นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน
องค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลก ในปีนี้ได้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Take the rights path : เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์” การเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการเข้ารับบริการสุขภาพ ด้านการป้องกันและรักษาเอชไอวี ส่งผลให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี นำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ได้
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่าประเทศไทยเร่งรัดการยุติปัญหาเอดส์ให้สำเร็จภายในปี 2573 ตามเป้าหมาย3 ประการ คือ “ไม่ติด ไม่ตายไม่ตีตรา” โดยมุ่งหวังลดผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ไม่เกิน 1,000 รายต่อปีลดการเสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ไม่เกิน 4,000 รายต่อปี ลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติอันเกี่ยวเนื่องจากเอชไอวีและเพศภาวะลงเหลือไม่เกินร้อยละ 10 โดยสถานการณ์เอชไอวีประเทศไทยในปี 2566 คาดว่ามีผู้ติดเชื้อที่ยังมีชีวิตอยู่ 576,397 คน ผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 12,072 คน และคาดประมาณผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ 9,083 คน โดยเป็นการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันถึงร้อยละ 96
จากการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565 พบประชาชนมีทัศนคติในการเลือกปฏิบัติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวี ร้อยละ 27.9 และผลสำรวจสถานการณ์การตีตราและเลือกปฏิบัติในสถานบริการสุขภาพ ในปี 2566 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกเลือกปฏิบัติระหว่างการรับบริการสุขภาพร้อยละ 8.7 ถูกเปิดเผยสถานภาพและความลับเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวีในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาร้อยละ 11.0 และตัดสินใจไม่ไปโรงพยาบาลเนื่องจากตีตราตนเองร้อยละ 52.0ข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการตีตราและเลือกปฏิบัติ รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชน เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความลังเลหรือหลีกเลี่ยงการใช้สิทธิของตน ในการเข้ารับบริการสุขภาพ ส่งผลให้ไม่ได้รับการตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงรับบริการป้องกัน และการดูแลรักษาที่ถูกต้องและต่อเนื่อง
นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ดำเนินงานผลักดันนโยบายด้านเอชไอวี/เอดส์ที่สำคัญครอบคลุมทั้งด้านการป้องกัน ตรวจคัดกรอง และการดูแลรักษา เพื่อให้คนไทยทุกคนมีสิทธิในการดูแลสุขภาพของตนได้อย่างเท่าเทียม
ดังนี้
1.รับถุงยางอนามัย ฟรี ได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุข โรงพยาบาลของรัฐ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์กรภาคประชาสังคม ร้านขายยา และแอปเป๋าตังและรับบริการยาป้องกันก่อน-หลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis : PrEP และ Post-Exposure Prophylaxis : PEP) ฟรีทุกสิทธิ ที่โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่ง และหน่วยบริการสุขภาพที่ร่วมจัดบริการ ค้นหาพิกัดรับ PrEP และ PEP ได้ที่ http://buddystation.ddc.moph.go.th/search_store/
2.ตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันแห่งชาติทั่วประเทศหรือตรวจด้วยตนเอง โดยขอรับชุดตรวจหาการติดเชื้อด้วยตนเอง (HIV self-test) ฟรี คนละ 1 ชุด/วัน ที่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. รวมทั้งหน่วยบริการภาคประชาสังคม
3.เอชไอวี รักษาฟรีทุกสิทธิด้วยยาต้านเอชไอวีแบบรวมเม็ด (Antiretroviral Drug : ARV) ในวันเดียวกันที่ทราบผลการติดเชื้อเอชไอวี หรือโดยเร็วที่สุด ที่โรงพยาบาลตามสิทธิการรักษา
สนใจ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี