กระทรวงสาธารณสุข โดย กรมอนามัย ร่วมกับ ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย องค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ร่วมแถลงข่าวความร่วมมือการจัดประชุมสุขภาพช่องปากโลก วันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2567 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร
นายเดชอิศม์ ขาวทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะสุขภาพช่องปาก ที่มีความสัมพันธ์ต่อความเป็นอยู่ และคุณภาพชีวิตอย่างชัดเจน ประเทศไทยถือเป็นผู้นำด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเป็นประเทศต้นแบบด้านสุขภาพช่องปาก โดยเฉพาะนโยบายการบูรณาการการดูแลสุขภาพช่องปากกับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และบริการสุขภาพในระดับปฐมภูมิ เพื่อให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพช่องปากที่จำเป็น และสนับสนุนสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพช่องปากที่ดี ส่งผลให้นานาชาติมีความเชื่อมั่น และให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมสุขภาพช่องปากโลก ครั้งแรก ในวันที่ 26-29 พฤศจิกายนนี้
“รัฐบาลไทย โดย กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้ง ภาคีเครือข่ายทั้ง 6 องค์กร จึงมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนด้านสุขภาพช่องปากและด้านหลักประกันสุขภาพจาก 194 ประเทศทั่วโลก รวมถึงผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อให้การประชุมครั้งนี้เกิดผลสำเร็จสูงสุด ในการสร้างความร่วมมือในการพัฒนาสุขภาพช่องปากอย่างยั่งยืน ทั่วถึง และเท่าเทียม และเป็นเวทีให้ผู้รับผิดชอบงานด้านสุขภาพช่องปากและหลักประกันสุขภาพ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปากแต่ละประเทศ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และร่วมเสนอนโยบาย เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพช่องปากให้ทั่วถึงและเท่าเทียม บรรลุเป้าหมายตามแผนปฏิบัติการด้านสุขภาพช่องปากโลก พ.ศ. 2566-2573” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคในช่องปากเป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่พบได้มากที่สุด โดยส่งผลต่อประชากรเกือบ 3.5 พันล้านคนทั่วโลกหรือร้อยละ 45 ของประชากรโลก ซึ่งสูงกว่าโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่น ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจน กลุ่มเปราะบาง และผู้ด้อยโอกาส แสดงให้เห็นว่าประชาชนในหลายประเทศยังไม่สามารถเข้าถึงการดูแลสุขภาพช่องปากที่จำเป็นได้ สำหรับในประเทศไทย ข้อมูลจากการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 พบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของประชาชนประสบปัญหาโรคฟันผุและโรคปริทันต์ และประชาชนไทยมีฟันถาวรใช้งานเฉลี่ยเพียง 19.6 ซี่ต่อคน ในขณะที่ข้อมูลจากฐานข้อมูลสุขภาพชี้ให้เห็นว่ามีการเข้าถึงบริการทางทันตกรรมเพียง 15 ล้านคนเท่านั้น แม้ว่าโรคในช่องปากจะพบได้มาก แต่โรคในช่องปากส่วนใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันและรักษาได้ จึงเป็นความท้าทายด้านสาธารณสุขอย่างเร่งด่วนทั้งในระดับโลกรวมถึงประเทศไทยด้วย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี