เห็นหน้าตาของว่าที่คณะรัฐมนตรี หรือ ครม. ทรัมป์ชุดใหม่ ที่หลายคนเรียกว่า ครม.ทรัมป์ 2.0 กันแล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้าง? หลายคนที่ติดตามข่าวสารต่างประเทศอาจจะรู้สึกแปลกๆ กับบางรายชื่อที่ออกมา แต่สำหรับแวดวงการเมืองอเมริกันและบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเทศแล้ว บอกได้เลยว่า ครม. ทรัมป์ 2.0ชุดนี้ เรียกได้ว่า เป็น ครม.ชุด“เรียกแขก” ชัดๆ
ลองไล่เลียงกันทีละคน
เริ่มจาก ซูซี่ ไวลส์ ผู้จัดการทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของทรัมป์เอง ที่เขาแต่งตั้งให้เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาวซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ดำรงตำแหน่งนี้ของสหรัฐฯ การประกาศแต่งตั้งทีมงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกของทรัมป์ ก่อนหน้าที่จะเข้ารับตำแหน่งผู้นำสหรัฐอเมริกาอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคมปีหน้า
ตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่ประจำทำเนียบขาว เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่ง เนื่องจากจะเป็นผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการและกำกับดูแลเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ในทำเนียบขาว ทำหน้าที่ดูแลตารางเวลาและกำหนดการต่างๆ ของประธานาธิบดี ตลอดจนการทำหน้าที่ติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ และสมาชิกสภาทั้งหมด
ส่วนเจ้ากระทรวงหลัก 6 กระทรวง ทรัมป์เลือก มาร์โก รูบิโอเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ, พีท เฮกเซธเป็นรัฐมนตรีกลาโหม, คริสตี โนม รัฐมนตรีความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ, แมท เกตซ์ รัฐมนตรียุติธรรม,ดั๊ก เบอร์กุม เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และ โรเบิร์ต เอฟ. เคนเนดี จูเนียร์ หรืออาร์เอฟเค จูเนียร์ เป็นเจ้ากระทรวงสาธารณสุข ส่วนที่ยังรอทรัมป์ตั้งเจ้ากระทรวง คือรัฐมนตรีคลัง, พาณิชย์, เกษตร, แรงงาน, เคหะและการพัฒนาเมือง, คมนาคม, พลังงาน, ศึกษา และกระทรวงกิจการทหารผ่านศึก โดยสหรัฐฯ มีกระทรวงทั้งหมด 15 กระทรวง
ทรัมป์ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ ที่ยังไม่ได้ยืนยันว่า เป็นกระทรวงใหม่หรือไม่ แต่เรียกกันทั่วไปว่า “กระทรวงเพิ่มประสิทธิภาพรัฐบาล” มี อีลอน มัสก์ อภิมหาเศรษฐีเบอร์ 1
ของโลก เป็นผู้นำ ร่วมกับ วิเวก รามาสวามี นักลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพเชื้อสายอินเดีย ที่เคยลงชิงชัยเป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันแข่งกับทรัมป์ แต่ภายหลังถอนตัวไป
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังได้เลือกผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งสำคัญอื่นๆในรัฐบาลใหม่ คือ ทอม โฮแมน เป็นผู้อำนวยการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและศุลกากร หรือไอซีอี, เอลิสสเตฟานิค เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ, จอห์น แรตคลิฟผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลาง หรือซีไอเอ, ทัลซี แกบเบิร์ด ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติ, ไมค์ วอลท์ซ เป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ, สตีฟ วิทคอฟ เป็นทูตพิเศษด้านตะวันออกกลาง และ ไมค์ ฮัคคาบี รั้งตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำอิสราเอล
หลายรายชื่อที่ทรัมป์เสนอแต่งตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญ บางส่วนเห็นว่าเหมาะสมดีและไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากนักแต่กับบางรายชื่อ ทันทีที่มีการประกาศออกมา ก็ทำเอาหลายต่อหลายคนทั้งนักวิเคราะห์วิจารณ์ ผู้สันทัดกรณีทางการเมือง และแม้แต่สมาชิกระดับสูงในพรรครีพับลิกันของทรัมป์เองที่ตอนนี้ได้คุมทั้งสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาอย่างเด็ดขาดแน่นอนแล้ว ถึงกับทำหน้าตาเหลอหลาบ้างก็ถอนหายใจดังเฮือก (ไม่ได้มโนเองสื่ออเมริกันหลายสำนักบอกมาอย่างนี้จริงๆ)
เริ่มจาก Department of Government Efficiency หรือ DOGE หน่วยงานใหม่ (ไม่ใช่กระทรวง) ที่ทรัมป์เสนอให้ ทรัมป์ นั่งคุมร่วมกับ วิเวก รามาสวามี เพื่อให้คำปรึกษาแก่ทำเนียบขาว ในการลดขนาดระบบราชการและปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาล ด้วยเป้าหมายลดขนาดรัฐ ขจัดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น ตัดค่าใช้จ่ายสิ้นเปลือง และปรับโครงสร้างหน่วยงานรัฐบาลให้มีประสิทธิภาพ
ทรัมป์ ระบุว่าโครงการ DOGEไม่ใช่หน่วยงานของรัฐอย่างเป็นทางการ ที่จะต้องผ่านกฎหมายของสภาคองเกรส แต่ DOGE จะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ปรึกษาภายนอกให้ทำเนียบขาวสามารถใช้แนวทางของโครงการนี้เพื่อตรวจสอบและลดการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ที่คาดว่ามีมูลค่าประมาณ 6.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ของรัฐบาลกลาง
ทรัมป์มีเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับโครงสร้างระบบราชการเพื่อให้รัฐบาลมีขนาดเล็กและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการลดการใช้งบประมาณและกำจัดการทำงานที่ซ้ำซ้อน
การแต่งตั้งมัสก์และรามาสวามีในฐานะหัวหน้า DOGE อาจเป็นกลยุทธ์ของทรัมป์ที่มุ่งสร้างภาพลักษณ์เน้นการลดขนาดรัฐบาลและปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ทำให้มัสก์จะมีอิทธิพลเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลและลดการใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งอาจช่วยให้ Teslaและ SpaceX ของเขา ได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากรัฐบาลนักวิเคราะห์เห็นว่าการแต่งตั้งนี้เอื้อประโยชน์ให้มัสก์ ในการเข้าถึงทรัพยากรทางการเงินและข้อมูลเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของบริษัทของเขา ทั้งที่เสี่ยงต่อการเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน
หลายฝ่ายมองด้วยว่า การตั้งหน่วยงานใหม่ถอดด้ามนี้ขึ้น เป็นการปูนบำเหน็จตอบแทนมัสก์ผู้สนับสนุนงบประมาณรายใหญ่ของทรัมป์ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง อีกทั้งการดำเนินการนี้อาจเผชิญการต่อต้านจากข้าราชการและสภาคองเกรส เนื่องจากการปฏิรูปเชิงโครงสร้างและการยุบหน่วยงานในวงกว้าง จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลอย่างแน่นอน
ส่วนอีกหลายชื่อที่สร้างความฮือฮา คือชื่อของ แมท เกตซ์ รัฐมนตรียุติธรรม สส.ฟลอริดาปากกล้า องครักษ์ตัวเอ้ของทรัมป์ในสภา ที่ได้คุมกระทรวงยุติธรรม หลายฝ่ายเชื่อว่า เกตซ์จะมีภารกิจสำคัญในงานด้านกฎหมาย ทั้งเรื่องการผลักดันผู้อพยพผิดกฎหมายออกนอกประเทศตามนโยบายของนายทรัมป์ล้างผิดให้กับผู้ก่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาหลังการเลือกตั้งปี 2020 และเอาคืนคนกลุ่มต่างๆ ที่เคยเล่นงานทางกฎหมายเพื่อเอาผิดทรัมป์ในหลายคดีตลอดช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา
ปิดท้ายที่ อาร์เอฟเค จูเนียร์ ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นกระทรวงที่มีงบประมาณสูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 105 ล้านล้านบาท)คิดเป็นร้อยละ 22.8 ของงบประมาณปี 2567 ทั้งหมด อีกทั้งยังกำกับดูแลหน่วยงานสำคัญ เช่น สำนักงานอาหารและยา หรือ เอฟดีเอ (FDA) ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อหรือซีดีซี (CDC) ก็สร้างความฮือฮาไม่แพ้กัน
การเสนอชื่อดังกล่าวทำให้ผู้คนในแวดวงสาธารณสุข และแม้แต่สมาชิกพรรครีพับลิกันแสดงการต่อต้านและตกตะลึง เพราะอาร์เอฟเค จูเนียร์มีจุดยืนที่ผิดหลักการทางการแพทย์มากมาย และมีความเชื่อแปลกๆ เช่นเชื่อว่าสารฟลูออไรด์ที่อยู่ในน้ำประปาทำให้กระดูกเปราะและก่อมะเร็ง ทั้งที่สมาคมการแพทย์ชี้ว่า ฟลูออไรด์ในน้ำประปาช่วยลดปัญหาฟันผุได้ดีมากนอกจากนี้เขายังเป็นผู้ต่อต้านวัคซีน โดยอ้างผิดๆ ว่าเป็นสาเหตุทำให้เด็กป่วยออทิสติก เขาได้เผยแพร่ข้อมูลผิดๆ เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ทำให้มีคนเชื่อและไม่ยอมฉีดวัคซีนมากมาย
แวดวงการแพทย์หลายแห่งระบุว่า อาร์เอฟเค จูเนียร์ เป็นอันตรายต่อระบบสาธารณสุข และสามารถก่ออันตรายถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตได้ ดังที่เขาได้แพร่ข่าวปลอมเรื่องวัคซีนโรคหัดในประเทศซามัว จนทำให้ผู้คนไม่ยอมไปรับวัคซีน ต่อมาเกิดการระบาดจนมีผู้ติดเชื้อกว่า 50,000 คนและเสียชีวิตไปเกือบร้อยศพ
เป็นไงครับ ครม. ทรัมป์ 2.0 แบบนี้เรียก “ยี้” ได้ไหม?
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี