แต่งตัวถ่ายภาพ
เมื่อเร็วนี้ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้เป็นประธานเปิดงาน “๔ วัด ๑ วัง เมื่อครั้งต้นกรุงเก่า” ซึ่งจัดขึ้นวั ที่ ๙-๑๗ พฤศจิกายน ณ วัดไชยวัฒนาราม วัดราชบูรณะ วัดมหาธาตุ วัดพระรามและพระราชวังจันทรเกษม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวโบราณสถานในยามราตรี ที่กรมศิลปากรนั้นได้ดำเนินงานมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๖๖ จนเป็นที่นิยมจนนำมาสู่การต่อยอดกิจกรรมในปีนี้ ภายใต้ชื่อว่า “ย้อนเวลา ส่องวิถี ปลุกแสงสี พระนครศรีอยุธยา”ซึ่งเป็นการชวนสัมผัสบรรยากาศที่เป็นวิถีไทย ยุคกรุงศรีอยุธยาช่วงต้น ที่มีความรุ่งเรืองในด้านศิลปะ วัฒนธรรม และการค้าขาย วิถีชีวิตของผู้คนในยุคนั้นมีความสุข แม้จะผ่านเวลาล่วงนานมานับ ๔๐๐ ปีซึ่งมีการนำเสนอ กิจกรรมผ่านการแสดง การละเล่นพร้อมทั้งการประดับไฟ Lighting Art Installationและ Projection Mapping โบราณสถานให้ประชาชนได้เที่ยวชมความงดงามยามค่ำคืน ซึ่งพบว่าหลายคนให้ความสนใจสวมใส่ชุดไทยมาท่องเที่ยวจำนวนมากพร้อมกับถ่ายภาพเป็นที่ระลึก อีกทั้งยังมีการออกบูธอาหารจากทุกภูมิภาคให้ชิมลิ้มรสกัน ทั้งนี้การเปิดการท่องเที่ยวโบราณสถานยามราตรีนั้นนับเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้นักท่องเที่ยวได้มีการหยุดพักรับประทานอาหาร ทำกิจกรรมจากเดิมที่มาเที่ยวแล้วกลับ
พิธิเปิดงาน
ด้วยอยุธยานั้นเป็นจังหวัดใกล้กรุงเทพฯนายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากรได้นำนโยบายวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจมาปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยจัดโบราณสถานวัดมหาธาตุวัดราชบูรณะ วัดพระราม วัดไชยวัฒนาราม และพระราชวังจันทรเกษม จากวัดวาอาราม ปราสาทราชวังและปูชนียสถาน ปูชนียวัตถุของกรุงศรีอยุธยาล้วนแต่ผ่านสมัยของ พระมหากษัตริย์ ๓๓ พระองค์ และมีราชวงศ์ผลัดเปลี่ยนกันครองอาณาจักร ๕ ราชวงศ์ คือราชวงศ์อู่ทอง ราชวงศ์สุพรรณภูมิ ราชวงศ์สุโขทัยราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวงหลังสุด พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงยกเมืองกรุงเก่าขึ้นเป็นหัวเมืองจัตวาเช่นเดียวกับกรุงธนบุรี หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคโดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้นโปรดเกล้าฯให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้นโดยให้รวมเมืองที่ใกล้เคียงกัน ๓-๔ เมืองขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. ๒๔๓๘ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่างๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรีและสิงห์บุรี ต่อมาโปรดเกล้าฯให้รวมเมืองอินทร์ และเมืองพรหมเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้เปลี่ยนชื่อจากมณฑลกรุงเก่า เป็นมณฑลอยุธยา ทำให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหาร การปกครองมากขึ้น จึงมีการสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลลง การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นได้ทำให้อยุธยาเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน
รมว.วธ ประธานพิธี
สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีได้มีนโยบายบูรณะโบราณสถานภายในเมืองอยุธยาเพื่อฉลองยี่สิบห้าพุทธศตวรรษ ประจวบกับในปี พ.ศ. ๒๔๙๘ นายกรัฐมนตรีประเทศพม่าเดินทางมาเยือนไทยและมอบเงินจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาทเพื่อปฏิสังขรณ์วัดและองค์พระมงคลบพิตร ซึ่งเป็นการเริ่มต้นการบูรณะโบราณสถานในอยุธยากรุงเก่าอย่างจริงจัง ต่อมากรมศิลปากรได้เป็นหน่วยงานสำคัญในการดำเนินการดังกล่าวตลอดมาจนองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก มีมติให้ขึ้นทะเบียนนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาเป็น “มรดกโลก” เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม พศ. ๒๕๓๔ มีพื้นที่ครอบคลุมในบริเวณโบราณสถานเมืองอยุธยา ด้วยเหตุที่กรุงศรีอยุธยา เป็นราชธานีของอาณาจักรมาตั้งแต่วันที่๓ เมษายน พ.ศ. ๑๘๙๓ จนถึงวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐เป็นเวลายาวนานถึง ๔๑๗ ปี ทำให้มีประวัติศาสตร์ยาวนานและโบราณสถานสำคัญจำนวนมากโดยเฉพาะเครื่องทองอยุธยาและพระพุทธรูป ที่เป็นศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์โบราณคดี ศิลปกรรมของยุคสมัย วัฒนธรรมประเพณีมากมายตลอดจนการต่อสู้กู้แผ่นดินของวีรกษัตย์และวีรชนผู้กล้าหาญ นับเป็นเมืองนักรบและถิ่นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารดังคำกล่าวว่า “อยุธยาไม่สิ้นคนดี” และเป็นถิ่น “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ของเจ้าพระยาภาคกลาง งานนี้ถือว่าสร้างความสนใจใหม่ให้คนเที่ยวชมและเรียนรู้ ประวัติศาสตร์จากโบราณสถานไปด้วย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี