นางวราภัสร์ ไพพรรณรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส และความหลากหลายทางสังคม วุฒิสภาฯ พร้อมคณะ ได้ประชุมหารือกับผู้แทนของหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดเชียงรายที่เกี่ยวข้อง โดยมีนายประสงค์ หล้าอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายวินัย เก่งสุวรรณ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย และคณะให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมอูหลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย
คณะกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการดูแลและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และกลุ่มชาติพันธุ์ และได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน เช่น ประชาชนกลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึงสวัสดิการของรัฐ (เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บัตรคนพิการ) เนื่องจากอยู่ในพื้น ที่ห่างไกล ข้อจำกัดของระเบียบทำให้กลุ่มคนชาติพันธุ์ขาดโอกาสฝึกอบรมทักษะอาชีพ ไม่มีงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาสตรีและ คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุ การค้ามนุษย์ที่แอบแฝงในรูปแบบเด็กจากประเทศพม่า และลาวเข้ามาเรียนหนังสือและนักท่องเที่ยวซึ่งกระทบต่อการจัดสวัสดิการช่วยเหลือบุคคลดังกล่าว ผู้สูงอายุและคนเร่ร่อนถูกทอดทิ้งให้อยู่ในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งมากขึ้น การแพร่ระบาดของยาเสพติด และความเสี่ยงการเกิดดินถล่มซ้ำในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม
ต่อจากนั้นในช่วงบ่าย คณะกรรมาธิการได้ลงพื้นที่ติดตามสภาพปัญหาและการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยภายหลังน้ำท่วม ณ ชุมชนทวีรัตน์ อำเภอเมืองเชียงราย
ในโอกาสนี้ คณะกรรมาธิการร่วมกับสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทยเชียงใหม่ฯ และสมาคมสตรีรักษาดินแดนจังหวัดเชียงใหม่ได้มอบผ้าห่มและเครื่องนอนให้กับประชาชน เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม
จากนั้นคณะกรรมาธิการได้ประชุมหารือกับนายญาณวุฒิ สุดพิมศรี นายอำเภอแม่จัน นายอภิชาติ ศรีสุวรรณ์ นายอำเภอแม่ฟ้าหลวง หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ ประเด็นสถานการณ์ปัญหาสถานะบุคคล การคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมม่อนแสนใจ ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย โดยได้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน อาทิเช่น 1.ปัญหาด้านการเข้าถึงสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์
1.1 เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดเชียงรายมีกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมด 8 กลุ่มส่วนใหญ่อยู่ห่างไกลและเดินทางยากลำบาก จึงมีข้อจำกัดด้านการรับรู้ข่าวสาร ขาดการสื่อสาร และการให้บริการจากภาครัฐ ทำให้เกิดการตกหล่นตรวจสอบสถานะทางบุคคล
1.2 ปัญหาด้านการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย สิทธิต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์
1.3 ปัญหาการแอบแฝง อพยพของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยส่งผลกระทบถึงสถานะทางบุคคลของกลุ่มชาติพันธุ์
2. ปัญหาด้านหน่วยงานราชการ
2.1 ปัญหาด้านการขาดแคลนอัตรากำลังในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จากที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2545 มีอัตรากำลัง 200 กว่าคน ณ ปัจจุบันมีอัตรากำลังเพียง 54 คน ทำให้การเข้าถึงการให้บริการด้านต่างๆของกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใน 17 เขต ขาดประสิทธิภาพ
2.2 ปัญหาเรื่องสถานที่ตั้งของหน่วยงานราชการ
กรณีที่ว่าการอำเภอแม่ฟ้าหลวงซึ่งอยู่ห่างไกลชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้การติดต่อหน่วยงานมีความยากลำบากเนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องระยะทางในการเดินทางมาติดต่องานราชการจึงควรมีนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนเพื่อการเข้าถึงของประชาชน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการจะได้นำข้อมูลที่ได้รับทราบไปประกอบการพิจารณาศึกษาและดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมาธิการต่อไป
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี