พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดินมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ปรากฏผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและนานาชาติ จากการประชุมขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ครั้งที่ 144 ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน พ.ศ.2555 ณ สำนักงานใหญ่องค์การเกษตรและอาหารแห่งสหประชาชาติกรุงโรม ประเทศอิตาลี ที่ประชุมได้มีมติสนับสนุนและร่วมกันผลักดันให้มีการจัดตั้ง “วันดินโลก” (World Soil Day) ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
ต่อมา ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สตีเฟน นอร์ตคลิฟฟ์(Emeritus Professor Dr. Stephen Nortcliff) กรรมการบริหารสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ ได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาททูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดินเพื่อมนุษยธรรม (The Humanitarian Soil Scientist) เมื่อวันที่ 16 เมษายน พ.ศ.2556 และขอพระบรมราชานุญาตให้วันที่ 5 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันดินโลก” เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับนานาชาติเกิดความต่อเนื่องและจริงจังในการรณรงค์ด้านทรัพยากรดินในทุกระดับ
ประเทศไทย เป็นประเทศเกษตรกรรม ประชาชนส่วนใหญ่เลี้ยงชีพโดยอาศัยความอุดมสมบูรณ์ของดินมาช้านานแผ่นดินจึงเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ด้วยพระปรีชาญาณอันยิ่งใหญ่ของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของดิน อันเกิดจากสาเหตุทางธรรมชาติ เช่น บางแห่งเป็นดินเปรี้ยว ดินด่าง ดินเค็ม และบางแห่งก็ไม่มีดินเลย ซึ่งทรงเรียกดินเหล่านี้ว่า ดินแร้นแค้น นอกจากนี้ ความเสื่อมโทรมของดินยังเกิดจากการกระทำอันรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของประชาชน เช่น การตัดไม้ทำลายป่าและการใช้พื้นที่โดยขาดการอนุรักษ์ จึงพระราชทานแนวพระราชดำริในการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาทรัพยากรดินเป็นอเนกประการ ซึ่งล้วนแต่นำประโยชน์สุขมาสู่เกษตรกรทั่วประเทศ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญในงานอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ดินที่มีสภาพธรรมชาติและปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค จึงมีพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาที่ดินที่เน้นเฉพาะเรื่องมากขึ้น เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาดินเค็ม ดินเปรี้ยว ดินทราย ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัญหาดินพรุ ในภาคใต้ และที่ดินชายฝั่งทะเล รวมถึงงานในการแก้ไขปรับปรุงและฟื้นฟูดินที่เสื่อมโทรมพังทลายจากการชะล้างหน้าดิน ตลอดจนการทำแปลงสาธิตการพัฒนาที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมในบางพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องดินเสื่อมโทรมด้วยสาเหตุต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้พื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องดินทั้งหลายสามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้อีก โครงการต่างๆ ในระยะหลังจึงเป็นการรวบรวมความรู้ทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหลากหลายสาขามาใช้ร่วมกันในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และที่ปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ แนวคิดและตัวอย่างการจัดการทรัพยากรดินในศูนย์ศึกษาการพัฒนาทุกแห่ง
ตัวอย่างแนวพระราชดำริ ก็คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูดินโดยวิธีการธรรมชาติ มีดังนี้ 1.การแก้ปัญหาการใช้ที่ดินและการอนุรักษ์ดิน ทรงส่งเสริมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมพัฒนาที่ดินได้ดําเนินการวางแผนการใช้ที่ดินในพื้นที่โครงการพระราชดำริ ได้แก่ พื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อําเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกำหนดพื้นที่ลาดชันให้เป็นพื้นที่ปลูกป่าพื้นที่ลอนลาดเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งการแก้ปัญหาสภาพดินในพื้นที่การเกษตร และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินโดยวิธีการทางธรรมชาติ
2.การแก้ไขการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณที่ลาดชัน มีพระราชดําริในการฟื้นฟูป่าไม้ให้เกิดขึ้นใหม่ เพื่อให้ผืนดินบริเวณนั้นเกิดความชุ่มชื้น โดยให้ไม้ยืนต้นในท้องถิ่นและหญ้าเติบโตโดยธรรมชาติ ในพื้นที่ที่ผ่านการขุด ตัก และไถหน้าดินจนหมด จนไม่สามารถนําไปใช้ประโยชน์ทางการเกษตรที่ดินประเภทเหล่านี้มีอยู่ในพื้นที่โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริ ได้แก่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอชะอํา จังหวัดเพชรบุรี พื้นที่ในโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดําริ อําเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ในการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเพื่อทรงงานในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทรงมีรับสั่งถึงวิธีการอนุรักษ์ดินในพื้นที่โครงการ โดยไม่ไถหน้าดินก่อนการปลูกพืช ดังนี้
“...ในแต่ละพื้นที่ซึ่งมักจะเปิดหน้าดิน (ปอกเปลือก) ดินแล้วทําการเกษตร ซึ่งยังถือว่าเป็นวิธีการผิดธรรมชาติจะเกิดปัญหาในอนาคต ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯทําการเกษตรอย่างไม่ทําลายธรรมชาติ เช่น การไม่ไถพรวนเปิดหน้าดิน (ปอกเปลือก) เปลือยดิน เป็นต้น โดยให้ทุกโครงการในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ทําเป็นตัวอย่าง แล้วหาทางแนะนําให้ราษฎรทําต่อไป...”
โครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มตามแนวพระราชดําริ ตําบลเขาชะงุ้ม อําเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เป็นโครงการ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทําขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติฯ ครบ 5 รอบ และเนื่องในพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พื้นที่ดังกล่าว พลตํารวจตรี
ทักษ์ ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินประมาณ 699 ไร่ซึ่งเดิมเป็นฟาร์มปศุสัตว์ และมีการขุดดินลูกรังขายพื้นที่โครงการจึงสูญเสีย หน้าดินจนหมด เหลือเพียงแต่ดินลูกรังทั้งสิ้น
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมโครงการศึกษาวิธีการฟื้นฟูดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 พระราชทานพระราชดําริ แก่ นายสนาน รีมวานิช อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน สรุปได้ดังนี้คือ “ให้ดําเนินการศึกษาหาวิธีการปรับปรุงบำรุงดินเสื่อมโทรมให้สามารถใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกได้ ทดสอบ วางแผน และจัดระบบปลูกพืช ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยดําเนินการในลักษณะเป็นศูนย์สาขาของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย”ภายหลังจาการเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่โครงการในครั้งแรกยังได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อติดตามผลการดำเนินงานในปี พ.ศ.2535 และในปี พ.ศ.2539 โดยพระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำในบริเวณพื้นที่นี้ด้วย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดําริให้ทดลองปลูกหญ้าแฝก เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน เช่น การปลูกหญ้าแฝกบริเวณขอบบ่อเลี้ยงปลาที่ลาดเอียง บริเวณขอบแปลงผัก บริเวณที่ลาดชันในภูมิประเทศ โดยพระราชทาน พระราชดำริครั้งแรกแก่ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษ เพื่อประสานงานโครงกาครอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2534 และต่อมายังได้พระราชทานพระราชดำริแก่ผู้เกี่ยวข้องในวาระต่างๆ สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
“...หญ้าแฝกเป็นพืชที่มีระบบรากลึก แผ่กระจายลงไปในดินตรงๆ เป็นแผงเหมือนกําแพงช่วยกรองตะกอนดิน และรักษาหน้าดินได้ดี จึงควรนำมาศึกษา และทดลองปลูกในพื้นที่ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดําริ และพื้นที่อื่นๆ ที่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง โดยพิจารณาจากลักษณะของภูมิประเทศ คือ บนพื้นที่ภูเขาให้ปลูกหญ้าแฝกตามแนวขวางของความลาดชัน และในร่องน้ำ ของภูเขา เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน และช่วยเก็บกักความชื้นของดิน ไว้ด้วย บนพื้นราบ ให้ปลูกหญ้าแฝกรอบแปลงหรือปลูกในแปลงแปลงละ 1 หรือ 2 แนว ส่วนแปลงพืชไร่ให้ปลูกตามร้องสลับกับพืชไร่ เพื่อที่รากของหญ้าแฝกจะอุ้มน้ำไว้ ซึ่งจะช่วยให้เกิดความชุ่มชื้นในดิน และหญ้าแฝกจะเป็นตัวกักเก็บไนโตรเจน และกำจัดสิ่งเป็นพิษ หรือสารเคมีอื่นๆ ไม่ให้ไหลลงไปยังแม่น้ำลำคลอง โดยกักให้ไหลลงไปใต้ดินแทน การปลูกรอบพื้นที่เก็บกักน้ำ เพื่อป้องกันดินพังทลายลงไปในอ่างเก็บน้ำ ทำให้อ่างเก็บน้ำไม่ตื้นเขิน ตลอดจนช่วยรักษาหน้าดินเหนืออ่าง และช่วยให้ป่าไม้ในบริเวณพื้นที่รับน้ำสมบูรณ์ขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบริเวณที่มีหญ้าคาระบาด ควรปลูกเพื่อเป็นแนวป้องกันตะกอน และดูดซับสารพิษต่างๆ ไว้ในราก และลำต้นได้นานจนสารเคมีนั้นสลายตัวเป็นปุ๋ยสำหรับพืชต่อไป ทั้งนี้ให้บันทึกภาพก่อนดำเนินการ และหลังดำเนินการไว้เป็นหลักฐาน ส่วนผลของการศึกษาทดลองควรเก็บข้อมูลทั้งทางด้านการเจริญเติบโตของลำต้น และรากความสามารถในการอนุรักษ์เพื่อความสมบูรณ์ของดิน และการเก็บความชื้นในดิน และเรื่องพันธุ์หญ้าแฝกต่างๆ ด้วย...”
จากแนวพระราชดำริดังกล่าว ทำให้หญ้าแฝกมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำของประเทศ ซึ่งถ้าหากมีการใช้อย่างแพร่หลายเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและสภาพการใช้ที่ดิน จะช่วยลดปัญหาการพังทลายของดินได้ เป็นอย่างมากนอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 10,000 เหรียญสหรัฐ ให้แก่ธนาคารโลกเพื่อใช้สนับสนุนงานวิจัยเกี่ยวกับหญ้าแฝกอีกด้วย
ทั้งนี้ ธนาคารโลก ได้ตีพิมพ์เผยแพร่พระราชกรณียกิจเรื่องหญ้าแฝก ลงในเอกสาร Vetiver Newsletter No. 11, เดือนมิถุนายน พ.ศ.2537 ให้สมาชิกทราบทั่วโลก และด้วยผลงานอันเป็นที่ประจักษ์แจ้ง ทางสมาคมอนุรักษ์ดินและน้ำนานาชาติ จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลในฐานะทรงเป็นนักอนุรักษ์ดินและน้ำดีเด่นของโลก เมื่อปีพ.ศ.2537
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงตระหนักถึงปัญหาการพังทลายของดินในบริเวณที่มีการตัดถนนสายใหม่ จากบ้านสันกองขึ้นไปยังพระธาตุดอยตุง ดังนั้น ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2535 ในขณะที่เสด็จพระราชดำเนินมาเฝ้าฯ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ณ วังสระปทุม ทรงนำเอกสารเรื่อง หญ้าแฝกมาถวาย และได้ทรงอธิบายถึงคุณสมบัติของหญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งทรงทดลองได้ผลมาแล้วในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่างๆ ทั่วประเทศ หลังจากนั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จึงมีพระราชดำริให้นำหญ้าแฝกมาทดลองเพื่อแก้ปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน ในโครงการพัฒนาดอยตุงต่อมาในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร “โครงการพัฒนาหญ้าแฝกในโครงการพัฒนาดอยตุง” ทรงพบว่า ผลการทดลองปลูกหญ้าแฝกในที่ลาดเอียงได้ผลน่าพอใจ
นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังทรงทดลองปลูกหญ้าแฝกสายพันธุ์ต่างๆ ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาทั้ง 6 แห่ง ซึ่งพบว่า การปลูกหญ้าแฝกขวางการลาดเทของภูมิประเทศ จะช่วยหยุดตะกอนดินมิให้เคลื่อนตัว เช่น ในพื้นที่ลาด 5% มีการทดลองปลูกหญ้าแฝกตามระยะระหว่างแถวของแปลง ข้าวโพด และถั่งลิสง พบว่ามีการสูญเสียหน้าดินเพียง 0.92-2.27 ตันต่อไร่ต่อปี ในขณะที่พื้นที่ที่ไม่มีการปลูกหญ้าแฝกในแปลงพืชไร่ชนิดเดียวกัน มีการสูญเสียหน้าดินสูงถึง 5.27 ตันต่อไร่ต่อปี อีกทั้ง แฝกยังสามารถรักษาความชุ่มชื้นในดินมากกว่าอีกด้วย
ต่อมาหน่วยงานต่างๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้นำแฝกไปปลูกในพื้นที่โครงการต่างๆ เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์นำแฝกไปปลูกในแปลงสาธิต กรมป่าไม้ปลูกในบริเวณที่ลาดชันในโครงการอนุรักษ์ต้นไม้ กรมชลประทาน ปลูกในบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำกรมพัฒนาที่ดินนำแฝกไปปลูกตามชอบแหล่งน้ำและร่องน้ำ ช่วงปลูกที่เหมาะสมคือช่วงต้นฤดูฝนหรือปลายฤดูฝน ในปัจจุบันได้มีการปลูกหญ้าแฝกในระดับไร่นาในแปลงของเกษตรกรอย่างแพร่หลายซึ่งช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างได้ผลในวงกว้าง
นอกจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝกในการอนุรักษ์ดินและน้ำแล้ว อีกหนึ่งในพระอัจฉริยภาพด้านดิน ก็คือ โครงการแกล้งดินโดยสืบเนื่องจากการได้เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานและทรงเยี่ยมเยียนราษฎรในภาคใต้อย่างสม่ำเสมอตั้งแต่ปีพ.ศ.2516 เรื่อยมา ทำให้ทรงทราบว่าราษฎรในพื้นที่แถบจังหวัดนราธิวาส และจังหวัดใกล้เคียงประสบปัญหาอยู่นานัปการ ราษฎรขาดแคลนที่ทำกิน อันเป็นสาเหตุสำคัญในการดำรงชีพพื้นที่ดินพรุที่มีการระบายน้ำออกจะแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด เนื่องจากสารไพไรท์ที่มีอยู่ในดินทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศแล้วปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมามากจนถึงจุดที่เป็นอันตรายต่อพืชที่ปลูกหรือทำให้ผลผลิตลดลงอย่างเห็นได้ชัด จึงได้มีพระราชดำริให้จัดตั้ง โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อปีพ.ศ.2524 เพื่อศึกษาและปรับปรุงแก้ไขปัญหาพื้นที่พรุให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและด้านอื่นๆ ได้
ต่อมาเมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ.2527 ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับเรื่อง “แกล้งดิน” ความว่า “...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัดโดยการระบายน้ำให้แห้งและศึกษาวิธีการแกล้งดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มีปัญหาเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาสโดยให้ทำโครงการศึกษาทดลองในกำหนด 2 ปี และพืชที่ทำการทดลองควรเป็นข้าว...”
เมื่อผลของการศึกษาทดลองสำเร็จผลชั้นหนึ่ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำผลการศึกษาทดลองขยายผลสู่พื้นที่ทำการเกษตรของราษฎร ที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยวจัดซึ่งในเรื่องนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้ทรงมีพระราชดำริว่า “...พื้นที่บริเวณบ้านโคกอิฐและโคกในเป็นดินเปรี้ยว เกษตรกรมีความต้องการจะปลูกข้าว ทางชลประทานได้จัดส่งน้ำชลประทานให้ ก็ให้พัฒนาดินเปรี้ยวเหล่านี้ให้ใช้ประโยชน์ได้ โดยให้ประสานงานกับชลประทาน...”
จากการพัฒนาบ้านโคกอิฐและบ้านโคกในปรากฏว่าราษฎรในพื้นที่ดังกล่าว สามารถปลูกข้าวให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้นจนเป็นที่พอพระราชหฤทัยพร้อมกับทรงมีรับสั่งว่า “...เราเคยมาโคกอิฐโคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้นๆ เขาทำ แต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถึง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-50 ถังก็ใช้ได้แล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไรๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น...อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมาก ที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น..แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้”ปัจจุบันมีการนำผลการศึกษาทดลองไปขยายผลแก่ราษฎรในเขตจังหวัดนราธิวาสและจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการนำผลของการ “แกล้งดิน” นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดนครศรีธรรมราช อีกด้วย ดังนั้น “โครงการแกล้งดิน” จึงเป็นโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับราษฎรทั่วทั้งประเทศ ซึ่งรวมถึงโครงการในพระราชดำริอีกหลายโครงการ ที่ยังประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อการอนุรักษ์พื้นฟูดินการปรับปรุง คุณภาพดิน และการจัดการทรัพยากรดิน ซึ่งเป็นปัจจัยในการผลิตทางการเกษตรที่สําคัญยิ่ง
นับเป็นพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพที่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะเกษตรกรไทย ควรน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี