แพทย์รพ.รามาฯเผยคนไทย 34 ล้านคน ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวโดยเฉพาะที่บ้าน แถมหญิงไทยสถิติสูงอันดับ 5 ของโลก นักวิจัยเผยวารสารมะเร็งอังกฤษยันสูดควันบุหรี่มือสองเสี่ยงมะเร็งเต้านม 1.24 เท่า และคร่าชีวิตคนไทยปีละกว่า 20,000 ราย ด้าน "หมอประกิต"ย้ำบุหรี่ไฟฟ้าแม้ไร้กลิ่นเหม็นแต่แฝงสารพิษเพียบทำลายสุขภาพทุกระบบ
5 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงแรม VIC 3 Bangkok คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาเรื่อง“ฆาตกรที่มองไม่เห็น: คนไทยตายปีละเท่าไรจากควันบุหรี่มือสอง”
รศ.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามา ธิบดี เปิดเผยสถานการณ์การได้รับควันบุหรี่มือสองว่า ควันบุหรี่มือสองเป็นภัยใกล้ตัวที่หลายคนอาจมองข้าม ทั้งที่เป็นปัญหาใหญ่เพราะปัจจุบันมีคนไทยที่ไม่ได้สูบบุหรี่จำนวน 34 ล้านคน แต่กลับได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนรอบตัวที่สูบบุหรี่โดยเฉพาะที่บ้าน ซึ่งอัตราการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศแล้วอยู่ในระดับที่สูงมาก
ทั้งนี้ จากข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย เมื่อพ.ศ.2562 พบคนไทย 70 เปอร์เซนต์ ได้รับควันบุหรี่มือสอง ขณะที่การสำรวจของอังกฤษ ปี 2562 พบคนอังกฤษได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองเพียง 30 เปอร์เซนต์ ที่สำคัญ ตัวเลขผู้หญิงไทยได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองจากที่บ้าน 68 เปอร์เซนต์ ขณะที่ผู้ชายไทยได้รับควันบุหรี่มือสองจากบ้าน 47 เปอร์เซนต์
“เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ อีก 57 ประเทศ จะพบว่าผู้หญิงไทยช่วงอายุ 15-49 ปี ได้รับควันบุหรี่มือสองสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ถือเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เพราะปัจจุบันมีหลักฐานงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จากวารสารมะเร็งของประเทศอังกฤษ (British Journal of Cancer) ปี 2567 ยืนยันแล้วว่าการสูดควันบุหรี่มือสองเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิงถึง 1.24 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มตามปริมาณและระยะเวลาที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงไทย” รศ.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้านนายรักษพล สนิทยา นักวิจัยแผนงานพัฒนาดัชนีภาระโรคแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า ข้อมูลจากรายงานภาระโรคจากปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย ปี 2562 คนไทยเสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองสูงถึง 20,688 รายต่อปี โดยเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองมากที่สุดคือ 9,080 ราย หรือ 44 % รองลงมาคือ โรคหัวใจขาดเลือด 4,223 ราย (20%) มะเร็งปอดและหลอดลม 1,972 ราย (9%) และยังมีโรคอื่น ๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 2 โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง และมะเร็งเต้านม
นายรักษพล กล่าวว่า เมื่อคำนวณภาระโรคจากการได้รับควันบุหรี่มือสองของคนไทย ปี 2562 โดยดูจากค่าการสูญเสียปีสุขภาวะ หรือจำนวนปีที่เสียไปเพราะสุขภาพไม่ดี พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัย พบว่า การได้รับควันบุหรี่มือสองทำให้คนไทยสูญเสียปีสุขภาวะถึง 534,186 ปี ข้อมูลการศึกษาภารโรคระดับโลก (Global Burden of Disease: GBD 2019) เปรียบเทียบการสูญเสียปีสุขภาวะทั่วโลก พบว่าภาระโรคจากควันบุหรี่มือสองของไทยอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย (117.1 ปีต่อแสนประชากร) ญี่ปุ่น (221.69 ปีต่อแสนประชากร) และอังกฤษ (154.48 ปีต่อแสนประชากร) เป็นต้น
ทางด้าน ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์ รองผู้อำนวยการศูนย์ วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ(ศจย.) กล่าวว่า เด็กเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองมากกว่าผู้ใหญ่ ในประเทศไทยพบเด็กช่วงอายุ 1- 5 ปี พักอยู่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่สูงถึง 55% โดยในกรุงเทพฯ พบมากที่สุด 62% ซึ่งงานวิจัยในไทยที่ศึกษาเปรียบเทียบปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หอบหืดและหลอดลมหรือปอดอักเสบพบตัวเลขสัมพันธ์ว่า เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่พบความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคระบบหายใจส่วนล่างสูงขึ้นถึง 4 เท่า นอกจากนี้มีการนำเส้นผมของเด็กที่พักอาศัยในบ้านที่มีการสูบบุหรี่มาตรวจพบว่ามีปริมาณสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารพิษในบุหรี่สูงกว่าค่ามาตรฐาน
“ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น แต่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตรายเพราะมีกลิ่นหอมและไม่มีควันจากการเผาไหม้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วการได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายจากไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้า ที่ประกอบไปด้วยสารนิโคติน PM2.5 โลหะหนัก และสารก่อมะเร็ง ดังนั้น บริเวณที่มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงถือเป็นมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทั้งคนที่สูบและไม่ได้สูบ ซึ่งงานวิจัยในต่างประเทศระบุว่าการได้รับควันมือสองจากบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะเพิ่มขึ้น 1.06 เท่า โรคหลอดลมอักเสบเพิ่มขึ้น 1.4 เท่า ภาวะหายใจลำบากเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า โรคหอบหืดที่ควบคุมไม่ได้เพิ่มขึ้น 1.88 เท่า และภาวะเจ็บป่วยทางจิตเพิ่มขึ้น 1.43 เท่า” ศ.พญ.สุวรรณา กล่าว
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า ผลกระทบจากควันบุหรี่มือสองทั้งบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ไฟฟ้าต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ เห็นผลได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งต่อระบบหายใจและหัวใจ เช่น เกิดการระคายเคืองและความเสียหายของเยื่อบุทางเดินหายใจ นำไปสู่อาการหืดจับและมีอาการรุนแรงในคนที่เป็นโรคหืดอยู่แล้ว หลอดเลือดเปราะบาง ยืดหยุ่นไม่ดี ทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจช้า มีโอกาสเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบ พลัน
“แม้ประเทศไทยจะมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ แต่การบังคับใช้กฎหมายของเรายังทำได้ไม่ดี โดยคะแนนที่องค์การอนามัยโลกประเมินเราอยู่ที่ 6 คะแนนจากเต็ม 10 คะแนน โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า และมีการนำมาสูบในที่สาธารณะหรือออกสื่อทั้งที่ผิดกฎหมาย จึงอยากสื่อสารให้รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ เพราะมีบทเรียนจากต่างประเทศแล้วว่าประเทศที่บังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะอย่างจริงจัง สามารถลดความเสี่ยงของคนไม่สูบบุหรี่จากอันตรายการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะประชากรวัยเด็ก” ศ.นพ.ประกิต กล่าว
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี