ยังคงต้องติดตามกันต่อไปกับการเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งรัฐบาลปัจจุบันภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ยืนยันจะใช้กรอบ “MOU44” บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน ซึ่งจัดทำขึ้นในปี 2544 ผ่านกลไกคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะส่งคณะผู้แทนมาเจรจากัน แม้จะมีเสียงสะท้อนถึงรัฐบาลด้วยความกังวลว่า MOU44 อาจทำให้ไทยเสียดินแดนหรืออย่างน้อยที่สุดคือเสียผลประโยชน์ที่ไทยมีสิทธิ์ได้รับอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2567 กษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศให้ความเห็นเรื่องที่สังคมไทยมีข้อถกเถียงว่าสมควรยกเลิก MOU44 หรือไม่? ว่า การจะคงไว้ซึ่ง MOU44 เป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งหากถามตนในฐานะพลเรือนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ตนไม่ได้มีปัญหาอะไร
เพราะ MOU เป็นเพียงกรอบที่ได้มีการตกลงกันในสมัยรัฐบาลไทยยุคทักษิณ ชินวัตร กับรัฐบาลกัมพูชายุคฮุนเซน ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) เพื่อเจรจาว่าด้วยข้อพิพาททางทะเล และพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ทะเลเพื่อนำขึ้นมาใช้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่การเจรจาก็กระท่อนกระแท่นขาดตอนไปบ้าง และเวลานี้รัฐบาลชุดปัจจุบันก็อยากเริ่มต้นใหม่ เราก็ต้องตามดูการเจรจา ย้ำว่า MOU เป็นแค่กรอบเท่านั้น จะมีหรือไม่มีก็เจรจากันได้ สำหรับตนจึงไม่มีปัญหา
ส่วนที่มีข้อกังวลว่า MOU44 อาจทำให้ประเทศไทยเสียดินแดน เรื่องนี้กรุงสยามกับเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศส มีข้อตกลงกันเมื่อปี ค.ศ.1907 (พ.ศ.2450) ระบุไว้ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของสยาม และระหว่างนั้นก็มีการสำรวจดินแดน มีการจัดทำเสาหลักเขตแดนระหว่างสยามกับฝรั่งเศส ที่มีอยู่ประมาณ70 กว่าเสา ดังนั้น สนธิสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศสยังมีชีวิตอยู่จนกระทั่งบัดนี้ และตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ กัมพูชาเป็นผู้สืบสิทธิ์ต่างๆ ที่ฝรั่งเศสเคยมี ภายหลังจากที่ฝรั่งเศสออกไปจากอินโดจีนแล้ว
อีกทั้งเมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศสในปี ค.ศ.1954 (พ.ศ.2497) มาถึงปัจจุบันเป็นเวลา 70 ปี กัมพูชาก็ไม่ได้ฉีกสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสทิ้ง เพราะกัมพูชานั้นรับเต็มที่ 100% ในฐานะประเทศที่สืบทอดมาจากฝรั่งเศส ประกอบกับในความเป็นจริงก็มีคนไทยไปตั้งรกรากบนเกาะกูด และเกาะกูดก็เป็นอำเภอหนึ่งใน จ.ตราด ก็ไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร รวมถึงไม่เคยมีข่าวว่ารัฐบาลกัมพูชา ไม่ว่าลอนนอล เจ้าสีหนุ เขมรแดงฮุนเซน และปัจจุบันคือฮุน มาเนต บุตรชายของฮุนเซน ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด
ส่วนเรื่องที่กัมพูชาขีดเส้นผ่านกึ่งกลางเกาะกูดเพื่ออ้างสิทธิ์ 200 ไมล์ทะเล เรื่องนี้ทั้งกัมพูชาและไทยต่างก็ขีดเส้นแต่ในเมื่อตกลงกันไม่ได้ต้องเจรจากัน เขาจะขีดอะไรอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ต้องเจรจา ส่วนคำถามว่าการขีดเส้นของกัมพูชาสอดคล้องกับอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล (UNCLOS) หรือไม่ เรื่องนี้ตนไม่ใช่นักกฎหมายแต่มองว่ากัมพูชาเลอะเทอะ และเป็นหน้าที่ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเจรจาเพราะขีดเส้นไม่เหมือนกัน
“เริ่มกันคนละหลัก-คนละจุด เจตนารมณ์ทางการเมืองก็ต้องใช้กรอบการเจรจาเพื่ออำนวยให้มีการเจรจาอย่างจริงจังก็เท่านั้นเอง จะขีดอย่างไรก็ขีดได้ แต่มันไม่มีผลบังคับใช้เพราะมันต้องเจรจากัน เพราะมันมีการขีดไขว้กันไป-มา หรือทับซ้อน มันไม่มีผลในทางปฏิบัติเพราะมันต้องเจรจา ก็สบายใจได้ ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือของคณะผู้แทนไทยที่จะไปเจรจา” นายกษิต กล่าว
อดีต รมว. ต่างประเทศ กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อกำหนดใน MOU44 ที่ต้องการให้เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ทรัพยากรทางทะเลกับการเจรจาแบ่งเขตแดนประเทศต้องทำไปพร้อมกัน ตนมองว่าไม่ได้พร้อมกันขนาดนั้น แต่ต้องตกลงเรื่องข้อพิพาทว่าด้วยเขตแดนทางทะเลเสียก่อน เพื่อให้รู้ว่าพื้นที่ทะเลและดินที่อยู่ใต้ทะเล ส่วนไหนตกลงกันไม่ได้และจะต้องเป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน เพราะไม่สามารถที่จะนำก๊าซหรือน้ำมันที่อยู่ใต้ทะเลขึ้นมาได้โดยที่ไม่มีการตกลงกันเสียก่อนว่าด้วยการขีดเส้นหรือปักปันเขตแดนทางทะเล
ดังนั้นก็ต้องเจรจาเรื่องเขตแดนก่อน แต่ระหว่างนั้นก็สามารถพูดคุยกันนอกรอบได้ว่าจะนำตัวเลขทรัพยากร ซึ่งก็มีข้อมูลอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศบ้าง กระทรวงพลังงานบ้าง ในขณะเดียวกัน ทั้ง 2 ชาติก็ได้ให้สัมปทานกับบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลก ซึ่งก็คงได้สำรวจไปอีกต่างหาก ทุกคนก็มีข้อมูลอยู่ ก็สำรวจไป แต่ยังทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะมีการตกลงกันเรื่องเขตแดนก่อน
ซึ่งเหตุที่เกิดความสับสนขึ้น เพราะมีช่วงหนึ่งในแวดวงการเมืองของทั้งไทยและกัมพูชา อยากนำน้ำมันและก๊าซขึ้นมาก่อนโดยที่การเจรจาว่าด้วยการปักปันเขตแดนยังไม่แล้วเสร็จและอาจมีผลประโยชน์ที่ไม่ค่อยงามทั้งต่อชาวกัมพูชาและชาวไทย แต่เรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้จนกว่าจะมีการตกลงว่าด้วยข้อพิพาททางทะเล ทำแผนที่ให้เสร็จเรียบร้อยเสียก่อนแล้วค่อยมาคุยกัน
ส่วนที่มีการแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วน คือส่วนบนหรือที่อยู่เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ 10,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เจรจาเรื่องเขตแดน กับส่วนที่อยู่ใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ16,000 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่เจรจาผลประโยชน์ทางทะเลเท่ากับไทยจะเจรจาได้เพียงส่วน 10,000 ตารางกิโลเมตรหรือไม่? ตนมองว่าไม่ใช่ แต่เรื่องนี้ต้องไปว่ากันในรายละเอียด จึงขึ้นอยู่กับการเจรจา
ซึ่งการขีดเส้นไม่ว่าโดยไทยหรือกัมพูชา เป็นการแสดงเจตนารมณ์ แต่เมื่อขัดกันก็ต้องมาเจรจากัน ไม่ได้หมายความว่าขีดไปแล้วจะต้องเป็นเด็ดขาด เป็นเพียงการบอกว่าฝ่ายไทยเห็นแบบนี้ ฝ่ายกัมพูชาเห็นแบบนี้ ไม่มีอะไรแล้วเสร็จและต้องมาเจรจากัน ส่วนคำถามว่า สมัยที่เป็น รมว.ต่างประเทศ เคยทักท้วงการลากเส้นของกัมพูชาหรือไม่ ตอนนั้นไม่ได้เข้าไปในรายละเอียด เพราะต้องปล่อยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เจรจาไป และการที่มี MOU ก็เท่ากับเป็นการทักท้วงโดยปริยายว่าเราไม่ยอมรับเส้นที่กัมพูชาขีด ในทางกลับกัน กัมพูชาก็ไม่ยอมรับเส้นที่ไทยขีดเช่นกัน
ส่วนข้อกังวลเรื่องแผนที่ห้อยท้าย MOU จะมีผลทางกฎหมายหรือไม่? ตนก็มองว่าไม่มีผล เพราะเป็นเพียงการบ่งบอกว่าไทยมองอย่างไร กัมพูชามองอย่างไร เมื่อมองต่างกันก็ต้องมาเจรจากัน ไม่ใช่เราขีดแล้วเขายอมรับ หรือเขาขีดแล้วเรายอมรับ ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายยอมรับซึ่งกันและกัน ก็คงไม่ต้องเจรจาหรือไม่ต้องมี MOU ตนมองว่าอย่าไปห่วง ปล่อยให้รัฐบาลและผู้เจรจาเขาเจรจาไป
ทั้งนี้ MOU44 เกิดขึ้นในสมัยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โดยมี สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เป็น รมว.ต่างประเทศ ในส่วนแนบท้าย MOU ให้มีเอกสารเป็นภาคผนวกทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชา เพราะต่างฝ่ายต่างขีดกันคนละเส้น ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการต้องเจรจามากกว่าจะบอกว่าเป็นการยอมรับว่าแล้วเสร็จ จึงไม่ต้องไปประท้วงอะไร เพราะในเมื่อยังไม่แล้วเสร็จก็เป็นประเด็นที่ต้องเจรจากัน
“ตัวของสนธิสัญญาไทย (สยาม) - ฝรั่งเศส มันเป็นแม่แล้วกัมพูชาก็ไม่ได้ไปเลิก ฉะนั้นเกาะกูดก็เป็นของไทย ก็มีแค่นี้ ส่วนการเจรจาภายใต้ MOU มันก็จะเข้ามาแตะต้องเกาะกูดไม่ได้ แล้วผมก็ไม่รู้ว่าใครบอกเกาะกูดเป็นของกัมพูชา หรือกัมพูชาเขาจะมาเคลมได้ ผมไม่ทราบว่ามันเป็นมาอย่างไร แล้วมันก็อยู่ที่ฝีมือการเจรจา เมื่อมี MOU ก็เจรจาไป แล้วเอาหลักกฎหมายระหว่างประเทศ เอาเรื่องกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ก็เอาเข้ามาใช้ มันก็ขึ้นอยู่กับสติปัญญา ขีดความสามารถในการที่จะเจรจากัน” นายกษิต ระบุ
นายกษิต ยังกล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องอาณาบริเวณของเกาะกูด ตามหลักสมัยโบราณคือมีอาณาบริเวณออกไปอีก 3 กิโลเมตร เป็นหลักที่ใช้กันมาหลายร้อยปี ต่อมาเมื่อมีกฎหมายทางทะเล จะมีคำว่าไหล่ทวีป (Continental Shelf) มีคำว่าเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zone) ก็ต้องมาปรับกันตามกฎเกณฑ์สมัยใหม่ เพราะไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของกฎหมายทางทะเลแล้ว ไทยก็ต้องยืนในจุดนี้ และหากมีข้อพิพาทก็สามารถไปที่ศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทางทะเล (ITLOS) ได้ ซึ่งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี
ดังนั้นหากยึดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสเป็นตัวตั้งก็ไม่มีประเด็นอะไรที่กัมพูชาจะเข้ามายุ่งกับเกาะกูดได้ เราปฏิเสธตั้งแต่ต้น เขาจะขีดอย่างไร จะเบี้ยวจะโกหกพกลม เราปฏิเสธก็ไม่ต้องเจรจา เรื่องก็มีแค่นี้ ซึ่งเรื่องไปศาลโลกคือหากมีการฟ้องร้อง แต่การที่มีสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ตนก็ไม่เห็นว่ากัมพูชาจะเบี้ยวได้อย่างไร เพราะเป็นประเทศเอกราชที่สืบสิทธิ์จากฝรั่งเศสมา 70 ปีแล้ว ก็ถือว่ายอมรับโดยปริยาย ส่วนที่กังวลเรื่องหลักกฎหมายปิดปากเหมือนกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ตนมองว่า 2 กรณีนี้เป็นคนละเรื่องกัน
โดยเรื่องเขาพระวิหาร สมัยนั้นฝรั่งเศสยังเป็นเจ้าอาณานิคม มีทั้งแสนยานุภาพทางการทหารและองค์ความรู้ด้านแผนที่ ในขณะที่ไทยยังไม่มีความสามารถ คิดว่าฝรั่งเศสโกงมาตั้งแต่ต้น เพราะการขีดเส้นเขตแดนมาทางตอนใต้ของปราสาทพระวิหาร ซึ่งจริงๆ แล้วมันต้องเป็นไปตามไหล่เขา แต่อาจเป็นความเลินเล่อ มองไม่เห็นหรือไม่เข้าใจ ไม่ได้คิดว่าฝรั่งเศสจะไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาการ และศาลโลกก็ตัดสินตามเส้นที่ฝรั่งเศสขีดไว้ แต่กรณีบนบกจะไปปิดปากกรณีทะเลได้อย่างไร เพราะเป็นคนละเรื่องและคนละพื้นที่กัน
ส่วนที่ ปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แนะนำให้ใช้คำว่าพื้นที่อ้างสิทธิ และไม่ควรใช้คำว่าพื้นที่ทับซ้อน เพราะอาจเป็นประเด็นสุ่มเสี่ยง เรื่องนี้ตนไม่ทราบเพราะภาษาไทยตนก็ไม่ชัดเจนขนาดนั้น และตนก็ไม่ใช่นักกฎหมายแต่ถามว่ามีความจำเป็นที่เลขาฯ กฤษฎีกา จะต้องมาเป็นผู้กำหนดหรือไม่? ในเมื่อมีกรมสนธิสัญญาระหว่างประเทศ (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ) และมีนักกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรม รวมถึงมีอาจารย์ระหว่างประเทศ
ซึ่งทุกคนล้วนแต่ห่วงบ้านเมืองกันทั้งนั้น แต่หากห่วงแล้วมาแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของคนคนเดียวแล้วเสริมสร้างความสับสน แล้วการทำตนเป็นผู้มีประกาศิตว่าจะต้องตีความเป็นแบบนี้ ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้ หากยังไม่มีการถกเถียงก็ไปที่ราชบัณฑิตสภาฯ ไปให้ตีความว่าคำคำนี้แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย และจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ ที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร และสุดท้ายเรื่องทั้งหมดก็ต้องผ่านกลไกรัฐสภา เพราะเป็นเรื่องดินแดน เรื่องอำนาจอธิปไตย และเรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรใต้ดินซึ่งเป็นสมบัติของประเทศชาติและปวงชนชาวไทย
“สมมุติเริ่มมีการตั้งคณะเจรจาทางด้านเทคนิค การเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างไร มันก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายรัฐบาลที่จะต้องไปรายงานให้รัฐสภาทราบเป็นระยะๆ แล้วก็ก่อนจะไปเจรจาอย่างจริงจัง ก็น่าจะเสนอต่อสภา ขออนุมัติเรื่องกรอบเจรจา เนื้อหาเป้าหมายโดยสังเขปว่าเราจะไปเจรจาอย่างไร อันนี้ก็น่าจะเสนอต่อสภาเพราะสภาเป็นใหญ่ที่สุดในเรื่องสนธิสัญญากฎหมายระหว่างประเทศ ก็เหมือนไปบอกว่าจะมีโผการเจรจาอย่างนี้ ก็อยากให้รัฐสภาได้รับทราบแล้วก็ให้ความเห็นชอบในหลักการ จะทำให้การดำเนินการของฝ่ายไทยมีความมั่นคงตั้งแต่เริ่มต้น” นายกษิต กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี