5-6 ปี ให้หลังมานี้ หากเปิดโทรทัศน์หรือท่องโซเชียลมีเดียจะพบว่าคอนเทนต์ที่ก้าวกระโดดจากกระแสรองมาสู่กระแสหลักนกลายเป็นวัฒนธรรมย่อยของไทย คือคอนเทนต์วาย (Y) ซึ่งยึดครองพื้นที่ในวงการบันเทิงไทยไปมากกว่าครึ่ง ทั้งยังส่งออกความนิยมไปต่างประเทศ ตั้งแต่อาเซียน เอเชีย จนถึงตลาดยุโรปและอเมริกา เรียกได้ว่า คอนเทนต์วายไทย เป็นหนึ่งในซอฟต์ พาวเวอร์สร้างชื่อ ทำให้ต้องยกมาเป็นกรณีศึกษาว่า อะไรทำให้เกิดปรากฏการณ์วายไทยที่สร้างกระแสความจิ้นไปทั่วโลกได้อย่างนี้
ต้องยอมรับว่าในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปีซีรี่ส์ประเภท Boy’s Love หรือซีรี่ส์วาย ปลุกกระแสความคึกคักให้กับวงการบันเทิงไทยได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยขึ้นแท่นเป็นผู้นำคอนเทนต์วายระดับโลก ซึ่งมีมูลค่าตลาดมหาศาล และนอกจากซีรี่ส์ วรรณกรรมวายของไทยก็ฮอตฮิตไม่ต่างกัน ทำสถิติเป็นประเภทหนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งล่าสุด ด้วยเหตุนี้สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ (TSA) จึงร่วมกับกรมส่งเสริมวัฒนธรรม THACCA (Thailand Creative Culture Agency) และ OFOS (One Family One Soft Power) เปิดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “นักเขียนบทสู่นักเขียนวาย” ภายใต้โครงการสร้างทักษะใหม่เพื่อพัฒนานักเขียนบทให้เป็นกำลังสำคัญของยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ “GO UP AND NEVER STOP EXPAND MULTI SKILLS” เชิญสองผู้คร่ำหวอดในแวดวงวาย เจติยา โลกิตสถาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บรรณาธิการบริหาร บริษัทสถาพรบุ๊คส์ จำกัด ซึ่งมีสำนักพิมพ์ดีพ (Deep) ผลิตคอนเทนต์วายเป็นหลัก และ กฤษดา วิทยาขจรเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีออนคลาวด์ จำกัดผู้ผลิตซีรี่ส์ชื่อดังอย่าง KinnPorsche The Series LaForte, 4 Minutes และภาพยนตร์แมนสรวง มาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และเรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงวายอย่างครบรส ทั้งในมุมของนวนิยายและซีรี่ส์ เพื่อให้นักเขียนบทละครและผู้สนใจเข้าใจเทรนด์ซีรี่ส์วาย รวมถึง ยูริ (Yuri) แบบ Girl’s Love ก่อนนำไปต่อยอดพัฒนาทักษะของตนเองเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค Y Economy ให้มากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพของซีรี่ส์วาย หรือนิยายวาย มักจะถูกคนบางกลุ่มมองว่าเป็นเรื่องราวแนวประโลมโลก และมักจะขายคู่จิ้น มากกว่าเน้นเนื้อหาสาระสะท้อนสังคม แต่ในความเป็นจริงถ้ามองอย่างเปิดใจ คุณเจติยายืนยันว่าคอนเทนต์วายสะท้อนสังคมในแง่มุมของความหลากหลายทางเพศได้อย่างลึกซึ้ง และเป็นสื่อหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้ผู้คนในสังคมเข้าใจประเด็นความหลากหลายมากขึ้น นอกจากนี้ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เพราะไม่เพียงเป็นซอฟต์พาวเวอร์ให้คนต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้นคอนเทนต์วายจำนวนไม่น้อยยังสอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์ด้านอื่นๆ ของไทยลงไปด้วย “เช่น ซีรี่ส์เรื่องวันดีวิทยาที่เล่าถึงมวยไทย และยังมีหลายเรื่องที่พูดถึงวัฒนธรรมอีสานในบ้านเรา ซึ่งสิ่งเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ ก็สามารถสอดแทรกเข้าไปในนิยายวายได้เช่นเดียวกับนวนิยายทั่วไป” เจติยา ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงนิยายยกตัวอย่าง
เช่นเดียวกับ กฤษดา ที่เล่าถึงการใส่วัฒนธรรมไทยลงไปในคอนเทนต์วายของบีออนคลาวด์ว่า เคยทำแบบสุดทางมาแล้วในภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง ซึ่งนับได้ว่าเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่วัฒนธรรมอันเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยอย่างชัดเจน และหากถามว่าซีรี่ส์วายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยได้อย่างไร เขาว่า “สุดท้ายถ้าทําให้คนรู้จักประเทศไทยได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในมุมไหนก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้หมด และผมเชื่อว่าคนในแวดวงวายก็กำลังทำสิ่งนี้อยู่ คือการเผยแพร่ความเป็นไทย ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ถ้าซีรี่ส์ของเราไประดับโลกได้ ก็แปลว่าจะมีคนรู้จักประเทศไทยแน่นอน”
จากสายวายแนว Boy’s Love ทุกวันนี้ในตลาดเดียวหรือใกล้เคียงกัน เกิดคอนเทนต์แขนงใหม่ที่มาแรงคือ แซฟฟิก (Sapphic) หรือยูริ (Yuri) ซึ่งเติบโตมาจากฐานแฟนคลับสายวายรวมถึงคนที่ชื่นชอบเรื่องราวแนว Girl’s Love จนกลายเป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังของไทย ซึ่งทั้งสองผู้คร่ำหวอดในแวดวงวายต่างเห็นพ้องต้องกันว่า การเกิดขึ้นของคอนเทนต์แนวยูริเป็นอีกหนึ่งกระแสที่ต้องจับตาและมีแนวโน้มว่าจะเติบโตไม่ต่างจากคอนเทนต์วายไทย
“วันนี้เห็นได้ว่าแซฟฟิกหรือยูริบูมมาก โดยมีจุดเริ่มต้นคล้ายกับซีรี่ส์วาย ที่เกิดจากนิยายแล้วกลายมาเป็นซีรี่ส์ ก่อนจะสร้างกระแสคู่จิ้น เพียงแต่ยูริอาจจะมีตลาดรองรับอยู่จํานวนหนึ่งแล้วจากฐานคนที่เสพคอนเทนต์วาย ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังระบุไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือคอนเทนต์ยูริจะเพิ่มกลุ่มแฟนคลับที่เป็น Girl’s Love เข้าไปด้วย ผมมองว่าหากอยากแข่งขันในตลาดยูริ ณ ตอนนี้ ต้องหาคอนเทนต์ที่เฉียบคมมากขึ้น เพราะเริ่มมีการทำออกมาค่อนข้างเยอะแล้วเหมือนกัน” กฤษดา อธิบาย โดยเขามองว่าคอนเทนต์วายและยูริเป็นซับเซตในตลาดเดียวกัน ฉะนั้นแล้วเมื่อมีแนวใหม่เกิดขึ้น ผู้ผลิตเยอะขึ้น คนดูก็ย่อมมีทางเลือกที่หลากหลายขึ้นเช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตตลาดนี้อาจจะมีอีกหลายแนวคอนเทนต์เกิดขึ้นตามมา จนกลายเป็นเค้กก้อนใหญ่ที่ถูกแบ่งเป็นหลายเลเยอร์ให้คนดูเลือกชิมก็เป็นได้
หากสนใจอยากสร้างสรรค์คอนเทนต์วาย แซฟฟิก หรือยูริ ทางด้านนิยาย เจติยา แนะนำว่า การตีพิมพ์นวนิยายวายไม่แตกต่างจากนิยายทั่วไป หลักการคือต้องพล็อตดี ตัวละครดี ถ้านักเขียนสามารถสร้างสองสิ่งนี้ให้แข็งแรงได้ จะสามารถสร้างเรื่อง สร้างฉาก และสร้าง key message ที่ต้องการส่งต่อไปยังคนอ่านได้อย่างไหลลื่น “หลักการเขียนนิยายวาย ไม่ได้แตกต่างจากนิยายทั่วไป เพียงแต่เปิดรับเรื่อง LGBTQ+ ท่านใดที่สนใจอยากให้ลงมือเขียนไปเลย หากตั้งใจจริงเชื่อว่าวันหนึ่งจะต้องเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์วายได้แน่นอน”
ส่วนสายซีรี่ส์ กฤษดา บอกว่าอันดับแรกต้องดูกลุ่มเป้าหมาย แล้วมองว่าแนวไหนที่จะตอบโจทย์คนดูแต่ต้องไม่ซ้ำกลุ่มเดิม “จริงๆ ทุกเรื่องราวล้วนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์ ถ้าเรามองข้ามอัตลักษณ์ทั้งหมดแล้วมองไปที่แก่นของความรู้สึก ซีรี่ส์วายก็คือซีรี่ส์ปกติที่มีพล็อตดี ใครๆ ก็เขียนได้เช่นกัน” เขาว่า แต่เหนือสิ่งอื่นใด การจะเขียนนิยายหรือเขียนบทซีรี่ส์ให้ดี ต้องหาคาแร็กเตอร์ของตัวเองให้เจอ
สำหรับผู้ที่สนใจกิจกรรมดีๆ ในการพัฒนาตนเอง สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ ยังมีโครงการ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพสมาชิกนักเขียนบทละครโทรทัศน์รวมถึงประชาชนทั่วไปอีกหลายโครงการ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ทาง Facebook : สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี