เจาะลึก 9 งานศิลปะทำยอดประมูลสูงสุดในงาน ‘DRIVEN’ นิทรรศการและการประมูลงานศิลปะสุดยิ่งใหญ่โดย The Art Auction Center
สร้างตำนานบทใหม่ให้วงการประมูลงานศิลปะของไทยอีกครั้ง หลังจากที่ The Art Auction Center บริษัทประมูลศิลปะอันดับหนึ่งของไทย เปิดตัวนิทรรศการและการประมูลผลงานศิลปะส่งท้ายปลายปี 2567 ได้อย่างยิ่งใหญ่อลังการใน ‘DRIVEN’ ท่ามกลางเหล่านักสะสมและคนรักงานศิลป์ ที่ร่วมชื่นชมผลงานศิลปะทรงคุณค่าจากศิลปินชั้นนำของวงการจำนวน 133 ชิ้นอย่างใกล้ชิด
ภายในงานผู้ชมยังได้สัมผัสกับสุดยอดยนตรกรรมโดย 911 Assistant ศูนย์บริการ Porsche ระดับแนวหน้าของประเทศ ที่นำรถ Porsche รุ่นพิเศษอวดโฉมใจกลาง River City Bangkok บ่งบอกถึงดีไซน์อันประณีตและสมรรถนะที่เป็นเลิศ จัดแสดงเคียงข้างกับงานศิลปะ สร้างแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ในการค้นพบความงดงามที่ขยายขอบเขตออกไปมากกว่างานศิลปะ สื่อถึง 'แรงขับเคลื่อน' ซึ่งเป็นหัวใจของทั้งสองโลก ก่อนจัดประมูลเมื่อวันอาทิตย์ที่ 24 พฤศจิกายน 2567 และปิดยอดประมูลสูงสุดกว่า 41 ล้านบาท!
เบื้องหลังผลงานชิ้นเอก: 9 งานศิลปะทำยอดประมูลสูงสุดใน DRIVEN
งานศิลปะทำยอดประมูลสูงสุด ไม่เพียงสะท้อนความสวยงาม หากแต่เป็นเกิดจากการผสมผสานของหลากหลายปัจจัย ทั้งชื่อเสียงของศิลปิน เทคนิคที่ใช้ในการสร้างสรรค์ เรื่องราวเบื้องหลังผลงาน รวมถึงกระแสความนิยมในยุคนั้น ๆ มันคือการลงทุนทางด้านอารมณ์และจิตวิญญาณ สะท้อนถึงรสนิยมและความเข้าใจในคุณค่าของงานศิลปะ ทั้งยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงแนวโน้มของตลาดศิลปะในอนาคต ทำให้นักสะสมรู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นการประมูลที่ดุเดือด ราวกับเป็นการต่อสู้เพื่อให้ได้ครอบครองผลงานแห่งประวัติศาสตร์ มาเจาะลึกเบื้องหลัง 9 งานศิลปะที่ทำยอดประมูลสูงสุดในงาน DRIVEN กันดีกว่า!
1.ถวัลย์ ดัชนี “FISHING BOAT / ตังเก” (ปี 2510) สถิติการประมูล 5,454,350 บาท
ผลงานที่สะท้อนเส้นสายอันชับซ้อนทรงพลัง และสีโทนฟ้าสุขุม ถ่ายทอดความเงียบสงบและความลึกลับของท้องทะเล ภาพกึ่งนามธรรมของเรือที่แสดงอยู่บนฉากหลังของสีเขียวและฟ้าตัดสลับกันอย่างนุ่มนวลอัดแน่นไปด้วยอารมณ์ การเล่นแสงและเงา ที่จับเอาจังหวะการเคลื่อนไหวของระลอกคลื่น ปาดป้ายด้วยเกรียงเรียงตัวสอดประสานรูปเรขาคณิตสไตล์คิวบิสก์ ผลงานชิ้นสำคัญนี้ถูกแขวนประตับ ณ ห้องอาหารขององค์กร JUSMAGTHAI ในช่วงระหว่างสงครามเวียดนาม นับเป็นผลงานหายากที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างชัดเจน ในยุคที่ ถวัลย์ เพิ่งสำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ
2.ชาติชาย ปุยเปีย “UNTITLED” (ปี 2556) สถิติการประมูล 4,293,850 บาท
ธรรมชาติ เวลา ฤดูกาลผันผ่าน ชีวิตมนุษย์เวียนวน ก่อกำเนิดบุรุษบรรจบแล้วดับหาย ชาติชาย ปุยเปีย ถ่ายทอดความสันโดษ การแสวงหาและตระหนักรู้ของจิตภาวะภายใน สะท้อนความคิดและอารมณ์ในใจ แสดงความสงบผ่านสีหน้าและการใช้สี เหล่าผีเสื้อบินตอมดอมดม แทนสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนแปลงและเติบโตในมนุษย์ การเข้าใจ โอบรับและกลับคืนสู่สามัญนำมนุษย์หวนคืนสู่ธุลีดิน
3.ดำรง วงศ์อุปราช “GOLDEN MOUNT / ภูเขาทอง” (ปี 2504) สถิติการประมูล 3,249,400 บาท
ผลงานหายากชิ้นคัญของดำรงที่ส่องประกายตังเพชรเม็ดงามชิ้นนี้ สร้างสรรค์ขึ้นในยุคที่ศิลปินชนะรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติ ภาพนี้สะท้อนรายละเอียดอันประณีต ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นผิวลวดลายขัดสานของไม้ ลายแผ่นกระดานของฝาผนัง และพื้นผิววัสดุมุงหลังคา ที่ถูกวาดอย่างพิถีพิถันคงความสมจริง นำเสนอภาพภูเขาทอง ความงามของสถาปัตยกรรมบ้านเรือนและวิถีชีวิตอย่างไทย ที่กลั่นผ่านห้วงความคิดของศิลปิน อาศัย มุมมองนำเสนอในแนวตั้งแบบศิลปะสมัยใหม่ สะท้อนความเชื่อมโยงของชีวิตและศรัทธาทางศาสนาที่ถูกรวมเข้าไว้ด้วยกัน
4.ทวี นันทขว้าง “BIRD OF PARADISE” (ปี 2521) สถิติการประมูล 3,133,350 บาท
ผลงานเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism) ของทวี นันทขว้าง ศิลปินผู้รังสรรค์ผลงานศิลปะเหนือจริงคนแรก ๆ ของประเทศไทย Bird of Paradise ที่เห็นในภาพเป็นต้นไม้ที่ไม่มีอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง หากแต่เป็นต้นไม้ที่ถ่ายทอดจากจินตนาการของศิลปิน สร้างบรรยากาศที่อบอวลด้วยกลิ่นอายของความวิเวกวังเวงและลึกลับซับซ้อน ด้วยการใช้แสงสีที่ไม่มีอยู่จริง ผลงานชิ้นนี้จึงบ่งบอกถึงคาแร็กเตอร์ของทวีที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
5.ประเทือง เอมเจริญ “UNIVERSAL LOVERS / คู่รักจักรวาล” (ปี 2537) สถิติการประมูล 2,204,952 บาท
ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือ "จิตวิญญาณศิลปะ" เอกภพกว้างใหญ่ไร้สิ้นสุด ชั่วขณะที่ดวงดาวนับล้านกำลังสูญสลายแตกตับ บ้างระเบิดเพื่อก่อเกิดสายธารดาราใหม่ ท่ามกลางความอ้างว้างที่สสารกระจัดกระจายวุ่นวาย พลังของจักรวาลก็ดึงดูดเข้าหา นำพาคู่รักโคจรมาพบกัน ประเทืองถ่ายทอดความงามของปรากฏการณ์นามธรรมนั้น ด้วยคู่สีจัดจ้าน รายละเอียดเส้นสายบรรจงขับเน้นพลังของดาวฤกษ์ที่ปลดปล่อยสู่กันและกัน เปรียบเป็นเส้นทางนับพันปีแสง ชีวิตมนุษย์นั้นยืนยาวเพียงแสงดาวตกที่คาดผ่านฟ้า แต่ในช่วงเวลาเพียงพริบตานั้น ความรักของเราได้พบพาน
6.ทองไมย์ เทพราม “WHERE DID WE COME FROM? WHY WERE WE BORN? WHERE ARE WE GOING?” (ปี 2565) สถิติการประมูล 1,392,600 บาท
ผลงานจิตรกรรมร่วมสมัยขนาดใหญ่ของทองไมย์ นำเสนอการตั้งคำตามใคร่ครวญถึงชีวิต การเดินทางของตัวละครสรรพสัตว์ เอกลักษณ์การใช้สีสัน สดใส จัดจ้าน การแรเงาที่สร้างมิติรูปร่างให้ชัดเจนปรากฏในผลงาน อีกทั้งการนำหลักคิดทางพระพุทธศาสนาเป็นหัวใจในการสื่อสาร กล่าวถึงชีวิตที่ดำเนินไปตามวิถี เมื่อมีผู้ตื่นรู้และมีปัญญาเป็นแสงแห่งความรู้แจ้งนำทาง ย่อมมีผู้คนที่หลงย่ำเดินอยู่ในความมืด แต่เมื่อใดที่พวกเขาเลือกถอดผ้าผูกนั้นออก ตาของพวกเขาก็จะไม่มืดบอดอีกต่อไป
7.มือบอญ “WHAAM!” (ปี 2565) สถิติการประมูล 1,856,800 บาท
ผลงานชิ้นนี้ได้รับการจัดแสดงในนิทรรศการเดี่ยว "WHAAM!" ที่ Black Book Gallery เมืองเดนเวอร์ รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2565 ‘ผลงานชิ้นนี้วิพากษ์ศิลปะแนวป๊อปอาร์ตได้อย่างแยบยลในรูปแบบการ์ตูนคอมิกที่ดูสนุกสนาน ด้วยกองทัพนกน้อยแสนน่ารักทำหน้าที่เป็นกบฏทางปรัชญา ตั้งคำถามต่อแนวคิดการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัยในยุคแห่งการชื่นชมทางวัฒนธรรม การพิสูจน์ทราบแหล่งที่มาของความคิดในผลงานที่ใคร ๆ ก็เข้าถึงได้ หรือนี่จะเป็นเพียงการยืมมืออัตถิภาวนิยมเข้ามายกระดับภาพลักษณ์สิทธิบริโภคนิยม ติดป้ายให้เป็นศิลปะชั้นสูง แทนที่ข้อเท็จจริงด้วยความเชื่อศรัทธาสร้าง ความจริง อันบิดเมือนขึ้นมา มือบอญ อ้างอิงไอคอนของกระแสป๊อปอาร์ตลงในผลงาน ทั้งด้วยความยกย่องและตั้งคำถามไปพร้อมกัน
8.ประเทือง เอมเจริญ “ABSTRACT SCENERY / ทิวทัศน์นามธรรม” (ปี 2548) สถิติการประมูล 1,740,750 บาท
ผลงานชิ้นนี้ตีพิมพ์ในหนังสือและจัดแสดงในนิทรรศการ ‘ร้อยริ้วสรรพสีสัน’ ตำนานชีวิตและสังคม ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2559 สื่อถึงบทลำนำแห่งธรรมชาติที่มีบรรยากาศของช่วงเวลาและแสงแดดจากดวงอาทิตย์เป็นท่วงทำนอง ประเทือง จงใจปาดป้ายโครงสีทึบเข้ม หนักแน่น ที่บ่นระบายความทุกข์ยาก สะท้อนสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ในยามนั้น ผนวกกับการเคลื่อนไหวที่แปรงซ้อนทับเนื้อสีเป็นชั้น ๆ เมื่อการมาถึงของลัทธิศิลปะตะวันตกแผ่อิทธิพลในไทยช่วงปี พ.ศ. 2500 เกิดเป็นลีลาจิตรกรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากผลงานยุคอื่น เป็นงานศิลปะที่โอบรับกระบวนการแสวงหาทางศิลป์ที่เปี่ยมล้นด้วยจิตวิญญาณ
9.ถวัลย์ ดัชนี “อสรพิษ” (ปี 2520) สถิติการประมูล 1,160,500 บาท
อีกหนึ่งผลงานศิลปะหาชมยากของ ถวัลย์ ดัชนี ที่หลายคนมักคุ้นเคยจากภาพของช้าง ม้า วัว ควายเป็นส่วนใหญ่ หากแต่ภาพนี้ศิลปินสะบัดปลายพู่กันเป็นรูปอสรพิษกำลังอ้าปาก เพื่อจัดกรามให้เข้าที่หลังจากกลืนเหยื่อลงไป นอกจาก ‘อสรพิษ’ จะเป็นภาพที่แปลกตาและหาชมยากของศิลปิน เทคนิคที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานยังแปลกใหม่ ด้วยการนำพู่กันมากลึงให้เกิดเป็นน้ำหนักเพื่อสื่อถึงมัดกล้ามส่วนต่างๆ ของอสรพิษ ราวกับอสรพิษกำลังเคลื่อนไหวและมีชีวิตอยู่ในภาพวาด เป็นผลงานล้ำค่าที่ควรค่าแก่การสะสม
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีผลงานศิลปะอันโดดเด่นและหาชมยากจากศิลปินชื่อดังอีกมากมาย ที่สะท้อนเอกลักษณ์และมุมมองเฉพาะตัวที่น่าประทับใจอีกหลายชิ้น ทั้งนี้ The Art Auction Center ยังประกาศข่าวดีด้วยว่า เตรียมพบกับนิทรรศการและการประมูลครั้งสำคัญ ที่จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้!!!
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี