สัปดาห์นี้ ไปทำความรู้จัก “ฉงชิ่ง” มหานครสุดมหัศจรรย์เหนือจินตนาการ ผสานทุกมิติครบจบในเมืองเดียว จนได้ฉายาว่า “เมืองจีนย่อส่วน” บินตรงจากไทยไปแค่ 3 ชม. ดูซีรี่ส์แป๊บเดียวก็ถึง ใครแพลนเที่ยวฉงชิ่งบอกเลยต้องอ่าน “รู้เขารู้เรา” เที่ยวร้อยครั้งฟินร้อยครั้ง!!
เมืองภูเขาที่จริงใจ
- หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ฉงชิ่งได้รับฉายาว่าเมือง 8 มิติ เพราะเป็นเมืองในภูเขาที่แท้ทรู อาคารบ้านเรือนต่างๆ จึงต้องออกแบบให้สอดรับกับสภาพทางภูมิศาสตร์ เช่น “หงหยาต้ง” หรืออาคารไม้ที่สร้างขึ้นริมหน้าผา,ลานจอดรถที่ลึกถึง 68 เมตร (เทียบเท่าตึก 20 ชั้น) สะพานรถยนต์ที่สูงละลิ่วประดุจรถไฟเหาะในสวนสนุก
- ที่นี่มีทั้งภูเขาและเนินเขาสูงต่ำหลายระดับ โดยสัดส่วนของภูเขาสูงกินพื้นที่ถึง 75.33% เนินเขา 15.60% พื้นที่ยกสูง 5.33% เป็นที่ราบรวมแล้วแค่ 3.74% เท่านั้น โอเค…พอเข้าใจแล้วว่าทำไมสถานีรถไฟใต้ดินถึงมีบันได 800 ขั้นและทำไมรถไฟถึงต้องวิ่งทะลุตึก
ลูกรักแยงซีเกียง
- นอกจากภูเขาแล้วธรรมชาติยังประทานแม่น้ำแยงซี หรือ แยงซีเกียง มาตุธารของจีนให้กับฉงชิ่ง โดยไหลผ่านพื้นที่ 18 เขตในฉงชิ่งเป็นระยะทางถึง 691 กม. คิดเป็นราวร้อยละ 11 ของความยาวรวมของแยงซี
- แม่น้ำแยงซียังแตกแขนงรากแก้วออกไปเป็นแม่น้ำสายย่อยหลักๆ อีกหลายสาย เช่น แม่น้ำอูเจียง แม่น้ำเจียหลิง ยังไม่รวมแม่น้ำสาขาเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายรากฝอย เรียกได้ว่ามีครบทั้งภูเขาและแม่น้ำ
- โตรกสามผาแห่งแยงซีอันเลื่องชื่อของจีน ประกอบด้วยช่องแคบสามแห่ง หนึ่งในนั้นคือ “ช่องแคบชวีถัง” ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของฉงชิ่ง บอกเลยว่าเป็นอีกหนึ่งที่เที่ยวที่สวยตราตรึงใจสุดๆ
เมฆหมอกเป็นใจ
- มหานครฉงชิ่งตั้งอยู่ช่วงตอนกลางของแยงซี มีทรัพยากรน้ำอุดมสมบูรณ์ มีฝนตกชุก มีความชื้นสูง และมีภูเขาน้อยใหญ่ล้อมรอบจึงมีลมพัดเข้ามาได้น้อย ทำให้ที่นี่กลายเป็นเมืองแห่งหมอก
- โดยเฉลี่ยในหนึ่งปีจะมีวันที่หมอกลง 30-50 วัน (คิดคร่าวๆ ปีหนึ่งมี 1-2 เดือนที่เจอหมอก) ภาพรถไฟขบวนน้อยวิ่งผ่านทะเลหมอกบนสะพานแขวนจึงไม่ใช่แค่ฉากในนิยายแฟนตาซีสำหรับคนฉงชิ่ง
บรรพชนของคนเมืองภูเขา
- หลายคนอาจได้ยินมาว่าหนุ่มสาวฉงชิ่งหน้าตาดี ผิวพรรณผุดผ่องแถมหุ่นยังเป๊ะปัง (บ้านเกิดเซียวจ้านนะรู้ยัง) เนื่องจากมีอากาศชุ่มชื้น แถมยังต้องเดินขึ้นเขากันทุกวี่วันจนเอว S(หรือเอวเคล็ดในบางคน) แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงบรรพบุรุษชาวฉงชิ่งกัน
- ก่อนอื่น ฉงชิ่งมีประชากร 30 กว่าล้านคน กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองหลักราว 66% ด้วยความที่สังคมสงบและเจริญ ที่นี่จึงมีประชากรหนาแน่นมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงและชิง และประกอบด้วยผู้คนจากหลากหลายชาติพันธุ์
- ช่วงต้นยุคจ้านกั๋ว (475-221 ก่อนคริสต์ศักราช) ชาวปาซึ่งมีถิ่นฐานในลุ่มน้ำฮั่นปะทะกับรัฐฉู่ จึงหอบผ้าผ่อนร่อนเร่ย้ายถิ่นหนีมายังพื้นที่สามโตรกของแม่น้ำแยงซี และมาตั้งเมืองหลวงขึ้นในแถบนี้ กลายเป็น “ผู้อพยพ” กลุ่มแรกสุดของฉงชิ่ง ก่อนที่จะหลอมรวมและกลืนกลายเข้ากับวัฒนธรรมของหลายชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ “ปาและสู่” หรือ “เสฉวน-ฉงชิ่ง” ในปัจจุบัน
- ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของจีน พื้นที่ตอนเหนือของจีนมักรบราฆ่าฟันกันไม่หยุด ต่อมาจึงมีชาวจีนเหนือลี้ภัยข้ามเทือกเขาไท่ปามายังพื้นที่แอ่งเสฉวนมากขึ้น เพราะสังคมที่นี่มีความมั่นคงและเจริญรุ่งเรือง
- คนเหล่านี้นำเครื่องมือและเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาด้วย รวมไปถึงความเชื่อทางจิตวิญญาณ จนเป็นที่มาของผลงานแกะสลักหน้าผาหินต้าจู๋ยาว 500 เมตรในสมัยราชวงศ์ซ่ง ที่บอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนสมัยโบราณ รวมถึงความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ในพุทธศาสนา
- ฉงชิ่งยังเป็นเทศบาลนครแห่งเดียวของจีนที่มีการจัดตั้งอำเภอปกครองตนเองของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีมากถึง 4 อำเภอ
ตัวมารดาเรื่องหม้อไฟ
- มหานครที่ร้านอาหาร 8 ใน 10 บนถนนแทบจะเป็นร้านหม้อไฟ ทั้งเมืองอบอวลด้วยรสชาติและกลิ่นอายของพริกหม่าล่าและน้ำซุปร้อนๆ จากเตา จนได้ฉายา “นครแห่งหม้อไฟ”มาเก็บเข้าคลังเพิ่มอีกหนึ่ง
- ความแปลกของฉงชิ่งคือ ร้านหม้อไฟที่ตกแต่งอย่างดูดีมีระดับมักจะไม่ค่อยมีลูกค้าเนืองแน่น แต่ร้านที่สร้างด้วยอิฐธรรมดาๆ โต๊ะและเตาเก่าๆ มักจะมีคนต่อคิวยาว นั่นเพราะคนฉงชิ่งมองว่าหม้อไฟจะอร่อยหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบรรยากาศ หลายคนจึงชอบจับกลุ่มกินหม้อไฟร่วมกันแบบจอยๆ ชิลๆ สบายๆ
- ความพิเศษของหม้อไฟหม่าล่าของที่นี่อยู่ที่น้ำมันพริกที่สืบทอดกันมายาวนานเรียกกันว่า “เหล่าโหยว” และ “ผีเสี้ยนโต้วป่าน” หรือเต้าเจี้ยวหมักจากถั่วปากอ้า ของขึ้นชื่ออำเภอผีของฉงชิ่ง
- คงพอเดาได้แล้วว่าคนที่นี่บริโภคน้ำมันกันฉ่ำมาก เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาฉงชิ่งจึงมีโครงการ “เปลี่ยนน้ำมันเหลือทิ้งให้เป็นพลังงาน” โดยนำมาพัฒนาเป็นน้ำมันเครื่องบิน ล่าสุดมีการนำไปใช้กับเครื่องบินโดยสารรุ่น C919 และ ARJ21 ที่พัฒนาโดยบริษัทโคแม็กของจีน
ตัวตึงเรื่องทอดสะพาน
- ฉงชิ่งมีอีกฉายาคือ “พิพิธภัณฑ์สะพานโลก” เพราะมีสะพานมากกว่า 20,000 แห่ง (รวมสะพานลอยและสะพานยกระดับ) แถมในจำนวนนี้ยังเป็นสะพานที่สร้างสถิติโลกมากถึง 17 แห่ง
- ฉงชิ่งวางแผนสร้างสะพานข้ามแม่น้ำ 57 แห่ง ในเขตเมืองหลัก เป็นสะพานข้ามแยงซี 28 แห่ง และสะพานข้ามแม่น้ำเจียหลิง 29 แห่ง ปัจจุบันสร้างเสร็จไปแล้ว 37 แห่ง และกำลังก่อสร้างอยู่ 7 แห่งในปัจจุบัน
ความ (ไม่) ลับ ของรถรางทะลุตึก
- หนึ่งในแลนด์มาร์คฉงชิ่งคงหนีไม่พ้น “สถานีหลีจื่อป้า”(Liziba Station) ของรถไฟสาย 2 ของฉงชิ่ง ที่รถไฟจะวิ่งตัดทะลุตึก เพราะมีป้ายสถานีอยู่ข้างในตึก
- คำถามคือคุณคิดว่าตึกกับรถไฟอะไรสร้างก่อนกัน?คำตอบคือสร้างขึ้นพร้อมกันเมื่อปี 2000 ว่ากันว่าในตอนนั้นผู้พัฒนามอบข้อเสนอสุดทรงพลังให้กับผู้ที่ซื้อห้องชุดในตึกนี้ นั่นก็คือสิทธิ์ในการนั่งรถไฟฟ้าเมืองฉงชิ่งฟรีตลอดชีพ
- แม้จะถูกเรียกว่ารถไฟรางเบา แต่จริงๆ รถไฟฟ้าที่วิ่งบนฟ้าของฉงชิ่งเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวแบบคร่อมราง (Straddle Monorail) เพราะมีความสามารถในการไต่พื้นที่สูงชันได้มากถึง 60% ที่เหลือนอกจากนั้นก็จะเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน
ชัยภูมิยุทธศาสตร์ชาติ
- ฉงชิ่ง มี GDP เป็นอันดับ 4 ของประเทศจีน ใน 2024 จากอุตสาหกรรมหลักได้แก่ ยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และวัสดุขั้นสูง โดยครึ่งปีแรกของปี 2024ฉงชิ่งผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 3.91 แสนคัน ครองอันดับหนึ่งของประเทศ เพิ่มขึ้นถึง 1.5 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
- ฉงชิ่งเป็นพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์หลายด้าน อาทิ เมืองศูนย์กลางในการพัฒนาภูมิภาคตะวันตกของประเทศ การพัฒนาเขตวงกลมเศรษฐกิจเมืองแฝดเฉิงตู-ฉงชิ่ง, ระเบียงการค้าทางบก-ทะเลระหว่างประเทศสายใหม่ (ILSTC) ทั้งยังเป็นเมืองศูนย์กลางการขนส่งระดับชาติที่ไม่ติดทะเลเพียงแห่งเดียว ที่มีความสามารถครบทั้ง 5 ประเภท ได้แก่ ท่าเรือบก ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ภาคการผลิต และการพาณิชย์
- ฉงชิ่งมีบริการขนส่งทางรางเชื่อมต่อทางหลวงจีน-เมียนมา และรถไฟข้ามพรมแดนจีน-เวียดนาม โดยมีการนำเข้า ทุเรียน วัตถุดิบอาหาร และมันสำปะหลังจากประเทศในอาเซียน และส่งออกรถยนต์แบรนด์จีนสู่อาเซียน และในปี 2024 นี้ ฉงชิ่งก็เพิ่งเปิดบริการรถไฟขนส่งข้ามพรมแดนระหว่างจีน ลาว ไทย และ มาเลเซีย
ความสัมพันธ์กับไทย
- ปี 2019 ฉงชิ่งถูกจัดอันดับให้อยู่ในลำดับที่ 2 ของภาคตะวันตกของจีน ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมาไทยมากที่สุด
ฉงชิ่งยังเป็นเมืองพี่เมืองน้องกับกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ของไทย
- ปัจจุบันสายการบินที่ให้บริการบินตรงกรุงเทพฯ-ฉงชิ่งมีสองเจ้า ได้แก่ ไชน่าเอ็กซ์เพรสแอร์ไลน์ และแอร์เอเชียจวบจนปี 2019 กลุ่มเครือโภคภัณฑ์ไทย
ได้จัดตั้งซูเปอร์มาร์เก็ตโลตัส 10 แห่งในนครฉงชิ่ง
- ปัจจุบันมีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ที่สถาบันการศึกษาต่างๆ ของฉงชิ่งกว่า 600 คน เช่น มหาวิทยาลัยซีหนานวิทยาลัยอาชีวศึกษาและเทคนิควิศวกรรมฉงชิ่ง
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี