“9 ธ.ค. 2567” เป็นวันที่ต้องจับตามอง เมื่อ สนธิ ลิ้มทองกุล เจ้าของสื่อเครือ ASTV ผู้จัดการ และอดีตแกนนำ “กลุ่มเสื้อเหลือง” พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในประเด็น “MOU44” หรือบันทึกความเข้าใจระหว่างไทยและกัมพูชาว่าด้วยการอ้างสิทธิในพื้นที่ไหล่ทวีปที่ทับซ้อนกัน ที่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศจัดทำขึ้นเมื่อปี 2544 ซึ่งการมีอยู่ของ MOU ฉบับนี้สุ่มเสี่ยงที่ไทยจะเสียอธิปไตยทางทะเลให้กับกัมพูชา
เพราะย้อนไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2567 นายสนธิ ได้กล่าวกับสื่อก่อนเปิดงาน “ความจริง มีหนึ่งเดียว เพื่อชาติ ครั้งที่ 4” ที่หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยในตอนหนึ่งได้ตอบคำถามเรื่อง “ม็อบ” หรือการชุมนุม ว่า ไม่รู้ ต้องวัดไปตามสถานการณ์ อย่าตั้งคำถามว่าจะให้ตนออกถนนหรือเปล่า เพราะไม่รู้ ตนไม่อยากลง แต่ถ้าจำเป็น เป็นครั้งสุดท้ายในชีวิตก็จะทำ ซึ่งตอนนี้เริ่มร้อนแรงแล้ว อาจต้องรอให้เดือดกว่านี้อีกนิดหน่อย และคิดว่าสถานการณ์ขณะนี้สำหรับประชาชนอย่างตนใกล้สุกงอมแล้ว
ซึ่งทันทีที่คำให้สัมภาษณ์ของนายสนธิปรากฏเป็นข่าว บรรดาคนในรัฐบาลก็ออกอาการทันที อาทิ วันที่ 27 พ.ย. 2567 ภูมิธรรม เวชยชัยรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเตือนนายสนธิ ว่า เป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย อย่าให้ผิดกฎหมายก็แล้วกัน หรือที่ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. 2567 ว่า บริบททางการเมืองและความรู้สึกของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว เพราะฉะนั้นมาตัดสินด้วยเหตุและด้วยผลกันดีกว่า
“พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” หรือกลุ่มเสื้อเหลือง มีแกนนำหลัก 5 คน คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายพิภพ ธงไชย นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และนายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เริ่มเคลื่อนไหวช่วงปลายปี 2548 โดยขณะนั้นนายสนธิจัดรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ที่สวนลุมพินี วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) และพรรคไทยรักไทย มีประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมากจนเกิดการชุมนุมขึ้น ก่อนที่รัฐบาลจะถูกกองทัพทำรัฐประหาร
ในวันที่ 19 ก.ย. 2549
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในวันที่ 23 ธ.ค. 2550 พรรคพลังประชาชน พรรครุ่นที่ 2 ของขั้วการเมืองฝ่ายอดีตนายกฯทักษิณ ชนะการเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาล กลุ่มพันธมิตรฯ จึงออกมาชุมนุมอีกครั้ง ในยุคที่ นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนที่จะจบลงด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน ในวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ซึ่งสืบเนื่องจากกรณี นายยงยุทธ ติยะไพรัช หนึ่งในกรรมการบริหารพรรค ถูกศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดฐานทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551
รวมถึงในวันที่ 29 พ.ย. 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่อยู่ระหว่างร่วมประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.เชียงใหม่ ก็กล่าวว่า เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบเราอาจไม่อยากไป ซึ่งประเด็นนี้จะกระทบกับการท่องเที่ยวและประเทศอย่างแน่นอน เป็นต้น และแม้จะมีรายงานข่าวเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2567 ซึ่งนายสนธิชี้แจงว่าเป็นเรื่องเข้าใจผิด ยังไม่มีการลงถนน เป็นแต่เพียงการไปยื่นหนังสือร้องเรียนและกล่าวหารัฐบาล ในประเด็น MOU44 เท่านั้น
“เป็นเรื่องเข้าใจผิดนะ ไม่ได้ลงถนน เราไปยื่นเรื่องร้องเรียนและกล่าวหารัฐบาลชุดนี้ คือเรื่อง MOU2544 เราจะให้เขารู้ว่า การที่เขาเคยให้สัมภาษณ์และพูดเรื่อง MOU2544 เขาแสดงเจตนารมณ์ส่อไปในทางที่จะทำให้ประเทศไทยสูญเสียอธิปไตยรอบเกาะกูด” (คำให้สัมภาษณ์ของ สนธิ ลิ้มทองกุล ในรายงานข่าว “สนธิ แจงไม่ได้ลงถนนประท้วง MOU44” สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7 วันที่ 3 ธ.ค. 2567)
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ในตอนที่เผยแพร่วันที่ 27 พ.ย. 2567 พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โฟนอินให้สัมภาษณ์ในประเด็นกระแสข่าวเรื่องนายสนธิอาจปลุกม็อบลงถนน ว่า ต้องดูองค์ประกอบ 3 เรื่อง ซึ่งหากทั้ง 3 เรื่องนี้สอดคล้องกันก็มีแนวโน้มที่นายสนธิจะลงถนน
คือ 1.นายสนธิต้องเห็นว่ารัฐบาลกำลังพาประเทศไปสู่ความล่มจม เตือนแล้วแต่รัฐบาลไม่ฟัง 2.นายสนธิต้องดูว่าศรัทธาของประชาชนที่มีต่อนายสนธิยังมีอยู่เช่นเดิมหรือไม่ ซึ่งตนก็วิเคราะห์จากการจัดรายการของนายสนธิ ที่ก็มีประชาชนติดตามเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงในช่องทางออนไลน์ ส่วนอุดมการณ์ของประชาชนที่ติดตามรายการจะสอดคล้องกับนายสนธิหรือไม่ ก็ดูได้ว่าสอดคล้องกัน
และ 3.กลุ่มคนที่สนับสนุนนายสนธิและพร้อมจะลงถนนไปกับนายสนธิมีมาก-น้อยเพียงใด ข้อนี้ตนดูจากการจัดรายการของนายสนธิที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเปลี่ยนสถานที่มาใช้หอประชุมใหญ่ ก็บอกได้ว่ามีพร้อมประมาณ 1 หมื่นคน แน่นอนที่เป็นแฟนคลับของนายสนธิและพร้อมลงถนน ส่วนเมื่อลงถนนแล้วปฏิกิริยาของประชาชนจะเป็นอย่างไร ตนคิดว่าคงจะมีคนออกมาสมทบมากขึ้น ทั้งจากพรรคการเมืองกลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มพลังต่างๆ จากความไม่พอใจต่อรัฐบาล
แต่อีกด้านหนึ่ง “การลงถนนของนายสนธิจะได้รับการสนับสนุนมาก-น้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของรัฐบาลด้วย” หากรัฐบาลพฤติกรรมดีม็อบนายสนธิก็จุดไม่ติด ทำอะไรรัฐบาลไม่ได้ แต่หากไม่ดีก็จะเป็นอย่างที่เห็น ซึ่งหลายคนอาจบอกว่ายุคนี้จะมีใครมาลงถนน ประชาชนก็ห่างเหินการลงถนนไปมาก แต่ตนมองอีกแบบหนึ่งว่าประชาชนอาจชอบ ประกอบกับขณะนี้ประชาชนไม่มีทางออกในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล การที่นายสนธิลงถนนจึงเป็นความหวังอย่างหนึ่ง
“มันมีเงื่อนไข ผมยกตัวอย่าง 2 เรื่อง 1.เรื่อง MOU44 รัฐบาลยังยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย แต่รัฐบาลไม่พูดถึงเรื่องอาณาเขตทางทะเลของเกาะกูด ไม่เคยพูดถึงเลยว่ามีอาณาเขตเท่าไร ซึ่งอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยเป็นไปตามหลักกฎหมายสากล แต่ของกัมพูชาเป็นการแสดงหลักเขตที่เขียนขึ้นมาเอง ดังนั้น อันนี้ถ้าเผื่อพูดกันไปแล้วประเทศไทยเราก็เสียเปรียบ ต้องพูดกันก่อน แต่รัฐบาลก็ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ จะแบ่งคนละ 50% อย่างเดียว” พล.ท.นันทเดช กล่าว
พล.ท.นันทเดช กล่าวต่อไปว่า MOU44 อาจเป็นเงื่อนไขหลักที่นำไปสู่การชุมนุมประท้วงได้ เพราะประชาชนเห็นว่าเกาะของไทยมีอาณาเขตแน่นอนแต่กัมพูชากลับมาเขียนลากเส้นต่างๆ ได้ ส่วนที่รัฐบาลบอกว่า MOU44 เลิกไม่ได้จริงๆ แล้ว MOU เป็นแค่คำมั่น แล้วก็เห็นเลิกกันมาได้ทุกเรื่อง อย่างเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำ ก็ต้องไปดูสาเหตุเบื้องหลังว่าเหตุใด MOU44 รัฐบาลบอกว่าเลิกไม่ได้
โดยหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2544 หรือในปีที่มีการจัดทำ MOU ฉบับนี้ขึ้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ได้ให้เงินกู้พิเศษแก่กัมพูชา ก่อสร้างถนนความยาว 150 กิโลเมตร และหลังจากนั้นอีก 6 วัน นายกฯ ทักษิณ และคณะก็เดินทางไปกัมพูชาเพื่อลงนาม MOU44 ในวันที่ 18 มิ.ย. 2544 และออกแถลงการณ์ร่วมของผู้นำ 2 ประเทศในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นการรับรอง MOU44 ดังนั้นหากไม่เลิก MOU44 โดยอ้างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวก็ถือว่ามั่ว
เพราะตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่รัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ใช้อยู่ขณะนั้น ระบุว่า การเจรจาใดๆ ของรัฐบาลเกี่ยวกับอธิปไตยและผลประโยชน์ของประเทศจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่การเจรจาในเวลานั้นรัฐบาลไม่ได้นำมาบอกกับรัฐสภา MOU44 จึงถือเป็นโมฆะไปโดยปริยาย กับเรื่องหนึ่งที่อาจนำไปสู่การลงถนนได้คือ 2.ความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม คือเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ กับอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เปิดช่องให้แล้ว
ดังนั้นหากมีการดำเนินการอย่างจริงจังเกิดขึ้น อย่างกรมราชทัณฑ์ที่อ้างว่ามีเจ้าหน้าที่ไปอยู่เวร ก็ต้องให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นมาให้ข้อมูล เช่นเดียวกับแพทย์หรือพยาบาลที่กรมราชทัณฑ์กล่าวอ้างก็สามารถสืบย้อนหลังไปได้ทั้งหมด หากทำกันจริงๆ นายทักษิณก็อาจต้องกลับไปติดคุก เริ่มกระบวนการกันใหม่ ซึ่ง 2 เรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก แต่จริงๆ ยังมีอีกหลายประเด็น หากนายสนธินำม็อบลงถนนก็น่าจะขุดขึ้นมาได้ รวมถึงเรื่องใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น
ส่วนคำถามว่าสถานการณ์ ณ เวลานี้ สุกงอมพอให้เกิดการลงถนนแล้วหรือยัง ตนคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ประมาณหลังจากเดือนก.พ. 2568 เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ประชาชนกำลังใช้เวลาเตรียมตัวเข้าสู่เทศกาลปีใหม่ซึ่งประชาชนจะสนใจการเมืองน้อยลง ในขณะที่รัฐบาลก็พยายามเคลื่อนไหวในช่วงนี้ให้มาก เช่น อาจแจกเงินเพื่อปิดปากประชาชน ดังนั้น นายสนธิน่าจะเริ่มเคลื่อนไหวช่วงปลายเดือนม.ค. 2568
ส่วนกรณีที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี(น.ส.แพทองธาร ชินวัตร) และอดีตแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือ “กลุ่มเสื้อแดง” ออกมาบอกว่าการเคลื่อนไหวของนายสนธิเป็นการรวมตัวของกลุ่มอนุรักษ์นิยมและไม่ให้ราคา ตนมองว่านายณัฐวุฒิก็ต้องพูดแบบนั้นเพราะอยู่ฝ่ายรัฐบาล แต่ในข้อเท็จจริงคือรัฐบาลปากบอกไม่กลัวแต่จะขาสั่นหากนายสนธิสามารถเคลื่อนไหวได้ตามจังหวะจริงๆ
“ผมว่าประชาชนเราห่างเหินการชุมนุมแบบนี้ไปนาน ผมคิดว่าความกระตือรือร้นของคนก็น่าจะมีมากพอสมควรในการออกมาร่วมกับคุณสนธิ ประกอบกับเงื่อนไขมันอำนวยหลายอย่าง ผมไม่เข้าใจรัฐบาล MOU44 ไม่ยอมถอยได้อย่างไร เป็นไปได้ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยกับเรื่องม็อบบนถนนมันเป็นปกติของทุกประเทศ ฝรั่งเศสเขายังมี 7-8 วัน แต่ม็อบประเทศไทยเรามันต่างกับประเทศอื่น ไม่ชุมนุมเช้าแล้วเย็นเลิก เราชุมนุมทั้งวันทั้งคืน” พล.ท.นันทเดช ระบุ
พล.ท.นันทเดช ยังกล่าวอีกว่า ส่วนคำถามว่าเมื่อมีม็อบแล้วจะกดดันรัฐบาลได้หรือไม่ หรือจะต้องไปลงท้ายด้วยรัฐประหารกันอีกครั้งหนึ่ง ตนมองว่าการจัดการกับม็อบจะใช้วิธีรุนแรงแบบเดิมไม่ได้อีกแล้ว เพราะยิ่งใช้ความรุนแรงก็จะมีประชาชนออกมาร่วมกับม็อบมากขึ้น เพราะเงื่อนไขที่นำมาเคลื่อนไหวเป็นเงื่อนไขของชาติ ทั้งเรื่อง MOU44 และเรื่องที่นายทักษิณไม่ต้องติดคุก เรื่องเหล่านี้คนส่วนใหญ่รับไม่ได้
ส่วนที่กังวลว่าการจัดม็อบอาจนำไปสู่การชุมนุมด้วยความรุนแรง อย่างที่เคยเกิดกับกลุ่มเสื้อแดงซึ่งมีภาพของคนชุดดำเข้ามาใช้อาวุธก่อความรุนแรงด้วย ตนมองว่าม็อบเสื้อเหลืองจะไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น เว้นแต่นายทักษิณจะจัดม็อบมาชน ซึ่งก็อาจเป็นไปได้ แต่สถานการณ์ปัจจุบันจะทำแบบนั้นก็ไม่ง่าย ขณะที่เรื่องวันวนกรณีมีม็อบแล้วมีรัฐประหาร ก็เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เพราะรัฐบาลสร้างเงื่อนไขขึ้นมาเอง โดยเฉพาะการทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบกัมพูชา แต่โดยสรุปคือม็อบจะเกิดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาล!!!
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี