ปัญหานอนไม่หลับ เป็นปัญหาใหญ่ของหลายคน โดยในแต่ละคนก็มีสาเหตุแตกต่างกันไป เช่น เพราะมีความเครียดสะสม การทำงานเป็นกะ อายุมากขึ้น หรือสภาวะของโรคบางชนิดก็มีผลต่อการนอน เมื่อนอนไม่หลับหลายคืน ก็เกิดวงจรทำให้ร่างกายล้า เช่น นอนไม่หลับกลางคืน ก็ง่วงในช่วงกลางวัน ไม่มีสมาธิ หรือไม่มีสติทำงานทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่กำลังเกิดเรื่องต้องหาตัวช่วยเพื่อทำให้ตนเองนอนหลับได้มากขึ้น
การไปซื้อหายานอนหลับมาใช้เองในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ไม่สามารถซื้อขายยานอนหลับที่ร้านยาทั่วไป ดังนั้นผู้จะใช้ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยาจากโรงพยาบาลเท่านั้น ทำให้บางคนที่ต้องการใช้ยานี้หันไปใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ทำให้มีอาการข้างเคียง เช่นทำให้ง่วงนอนมาใช้ทดแทน โดยยาที่ว่านั้น นอกจากทำให้ง่วงนอนพักได้บ้าง แต่ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นอาจรุนแรงเกินคาด เช่น เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ท้องผูก ปัสสาวะขัด ง่วงซึม และบางรายที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น คนเป็นโรคต้อหิน หรือโรคต่อมลูกหมากโตอาจเป็นอันตราย จึงไม่ควรใช้ยาแก้แพ้แทนยานอนหลับ
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการใช้ยาแก้แพ้รุ่นแรกเป็นเวลานาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงกับการเกิดโรคความจำเสื่อมแต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยไปหาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่างๆ ที่บอกสรรพคุณเกินเหตุ โดยเฉพาะอ้างว่าช่วยให้นอนหลับได้
แต่ก็มีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายตัวที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้อย่างปลอดภัย เพราะผลลัพธ์ที่ได้ทำให้หลับเหมือนใช้ยานอนหลับ แต่การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ผู้บริโภคต้องพิจารณาให้ดี เวลาดูโฆษณาใน social media ต่างๆ ต้องระมัดระวังให้มาก ต้องฟังหูไว้หู อย่าเชื่อสิ่งที่ดูดีเกินจริง พูดถึงแต่ผลลัพธ์ทางที่ดี เพราะบางครั้งผลิตภัณฑ์เหล่านั้นอาจมีการปนปลอมสารต้องห้ามในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
แต่หากจะซื้อจริงๆ ก็ต้องซื้อหาจากสถานที่ที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น ร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ หรือซื้อจากร้านที่เจ้าของผลิตภัณฑ์นำสินค้ามาขายเอง
แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวเร็วๆ นี้ พบว่ามีการปลอบปนยาเมลาโทนินในเยลลี่กัมมีด้วย ทั้งนี้ประเทศไทยจัดเมลาโทนินเป็นยา ฉะนั้นจึงมีกระบวนการผลิต และควบคุมคุณภาพที่จริงจัง เหมือนมาตรฐานการผลิตยา การสั่งจ่ายยานี้ต้องทำโดยแพทย์และเภสัชกร แต่ในต่างประเทศบางประเทศ เมลาโทนินจัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งกฎหมายและการควบคุมผลิตภัณฑ์เสริมอาหารค่อนหลวม เช่น ขนาดของยาในเม็ดอาจไม่ตรงกับในฉลากของผลิตภัณฑ์ กรณีนี้จะคล้ายคลึงกับเรื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลดความอ้วน ที่เจือปนยา sibutramine แต่ต้องย้ำว่ายา sibutramine ถูกถอนทะเบียนจากประเทศไทย และหลายๆ ประเทศไปแล้ว
ส่วนเมลาโทนินนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์รุนแรง จนทำให้ผู้ใช้ยาได้รับอันตราย แต่หากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีข้อห้ามใช้ยาเมลาโทนิน เช่น แพ้แก้ยา หรือในคนที่ใช้ยาอื่นสำหรับโรคประจำตัวอยู่ แล้วยาเหล่านั้นจะตีกับเมลาโทนิน เช่น ยาละลายลิ่มเลือด ยาต้านเกล็ดเลือด ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาลดความดันโลหิต ยากันชัก ยาต้านเศร้าบางชนิด รวมถึงยากดภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเอง การได้รับเมลาโทนินอาจสร้างปัญหาและผลเสียได้
ดังนั้น ในประเทศไทยจึงพิจารณาให้การใช้ยาตัวนี้ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์และเภสัชกร เพราะฉะนั้น การอ้างว่ามีเมลาโทนินเจือปนในอาหารเสริม จะช่วยเรื่องการนอนหลับได้ จึงเป็นเรื่องที่อาจทำให้ผู้ใช้บางรายเกิดอันตรายได้
ผู้ประสบปัญหาการนอนหลับ อันที่จริงแล้วมีรายละเอียดเพิ่มเติมในการพิจารณาว่าควรรักษาอย่างไร ต้องใช้ยาอะไร เช่น บางคนนอนหลับได้ แต่ช่วงเวลาที่นอนสั้นเกินไป หรือตื่นเร็วมาก ก็ต้องแก้ด้วยการใช้ยาแบบหนึ่ง บางคนนอนแล้วก็นอนไม่หลับ หลับยาก แต่ถ้าหลับแล้วก็หลับยาวไปเลย ก็แก้ด้วยการใช้ยาอีกแบบหนึ่ง นี่ยังไม่รวมสาเหตุของการนอนไม่หลับของแต่ละคน ที่ต้องแก้ด้วยวิธีไม่ใช้ยา แต่เป็นคนละวิธี
ดังนั้น หากคุณมีปัญหาการนอน จนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน ก็ต้องไปพบแพทย์ เพื่อการแก้ปัญหาให้ตรงจุด รวมถึงยังเข้ากันได้กับสภาวะสุขภาพเดิมของตนเอง เช่น ยาตัวใหม่ที่ได้รับไป ไม่ตีกับยาตัวเดิมที่กำลังใช้อยู่
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี