สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาเป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีกรมหมื่นสุทธนารีนาถ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม พุทธศักราช 2521 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต และเป็นพระราชนัดดาพระองค์แรกในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเข้ารับการศึกษา ระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น ณ โรงเรียนราชินี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ณ โรงเรียนฮีธฟิลด์ ประเทศอังกฤษและโรงเรียนจิตรลดา จากนั้นทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงได้รับเกียรตินิยมอันดับสองและระดับปริญญาตรี สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยทรงได้รับเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง ต่อมาทรงสำเร็จการศึกษาระดับชั้นเนติบัณฑิตไทย (น.บ.ท.) เนติบัณฑิตยสภารวมทั้ง Master of Laws (LL.M.) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา และ Doctor of the Science of Law (J.S.D.) จากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ทรงเข้ารับการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ดังนี้ พุทธศักราช 2549 ปริญญากิตติมศักดิ์ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร, พุทธศักราช 2551 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, พุทธศักราช 2552 ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาอาชญาวิทยา การบริหารงานยุติธรรมและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล, พุทธศักราช 2553 ปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, พุทธศักราช 2553 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด, พุทธศักราช 2553 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พุทธศักราช 2553 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์, พุทธศักราช 2553 ปริญญาศิลปศาสตรดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พุทธศักราช 2554 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเขตภาคเหนือ 8 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง, และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์, พุทธศักราช 2554 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, พุทธศักราช 2554 ปริญญานิติศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พุทธศักราช 2563
ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้วยพระวิริยอุตสาหะและพระกตัญญูกตเวทิตา ฉลองพระเดชพระคุณมาแต่รัชกาลก่อน สืบเนื่องมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์ในหลายวาระและทรงรับเป็นพระธุระในการส่วนพระองค์ให้ดำเนินลุล่วงไปด้วยความเรียบร้อย แบ่งเบาพระราชภาระได้เป็นอันมาก เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย อีกทั้ง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านสาธารณกุศลมาเป็นเวลายาวนาน ผ่านมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ซึ่งทรงรับเป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ทรงรับปฏิบัติงานที่คณะทูตถาวรแห่งประเทศไทย ประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก นอกจากนี้ ยังทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในด้านกฎหมาย ซึ่งทรงพระปรีชาสามารถเป็นอย่างยิ่ง ทรงรับราชการในตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานอัยการสูงสุด ทรงก่อตั้งโครงการกำลังใจ ในพระราชดำริ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขัง นับว่าได้ทรงปฏิบัติงานสร้างสรรค์ประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นอเนกประการ สมควรที่จะสถาปนาพระเกียรติยศให้สูงขึ้น ตามแบบอย่างโบราณราชประเพณี
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สถาปนาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายใน มีพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา กับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคลนพรัตนราชวราภรณ์เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พุทธศักราช 2562
พระราชกรณียกิจด้านต่างๆ ประกอบด้วย มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย จากความทุกข์ร้อนของประชาชนคนไทยจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า แม้จะสร้างความยากลำบากให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยจนไม่อาจหลีกเลี่ยง แต่ในสถานการณ์อันโหดร้ายเหล่านั้นพวกเขาไม่เคยต้องโดดเดี่ยว ด้วยน้ำพระทัยอันหาที่เปรียบมิได้ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถและ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงห่วงใยราษฎรมาตลอด นับตั้งแต่การเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อ พุทธศักราช 2538 ในปีนั้นถือเป็นปีที่ชาวกรุงเทพมหานครต้องเผชิญกับระดับน้ำ ในแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพุทธที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 2.27 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เป็นผลกระทบจากอิทธิพลของพายุโลอิส ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วม ทวีความรุนแรง น้ำปริมาณมากทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนครเป็นระยะเวลานานถึง 2 เดือน สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะเขตบางพลัด เขตบางกอกน้อย และเขตคลองสาน หน่วยงานภาครัฐและองค์กรต่างๆ พยายามเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย ในหลายพื้นที่แล้ว แต่ด้วยปริมาณน้ำที่เข้าท่วมนั้นมีมากและเป็นอุปสรรคในการลงพื้นที่บางส่วน จึงทำให้ความช่วยเหลือทำได้ไม่ทั่วถึงและประชาชนเกิดความเข้าใจผิด รู้สึกขาดที่พึ่งพิง และไม่ได้รับความเท่าเทียมจากหน่วยงานราชการ
กระทั่งรุ่งเช้าของวันที่ 29 ตุลาคม พุทธศักราช 2538 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จฯ ลงพื้นที่ออกรับน้ำใจจากประชาชนที่สถานีบริการน้ำมันย่านคลองสาน เพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย จากนั้นในช่วงบ่าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เสด็จไปยังซอยจรัญสนิทวงศ์ 34 เขตบางกอกน้อย และซอยจรัญสนิทวงศ์ 82, 84 และ 86 เขตบางพลัด เพื่อเยี่ยมเยียนผู้ประสบอุทกภัยและสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้ประสบภัยกับหน่วยงานราชการพระราชกรณียกิจในครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการปฏิบัติภารกิจบรรเทาทุกข์ให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยเรื่อยมา
จนกระทั่งวันที่ 21 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2544 จึงทรงก่อตั้งมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ขึ้นอย่างเป็นทางการ โดย พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ทรงดำรงตำแหน่งเป็น นายกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดีกรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาทรงเป็นประธาน มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและเชื่อมโยงให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชน ร่วมกันเกื้อหนุนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามทุกข์ยากจากอุทกภัยและภัยพิบัติที่รุนแรง อันได้แก่ การร่วมกันระดมองค์ความรู้ นวัตกรรม กำลังแรงกาย ทุนทรัพย์ และจิตสาธารณะ เพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูอย่างครบวงจร รวมทั้งการพัฒนาอาชีพ และคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ผู้ทุกข์ยากน้อยกว่าช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากมากกว่า ผู้ที่แข็งแรงช่วยผู้อ่อนแอ เป็นต้น โดยมุ่งเน้นการประทังชีวิตและการฟื้นฟูสภาพจิตใจ มูลนิธิฯ ปฏิบัติงานและยึดหลักภายใต้แนวคิด “แบ่งปัน พอเพียง ยั่งยืน”
ตลอดการดำเนินงานที่ผ่านมา เมื่อเกิดอุทกภัยขึ้นครั้งใดภาพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่มักปรากฏอย่างแจ่มชัด พร้อมด้วยถุงยังชีพพระราชทาน ที่ไม่ใช่เพียงบรรจุสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของผู้ประสบอุทกภัยเท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์แห่งขวัญกำลังใจที่จะนำพาผู้ประสบภัยให้ก้าวพ้นช่วงเวลาวิกฤตที่เกิดขึ้นไปได้
โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะทรงแก้ไขปัญหาระหว่างคนและช้างป่าให้อยู่ร่วมกันอย่างสมดุล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงรับเป็นประธานที่ปรึกษาโครงการฯ กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงเป็นประธานคณะกรรมการฯ ด้วยทรงมีพระบรมราโชบายในการอนุรักษ์ป่าและช้าง รวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างคนและช้าง ตลอดจนมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการจัดการความขัดแย้งของคนกับป่าและการอนุรักษ์ช้างไทย ซึ่งเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับประเทศไทยมาช้านาน ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ทรงแก้ปัญหาคนกับช้างป่าด้วยการ พัฒนาแหล่งน้ำและส่งเสริมอาชีพให้ชาวบ้าน โดยมีพระราชดำริสร้างพื้นที่โครงการเร่งด่วน เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน เมื่อปี พุทธศักราช 2563 ที่ บ้านคลองมะหาด หมู่ที่ 14 อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา และพื้นที่เกษตรแปลงรวมบ้านหนองกระทิง หมู่ที่ 20 ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา (แก้มลิงคลองมะหาด) ช่วยเหลือทั้งคนและช้างตามวัตถุประสงค์ของ โครงการพัชรสุธาคชานุรักษ์ โดยเฉพาะการช่วยเหลือให้ประชาชนมีอาชีพที่ยั่งยืนตามสภาพภูมิศาสตร์ของแต่ละพื้นที่
โครงการกำลังใจ ในพระราชดำริ ทรงก่อตั้งเมื่อวันที่ 14 กันยายน พุทธศักราช 2544 เมื่อครั้งยังทรงเป็นนักศึกษากฎหมาย โดยครั้งแรกเสด็จฯ ทรงเยี่ยมผู้ต้องขังหญิง ณ ทัณฑสถานหญิงกลางแขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ด้วยความสนพระทัยในสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ต้องขัง โครงการนี้ได้ขยายความช่วยเหลือไปยังเด็กที่ติดท้องแม่ก่อนเข้าจำคุก รวมทั้งผู้ต้องขังหญิงสูงอายุ และเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ต้องขังหญิงได้กระจายไปทั่วโลก ทรงมีบทบาทสำคัญในการนำเสนอและยกร่างข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำต่อสหประชาชาติสำหรับการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิง ภายใต้ชื่อ “Enhancing Life for Female Inmates : ELFI”
มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริ จัดตั้งขึ้นด้วยพระประสงค์ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2557 โดยพระราชทานพระกรุณารับเป็นองค์ประธานมูลนิธิฯ เพื่อดำเนินกิจการตามพระราชดำริด้านสาธารณกุศลในการให้โอกาส การเป็นตัวกลางในการแสวงหาโอกาส และการพัฒนาชีวิตแก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอดีตผู้ต้องขังและผู้ต้องขัง ตลอดจนกระตุ้นเตือนให้สาธารณชนตระหนักถึงความสำคัญของการให้โอกาส สนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถกลับมาดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข
มูลนิธิ ณภาฯ เข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือในด้านดังกล่าว ตั้งแต่การทำความเข้าใจและฝึกอบรม ในขณะที่เป็นผู้ต้องขังที่ไม่มีโอกาสได้รับรู้ความเป็นไปของสังคมภายนอก ให้สามารถผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการของตลาด และในขณะที่พ้นโทษแล้วนั้นก็สามารถฝึกวิชาชีพต่อยอดเพิ่มเติม เพื่อให้รู้จักวิธีการใหม่ๆ ที่ข้อจำกัดของเรือนจำทำให้ไม่สามารถเรียนรู้ได้ อันเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ผลิต รวมทั้งสอนการบริหารจัดการทรัพยากร การผลิต เพื่อการรู้จักการประกอบอาชีพอย่างครบวงจร
แบรนด์ผลิตภัณฑ์ภายใต้ ณภาฯ ปัจจุบัน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มอุปโภคตรา “จัน” ที่มาจากคำว่า จันทรา อันแปลว่า พระจันทร์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ต้องขังนั้นไม่ได้พบเห็น เนื่องจากพวกเขาเหล่านั้นต้องเข้านอนตั้งแต่พระจันทร์ยังไม่มืด ประกอบกับกำแพงเรือนจำที่สูงทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสได้เห็นพระจันทร์ อันเป็นแสงสว่างของท้องฟ้าในยามค่ำคืน คำว่า จันทรา จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจของชื่อกลุ่มผลิตภัณฑ์ปัจจุบันของ ณภาฯ ที่อยากจะสื่อให้เห็นว่าพวกเขาอยากมีโอกาสเห็นพระจันทร์อย่างคนทั่วไปผลิตภัณฑ์ “จัน” จึงเป็นเสมือน “โอกาส” ที่จะมอบให้คนด้อยโอกาสเหล่านั้นได้เห็นว่าสังคมรับรู้และให้โอกาสในการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มบริโภคตรา “ธรา” โดยมูลนิธิ ณภาฯ มีหน้าที่เป็นตัวกลางในการเผยแพร่และจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อนำมาเป็นทุนในการสนับสนุนงานของมูลนิธิต่อไป
พระเกียรติคุณ ประกอบด้วย รางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2544 คณะกรรมการรางวัลสัญญาธรรมศักดิ์ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ถวายรางวัลนักศึกษากฎหมายดีเด่นประจำปี 2544 เป็นกรณีพิเศษแด่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ด้วยทรงเป็นตัวอย่างในด้านการศึกษาและด้านกิจกรรมนักศึกษา ตลอดเวลาที่ทรงศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้น พระองค์ทรงปฏิบัติเช่นนักศึกษาทั่วไปทั้งในด้านการศึกษา การเข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรตลอดจนกิจกรรมต่างๆ
รางวัล Medal of Recognition ทรงมีบทบาทสำคัญในระดับนานาชาติหลายอย่างเริ่มตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนพัชรกิติยาภา เพื่อการศึกษากฎหมาย การรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี โครงการกำลังใจ ในพระราชดำริฯ โครงการจัดทำมาตรฐานผู้ต้องขังหญิง หรือ ELFI (เอลฟี) การทรงงานด้านกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ หน่วยงาน UNODC (ยูเอ็นโอดีซี) สหประชาชาติ จึงพิจารณาทูลเกล้าฯถวายรางวัลเกียรติยศสูงสุดจากสหประชาชาติ
องค์ทูตสันถวไมตรี (Goodwill Ambassador) ของ UNIFEM โดย ดร.จีน เดอคูน่า ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) กล่าวว่า จากผลการดำเนินงาน โครงการกำลังใจในพระราชดำริของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ซึ่งพระราชทานความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ต้องขังสตรีและเด็กติดผู้ต้องขังและพระราชทานความช่วยเหลือให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสกลับตัวเป็นพลเมืองดี หน่วยงาน UNIFEM จึงขอพระราชทานกราบทูลเชิญเป็นองค์ “ทูตสันถวไมตรี” (Goodwill Ambassador) ในการต่อต้านความรุนแรงต่อผู้หญิง
มูลนิธิ/องค์กรในพระอุปถัมภ์ ประกอบด้วย มูลนิธิกุมาร โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า,มูลนิธิ ณภาฯ ในพระราชดำริสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา, เครือข่ายคนรักน้องหมา, กองทุนกำลังใจ และศูนย์ควบคุมสุนัข กทม. (ประเวศ)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี