ปัจจุบันเราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรคมะเร็งคือโรคที่ปัญหาสาธารณสุขระดับโลก ส่วนในประเทศไทยก็ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่139,206 คนต่อปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตปีละ 84,073 คนโรคมะเร็งที่พบมาก 5 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดีมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รวมถึงมะเร็งปากมดลูก
คำว่ามะเร็งเป็นคำที่คนส่วนใหญ่กลัว และกังวลว่าตนเองจะเป็นโรคนี้หรือไม่ ดังนั้น สัปดาห์นี้เรามาคุยถึงปัจจัยเสี่ยงและสัญญาณเตือนโรคมะเร็งกัน ปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งแบ่งเป็น 2 หมวดหลักๆ คือ ปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้ และปัจจัยเสี่ยงที่ปรับเปลี่ยนได้
ปัจจัยที่ปรับเปลี่ยนไม่ได้นั้นเราไม่สามารถแก้ไขได้ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น มีประวัติการเจ็บป่วยโรคมะเร็งในญาติสายตรง เชื้อชาติ/ชาติพันธุ์ (บางเชื้อชาติ/บางชาติพันธุ์มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งบางชนิดมากกว่าเชื้อชาติ/ชาติพันธุ์อื่น) และสุดท้ายคือ ประวัติการเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน
แต่ถึงแม้ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนหรือป้องกันได้ แต่ก็ไม่ต้องกังวลมากเกินไป เพราะมีอีกหลายปัจจัยเสี่ยงที่เราสามารถปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า รักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสม ไม่ปล่อยอ้วนเกินไป กินผักผลไม้เพื่อเพิ่มปริมาณกากใยหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปต่างๆส่วนในประเทศไทยก็ควรเลี่ยงการกินปลาน้ำจืด โดยเฉพาะปลาที่ไม่ได้ปรุงสุกอย่างดี เช่น ปลาสุกๆ ดิบๆ ปลาร้า ปลาจ่อมแต่หากจะกินปลาเหล่านั้นก็ต้องทำให้สุกอย่างดีเสียก่อน
นอกจากนั้นยังต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีอันตรายที่มีมากมาย และต้องเลี่ยงมลภาวะทุกชนิดพูดโดยรวมคือ ใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังตลอดเวลา แต่ไม่ต้องวิตกกังวลจนเสียสติ แล้วถ้าหากทำได้ครบทุกข้อ ก็จะลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งได้มาก แต่ถึงแม้ทำได้บางข้อ ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย
อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งคือ ถ้าตรวจพบเร็วในระยะเริ่มแรก ผลการรักษาจะดีกว่าช่วงตรวจพบว่าโรคเป็นมากหรือระยะลุกลามไปยังอวัยวะอื่นแล้ว ส่วนใหญ่นั้นมะเร็งแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1-2คือช่วงที่โรคอยู่ในระยะเริ่มต้น ส่วนระยะที่ 3 คือโรคลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง ซึ่งไกลออกไปจากจุดเริ่มต้นของมะเร็งมาก และระยะที่ 4 คือโรคแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นแล้ว ซึ่งผลการรักษาในระยะท้ายๆ จะไม่ดีนัก
ดังนั้น ถ้าเราสังเกตสัญญาณเตือนของโรคและรีบไปรับการตรวจวินิจฉัยแต่เนิ่นๆ จะทำให้รักษาได้เร็ว ผลการรักษาดี ตัวอย่างของมะเร็งกลุ่มนี้คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ป่วยที่หายจากโรคมะเร็ง 2 ชนิดนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
คราวนี้เรามาทำความรู้จักกับ 7 สัญญาณเตือนของโรคมะเร็งเพื่อสังเกตตนเอง และคนในครอบครัว ถ้ามีความผิดปกติดังนี้ ต้องไปปรึกษาแพทย์โดยด่วน
1.มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่าย เช่น ท้องเสีย ท้องผูก หรือปัสสาวะบ่อยผิดปกติ
2.มีแผลเรื้อรังที่ไม่ยอมหาย โดยเฉพาะแผลที่มีเลือดออกหรือติดเชื้อเรื้อรัง
3.มีเลือดออกหรือสารคัดหลั่งผิดปกติจากร่างกาย เช่น เลือดในปัสสาวะ อุจจาระ หรือเสมหะ
4.มีก้อนแข็งหรือเนื้อที่เจริญเติบโตผิดปกติในร่างกายเช่น ที่เต้านมหรือส่วนอื่นๆ
5.มีอาการอาหารไม่ย่อยหรือกลืนอาหารลำบาก ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งกระเพาะอาหารหรือหลอดอาหาร
6.มีการเปลี่ยนแปลงของไฝ หรือติ่งเนื้อ เช่น สี ขนาดหรือรูปร่างที่เปลี่ยนไป
7.มีไอเรื้อรัง หรือเสียงแหบที่ไม่ยอมหาย อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง
อย่างไรก็ดี สัญญาณเตือนเหล่านี้นับเป็นอาการทั่วๆ ไปที่ไม่จำเพาะเจาะจง เช่น ปวดท้อง อาหารไม่ย่อย ไอเรื้อรัง ทำให้ผู้ป่วยมักชะล่าใจไม่ไปพบแพทย์ แต่มักไปซื้อยาใช้เอง เมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไปนานๆ มะเร็งที่เป็นก็รุนแรงมาก
ดังนั้นหากอาการใดที่กล่าวในข้างต้นเกิดขึ้นแล้วยืดเยื้อเกิน 1-2 เดือน กินยาเรื่อยไปก็ไม่หายสักที แถมบางคนมีความเสี่ยงการเกิดมะเร็งอยู่ด้วย อย่างนี้นับว่าเสี่ยงค่อนข้างมากและบางคนยังมีพฤติกรรมใช้ชีวิตให้สุดๆ คือเสี่ยงสุดๆ แถมมีญาติสายตรงป่วยโรคมะเร็งด้วย และอายุก็มากขึ้น แบบนี้ต้องไปพบแพทย์โดยด่วนเพื่อจะได้ป้องกันและรักษาโรคมะเร็งได้ก่อนที่จะลุกลามบานปลาย
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี