เตือนประชาชนระวังอุบัติเหตุและจมน้ำเสียชีวิตในช่วงวันลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง คือ ไม่ดื่มสุรา ไม่ลงน้ำหรือไปเก็บกระทงหรือเก็บเงินในกระทง ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพัง เมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ระมัดระวังการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ เพราะอาจเกิดอันตรายได้ และเน้นย้ำป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เนื่องในวันลอยกระทง
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวถึงเทศกาลลอยกระทงว่า สคร.9 นครราชสีมา มีความห่วงใย ขอให้ประชาชนระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในเทศกาลลอยกระทง ขอให้ยึดหลัก โดยขอให้ยึดหลัก 3 ไม่ คือ ไม่เมา ไม่เก็บ ไม่ปล่อยเด็กตามลำพัง ดังนี้ 1.ไม่เมา คือ ไม่ดื่มสุรา หรือหากดื่มควรหลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้แหล่งน้ำ หรือลงไปในแหล่งน้ำ เพราะอาจเมาสุราและตกน้ำเสียชีวิตได้ 2.ไม่เก็บคือ อย่าลงน้ำไปเก็บกระทง หรือเก็บเงินในกระทง เพราะอาจเสี่ยงจมน้ำและเสียชีวิต 3.ไม่ปล่อยเด็กไว้ตามลำพังเพิ่มความระมัดระวังเมื่อนำเด็กเข้าใกล้แหล่งน้ำ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่เอื้อมถึง ส่วนเด็กอายุ 3-5 ปี ต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นและเข้าถึงตัวได้โดยเร็วหากเด็กพลัดตกน้ำ อีกทั้งไม่ปล่อยให้เด็กไปลอยกระทงกันเองตามลำพังแม้จะอยู่บนฝั่ง เนื่องจากวันลอยกระทงจะมีผู้คนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก อาจเกิดการเบียดเสียด จนทำให้พลัดตกหรือลื่นได้
อีกสิ่งหนึ่งที่อยากฝากเตือนประชาชน นั่นคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวันลอยกระทง เนื่องจากวัยรุ่นมักมีการแสดงออกถึงความเป็นคู่รักจึงขอแนะนำให้ป้องกันตนเองโดยใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือมีคู่นอนหลายคน เพราะอาจติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็น โรคซิฟิลิส หนองใน เอชไอวี แม้กระทั่งโรคฝีดาษวานร หรือ MPOX ขอให้สังเกตผู้ที่มีผื่น แผล ตุ่ม หนอง หากมีความเสี่ยงขอแนะนำให้พบแพทย์ทันที
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า หน่วยงานที่จัดเตรียมพื้นที่ลอยกระทง ควรมีมาตรการ ดังนี้ 1.กำหนดพื้นที่สำหรับลอยกระทงให้ชัดเจน มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ และต้องทำรั้วหรือสิ่งกั้นขวางเพื่อป้องกันคนตกน้ำ 2.เตรียมอุปกรณ์สำหรับช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเป็นระยะๆ เช่น ห่วงชูชีพ ถังแกลลอน เชือก ไม้ และเขียนป้ายบอกวิธีการใช้ 3.เตรียมเสื้อชูชีพให้เพียงพอ 4.จัดให้มีเจ้าหน้าที่คอยดูแลสอดส่องและช่วยเหลือเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ส่วนคำแนะนำในการป้องกันการบาดเจ็บจากพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ โคมลอย มีดังนี้ 1.ห้ามให้เด็กจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟด้วยตนเอง ไม่ควรนำพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟที่จุดไม่ติดแล้วนำมาจุดซ้ำเด็ดขาด ให้ออกห่างจากบริเวณที่จุดประทัดหรือพลุ แหล่งชุมชน สถานีบริการน้ำมันและวัตถุไวไฟ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้ ไม่ดัดแปลงพลุหรือดอกไม้ไฟให้มีเสียงดังหรือแรงอัดสูง อาจทำให้ตาบอด หูตึง นิ้วขาด พิการ หรือเสียชีวิตได้ และการเล่นดอกไม้ไฟ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายหรือทำให้เกิดเพลิงไหม้จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย โคมลอย ต้องปล่อยในที่โล่งแจ้ง ห่างจากชุมชนและแนวสายไฟ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดเพลิงไหม้ หากมีข้อสงสัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี