โรคเบาหวาน เป็นภาวะความผิดปกติของร่างกาย เกิดจากการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดน้อยเกินไป หรือร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน จึงทำให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยโรคเบาหวานแบ่งเป็น 4 ประเภทคือ โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ มักพบในผู้ป่วยอายุน้อย โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ร่างกายสามารถผลิตอินซูลินได้แต่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน พบในผู้ที่มีอายุมากขึ้น โดยทั่วไปพบในผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี ยิ่งอายุมากขึ้นมักมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นผู้ป่วยโรคเบาหวานส่วนใหญ่มักเป็นโรคเบาหวานชนิดนี้ 3.โรคเบาหวานชนิดอื่นที่มีสาเหตุจำเพาะ เช่น เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ความผิดปกติของตับอ่อน ความผิดปกติของฮอร์โมน หรือการได้รับยาบางชนิด และ 4.โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนขณะตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้
จากบทความ โรคเบาหวานในผู้สูงอายุ ของ นพ.จิรทีปต์ ขวัญแก้ว อายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม โรงพยาบาลสมิติเวช เผยว่า ในผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากขึ้นเนื่องจาก เมื่ออายุมากขึ้น องค์ประกอบของร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง มีสัดส่วนของไขมันต่อกล้ามเนื้อมากขึ้น มีกิจกรรมการเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ ลดลง มีการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินและการตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินลดลง จนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น
สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานทำได้โดยการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด หากมีระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีอาการของภาวะน้ำตาลสูงและมีระดับน้ำตาลในเลือดแบบสุ่มมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีการทดสอบโดยการให้กินน้ำตาล 75 กรัมและวัดน้ำตาลในเลือดที่สองชั่วโมงหลังจากนั้น หากได้ค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% โดยในการวินิจฉัย ต้องมีผลการทดสอบที่ผิดปกติอย่างน้อยสองครั้ง หรือมีการตรวจยืนยันซ้ำ
ในผู้สูงอายุ เนื่องจากมีอัตราส่วนการเป็นเบาหวานมากขึ้น จึงมีคำแนะนำให้ตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานโดยหากผลปกติ แนะนำให้ตรวจคัดกรองซ้ำในอีก 3 ปี แต่หากผลเป็นภาวะก่อนเบาหวาน (Pre-diabetes) เช่น มีระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร 100 ถึง 125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือการทดสอบโดยการให้กินน้ำตาล 75 กรัมและวัดน้ำตาลในเลือดที่สองชั่วโมงหลังจากนั้นวัดค่าได้ 140 ถึง 199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือค่าน้ำตาลสะสม (HbA1C) 5.7 ถึง 6.4% แนะนำให้ทำการตรวจคัดกรองซ้ำในปีถัดไป
อย่างไรก็ตามในผู้สูงอายุมีสิ่งที่ต้องระมัดระวังมากกว่าวัยอื่นเนื่องจากหากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ตรงตามเป้าหมาย จะมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ผู้สูงอายุก็มีความเสี่ยงต่อภาวะน้ำตาลต่ำจากการรักษาเบาหวานเช่นเดียวกัน เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดของผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานนั้นแบ่งตามสุขภาพของผู้สูงอายุ ดังนี้
●ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพแข็งแรงควรควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้ < 7.5% และควบคุมระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหารให้อยู่ที่ 90-130 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
● ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว 3 โรคขึ้นไป หรือมีระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลง หรือต้องพึ่งพาผู้อื่นในการใช้ชีวิตประจำวัน ควรควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ให้ < 8.0% และควบคุมระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหารให้อยู่ที่ 90-150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
● ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวมากเป็นโรคเรื้อรังในระยะท้าย ระดับความรู้สึกตัวเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะมีอายุขัยอีกไม่นาน การควบคุมน้ำตาลอย่างเคร่งครัดเกินไปจะไม่ได้มีประโยชน์มากนักในผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงแนะนำการควบคุมระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) ที่ < 8.5% และควบคุมระดับน้ำตาลเมื่ออดอาหารให้อยู่ที่ 100 -180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
ส่วนการดูแลผู้สูงอายุเมื่อเป็นเบาหวาน ควรรับประทานยาหรือใช้ยาตามแพทย์สั่ง หากผู้ป่วยไม่สามารถจัดยาหรือรับประทานยาเองได้ ควรมีผู้ดูแล จัดยาให้ผู้ป่วยรับประทาน หากผู้ป่วยใช้ยาฉีดอินซูลิน ควรดูแลให้ผู้ป่วยได้รับยาตามปริมาณที่แพทย์สั่ง ไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรติดตามผลตรวจทางห้องปฏิบัติการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้ปรับยาได้เหมาะสมกับผู้ป่วย
ระวังภาวะน้ำตาลต่ำในผู้สูงอายุ หากผู้สูงอายุมีภาวะเจ็บป่วยอาจทำให้ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อลดหรืองดยาเบาหวานเพื่อป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำ ซึ่งอาจทำให้มีอาการซึม อ่อนแรง หมดสติ ถึงขั้นโคม่าได้
อาหาร ควรดูแลเรื่องอาหารของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นเบาหวาน โดยเน้นอาหารที่มีประโยชน์ ครบ 5 หมู่ ลดการบริโภคแป้งและไขมัน ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน เน้นอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ แต่ควรหลีกเลี่ยงผลไม้ที่มีรสหวานเนื่องจากอาจมีปริมาณน้ำตาลสูง ปรุงอาหารเอง เพื่อให้ทราบส่วนประกอบของอาหาร หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์
การออกกำลังกาย ให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอในผู้ที่ไม่มีข้อห้ามในการออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายของผู้สูงอายุ เลือกเสื้อผ้าและอุปกรณ์ในการออกกำลังกายให้เหมาะสมเพื่อป้องกันการเกิดบาดแผลและการพลัดตกหกล้ม
การดูแลสุขอนามัย ป้องกันการเกิดแผล โดยเฉพาะแผลที่เท้า หากมีแผลควรดูแลให้แห้งและสะอาด หรือควรพาไปพบแพทย์หากแผลเสี่ยงต่อการติดเชื้อ หากผู้สูงอายุมองไม่เห็นหรือไม่สามารถตัดเล็บเท้าเองได้ ควรมีผู้ดูแลช่วยตรวจสอบการเกิดแผลบริเวณเท้าและหมั่นตัดเล็บเท้าให้สั้นพอประมาณอย่างสม่ำเสมอ
แม้การเกิดเบาหวานมีหลายปัจจัยร่วมกัน แต่การดูแลและควบคุมพฤติกรรมสุขภาพให้เหมาะสมก็สามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้ โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินให้เหมาะสม ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน แป้ง น้ำตาล รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มีกากใยสูง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ หากมีโรคประจำตัวควรควบคุมโรคประจำตัวให้ดี พบแพทย์และตรวจคัดกรองเบาหวานอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้เริ่มควบคุมระดับน้ำตาลตั้งแต่ระยะก่อนเบาหวาน ก็จะสามารถช่วยป้องกันโรคเบาหวานได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี