ผู้ใช้เสียชีวิตเพราะผลิตภัณฑ์ที่ขายโดยผู้ประกอบการที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสังคม
ผลิตภัณฑ์แบบที่สองที่เป็นอันตรายมาก คือ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่แอบใส่ยาจำพวกสเตียรอยด์ หรือยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs หรือเอ็นเสด)ผู้ใช้อาจรู้สึกหายปวดอย่างชะงัก รู้สึกสบาย แต่สารที่แอบใส่ลงไป เป็นอันตรายต่อหลายระบบ เช่น ทางเดินอาหาร ไต หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น โดยเฉพาะผู้ใช้สูงอายุจะได้รับอันตรายอย่างมาก บางรายเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร จนเสียชีวิต
ผลิตภัณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่เป็นข่าวคือ ผลิตภัณฑ์ที่เคลมว่าช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ โดยการแอบใส่ยารักษาหย่อนสมรรถภาพทางเพศลงไป ซึ่งการแอบปนปลอมนั้นอาจทำให้ผู้ใช้ได้ผลจริง แต่สารหรือยาที่ผู้ผลิตแอบใส่ ไม่ได้ถูกควบคุมคุณภาพของสารที่ใส่ หรืออาจใส่ยาและสารเคมีที่ปนเปื้อนสารพิษ และไม่ได้ถูกควบคุมปริมาณยาที่ใส่เข้าไป รวมถึงคุณภาพในด้านต่างๆ ก็ไม่มีการควบคุม จนบางครั้งคนที่ใช้เกิดอันตรายต่อระบบหัวใจ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางโรค หรือในผู้ป่วยที่ใช้ยาบางชนิด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อสารที่แอบใส่ลงไปจนได้รับอันตรายถึงชีวิต
ในเรื่องของสมรรถภาพทางเพศ ปัจจุบันมียาดีหลายชนิดที่ช่วยคุณผู้ชายในเรื่องนี้ได้ เพียงแค่ต้องไปปรึกษาแพทย์เพื่อจะได้วางแผนการรักษา และให้ยาอย่างเหมาะสมกับแต่ละคน ทางผู้เขียนเองไม่เข้าใจว่าคนที่ไปแสวงหาผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพทางเพศมาใช้เอง จะทำให้ตัวเองตกอยู่ในความเสี่ยงทำไม ทั้งๆ ที่มีหมอ มียาที่ช่วยคุณได้อย่างตรงไปตรงมา
ปัจจุบันพบว่าผลิตภัณฑ์บางชนิดผิดกฎหมาย แต่ของผิดกฎหมายกลับถูกโหมโฆษณาบนสื่อฯ ออนไลน์ และสื่อฯ หลักบางชนิดทุกวัน เพราะฉะนั้น ผู้บริโภคต้องมีความรู้และเท่าทันก่อนจะซื้อหามารับประทาน นอกจากการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โดยค้นหาคำว่า“ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” ในเว็บไซต์ตรวจเลขผลิตภัณฑ์ของ อย. แล้ว ยังต้องสังเกตว่าผลิตภัณฑ์นั้นให้ผลข้างเคียง หรือให้ผลเกินจากวัตถุประสงค์ที่ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นควรจะเป็นหรือไม่ มิฉะนั้นท่านอาจตกอยู่ในอันตรายโดยไม่รู้ตัว
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี