ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม
กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมกับ ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค)สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย เปิดแถลงการณ์ “12 ปีการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย เพื่อวิถีชีวิตสุขภาวะของคนไทย”
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) เปิดเผยว่า กลุ่มคนที่มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ที่น่าเป็นห่วงสุดคือเด็กและเยาวชน, ผู้สูงอายุ ดังนั้นการผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติจึงมีความสำคัญ และจำเป็นต้องลดช่องว่าง 2 มิติ คือ 1.มาตรการที่นำมาใช้ยังมีความเหลื่อมล้ำ 2.สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายได้น้อย ผู้ว่างงานผู้ด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงพื้นที่สุขภาวะได้
ประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ, นิรมล ราศรี, รองศาตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
“ประเทศไทย มีประชากรในวัยทำงานประมาณ 30 กว่าล้านคน ที่ต้องใช้ชีวิต 8 ชั่วโมง อยู่ในสถานประกอบการ กลุ่มนี้มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการผลักดันให้มากขึ้น ส่วนเด็กและเยาวชน เวลาส่วนใหญ่ถูกดึงไปอยู่กับหน้าจอ และติดเก้าอี้จากการนั่งเรียนอยู่กับที่ ทำให้การเคลื่อนไหวร่างกายลดลง โดยตลอดระยะเวลาของการทำงาน 12 ปี ร่วมกับภาคีพบระดับการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทย ต่ำกว่า 70% แต่หลังจากผ่านพ้นสถานการณ์ แพร่ระบาดโควิด-19 ตัวเลขขยับขึ้นแต่ยังไม่ถึงเกณฑ์ สสส.ได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 กิจกรรมทางกายที่เพียงพอของคนไทยควรอยู่ที่ 85%”
นางสาวนิรมล ราศรี ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ (สสส.) กล่าวเสริมว่า สสส.ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเร่งขับเคลื่อนกลยุทธ์การส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมทางกายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีวิถีชีวิตที่กระฉับกระเฉง เริ่มต้นด้วยยุทธศาสตร์ 2 เพิ่ม 1 ลด คือ เพิ่มให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายและเพิ่มพื้นที่สุขภาวะมากขึ้น เพื่อลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง
นพ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์
“มีการออกแบบพื้นที่สุขภาวะให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เช่น Healthy City เมืองน่าอยู่ เมืองสุขภาพดี, ลานสร้างสุขภาวะชุมชน, สวน 15 นาที สวนขนาดเล็กใกล้บ้าน, Healthy Organization องค์กรสุขภาพดี, Healthy+Active Meeting การประชุมสุขภาพดี และต้นแบบ “โรงเรียนฉลาดเล่น” นางสาวนิรมล กล่าวต่อว่า ผลจากการทำงาน 12 ปี การส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ทำให้คนไทยรับรู้และความเข้าใจ กิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้นถึง 60% นั่นหมายถึงกลุ่มคนเหล่านั้นสามารถออกแบบกิจกรรม เพื่อความกระฉับกระเฉงที่หมาะสมกับตนเองได้
ด้าน นพ.วันฉัตร ชินสุวาเทย์ ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยถึงข้อมูลที่พบของคน 5 กลุ่มวัยว่า เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ มีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่มีกิจกรรมทางกายเพียงพอ ส่งผลให้เด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้าร้อยละ 22.5, กลุ่มเด็กและเยาวชนอายุ 5-17 ปี เป็นกลุ่มที่มีปัญหาที่สุดเพราะพ่อแม่ผลักดันให้เรียนเป็นหลักทำให้ค่าเฉลี่ย 12 ปี ของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอต่ำมากเพียงแค่ 23.1% ต่ำจากเป้าที่ตั้งไว้ 40%,วัยผู้ใหญ่18-59 ปี ภาพรวม อยู่ที่ 70% มีช่องว่างห่างจากกลุ่มเด็กมาก
“ในกลุ่มผู้ใหญ่พบความเหลื่อมล้ำ ในการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำกว่า 3,500 บาท/เดือน เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่ต้องทำมาหากิน ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ พบว่ามีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าวัยทำงานเล็กน้อยอยู่ที่ 64.8% ปัญหาของผู้สูงอายุถ้ากิจกรรมทางกายไม่เพียงพอจะทำให้กล้ามเนื้อบางลง มีผลกับการเดิน การหกล้ม อาการซึมเศร้าวิตกกังวลและภาวะสมองเสื่อม”
นายประยงค์ โพธิ์ศรีประเสริฐ จากสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวว่า เป้าหมายของพื้นที่สุขภาวะคือสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อส่งเสริมให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดี ช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์ของผู้คน และสร้างความมีชีวิตชีวาให้กับชุมชน สิ่งสำคัญจะต้องตอบโจทย์กลุ่มคนที่ใช้งาน
“รูปแบบของพื้นที่สุขภาวะที่เกิดขึ้นและได้ผลดีคือ ย่านตลาดน้อย ทำให้คนจนกับคนรวยได้คุยกัน ตอบโจทย์ทั้งสภาพแวดล้อมและเศรษฐกิจชุมชน ตอนนี้เรากำลังขับเคลื่อน We Park, Pocket Park ร่วมกับสสส. เพื่อให้ผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง สามารถออกมาเดินในพื้นที่ใกล้บ้านด้วยความสบายใจได้ จูงใจให้คนมาออกกำลังกาย เพราะพื้นที่สุขภาวะในชุมชนมีส่วนสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำ”
ทั้งนี้ รองศาตราจารย์ ดร.ปิยวัฒน์ เกตุวงศา ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาการองค์ความรู้ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (ทีแพค) สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ม.มหิดล เผยว่า ผู้หญิงเคลื่อนไหวน้อยกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้าน ซึ่งต้องดูแลครอบครัว ทำให้ขาดกิจกรรมทางกายที่เพียงพอกว่า 16 ล้านคน ในขณะที่เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอเพียง 20% เท่ากับ 4 ใน 5 คนมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง 14 ชั่วโมงต่อวัน เท่ากับการนั่งรถจากกรุงเทพฯไปยะลา ซึ่งถ้ายังนั่งแบบนี้ทุกวัน จะส่งผลเสียต่อพัฒนาการตามวัยและสุขภาพในระยะยาว
หลังจากสถานการณ์โควิด-19 พบความเหลื่อมล้ำของการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และตกงาน ซึ่งไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตแบบเดิมได้ รวมถึงกลุ่มอาชีพใหม่ที่ต้องเฝ้าระวังคือ กลุ่มคนที่ขายของออนไลน์และไรเดอร์ ในระยะยาวอาจทำให้แนวโน้มของผู้ป่วยในกลุ่ม “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” NCDs เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงต่อค่าใช้จ่ายในระบบบริการสุขภาพที่ตามด้วย”
“ทีแพคมีการวิเคราะห์เป้าหมายการเพิ่มกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ร่วมกับนานาชาติกลุ่มประชากร 5.7 ล้านคนทั่วโลก พบข้อท้าทายใหม่
ประเทศเรารวมอยู่ในกลุ่มสีแดง ที่องค์การอนามัยโลกบอกว่าในช่วง 10 ขวบ ถ้าไม่สามารถไปถึงเป้าหมายที่แต่ละประเทศวางไว้ จะมีประชากรโลกอีก 500 ล้านคน เป็นผู้ป่วย NCDs รายใหม่ ฉะนั้นต้องเชื่อมโยงนโยบายไปสู่ระดับปฏิบัติให้ได้ด้วยการผสานกำลังกันทุกภาคส่วนของภาคีเครือข่าย” ดร.ปิยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี