หลายคนมีโปรแกรมเดินทางกลับบ้าน หรือไปเที่ยวช่วงสิ้นปีนี้ซึ่งแม้ว่าทุกๆ การเดินทาง เราจะคาดหวังให้มีความสุขและสนุกสนานแต่บางครั้ง เราอาจเจอกับการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ หรืออาจพบอุบัติเหตุเล็กๆ น้อยๆ ได้ ถึงแม้ไม่เกิดกับเราก็อาจเกิดกับคนที่ไปด้วยกัน
ดังนั้น การมียาและเวชภัณฑ์พกไปด้วยก็ให้ความอุ่นใจได้ดี และเป็นการเตรียมการที่ดีด้วย
ก่อนอื่นเลย คนที่ไปเที่ยวบ่อยๆ
คงเตรียมถุงยา หรือกล่องยาที่พกพาไปด้วยเสมออยู่แล้ว สิ่งแรกที่อยากให้ทำก่อนไปเที่ยวทุกทริปเลยก็คือ เช็คยาและเวชภัณฑ์ทุกตัวก่อนว่าหมดอายุหรือเสื่อมสภาพไปแล้วหรือไม่ ของบางอย่างเราเตรียมไว้ไม่ได้ใช้เลยก็อาจจะหมดอายุไปแล้ว ถึงเวลาจะใช้ แต่อุตส่าห์แบกไป แล้วของเกิดหมดอายุ ก็เสียเวลาเปล่า จึงควรตรวจเช็คดูก่อนน่าจะดีที่สุด นอกจาก ดูที่วันหมดอายุแล้ว ขอให้ดูจากลักษณะภายนอกด้วย ถ้าลักษณะภายนอกของยาเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ต้องทิ้งไป รวมถึงยาที่เหลือในขวดยาหลังจากมีการเปิดใช้แล้ว ตัวอย่างบางคนอาจจะแบ่งยาออกมาใช้จากขวด หรือกระปุกใหญ่ ใส่ในซอง หรือขวดแบ่งเล็กๆ ยาแบ่งบรรจุแบบนี้ไม่ควรเก็บเกิน 6 เดือน
โดยปกติแนะนำให้เลือกแบบที่บรรจุแผงแยกเป็นเม็ดจะดีกว่าอีกอย่างที่มักพบว่าเป็นปัญหาก็คือพวกพลาสเตอร์ปิดแผล บางทีเก็บไว้นานๆ บรรจุภัณฑ์ก็เปื่อยหรือขาด การที่บรรจุภัณฑ์เปิดออกก่อนการใช้งาน ก็หมายความว่าพลาสเตอร์ชิ้นนั้นเสี่ยงการปนเปื้อน ถ้านำไปติดแผลก็เสี่ยงติดเชื้อได้ เช็คใช้ชัวร์ก่อนใช้ อันไหนหมดอายุหรือเสื่อมสภาพก็ทิ้งไปแล้วจัดของเติมใหม่ให้พร้อมใช้ก่อนออกเดินทางทุกครั้งดีที่สุด
สำหรับยาที่แนะนำให้เตรียม สำหรับการเดินทางไปเที่ยวควรเป็นยาสำหรับรักษาอาการเจ็บป่วยขั้นต้น เช่น (1) ยาเม็ดแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล (2) ยาเม็ดแก้แพ้ซึ่งถ้าเป็นแบบไม่ง่วงก็จะดีกว่าแบบง่วง ตัวอย่างชื่อยาก็เช่น เซตทิริซีน ลอราทาดีน เป็นต้น (3) ยาเม็ดบรรเทาอาการเมารถเมาเรือ เช่น ตัวยาไดเมนไฮดริเนท (4) ยาบรรเทาอาการท้องเสียผงถ่านคาร์บอน ซึ่งใช้เพื่อช่วยดูดซับสารพิษซึ่งอาจปนเปื้อน (5) ผงน้ำตาลเกลือแร่สำหรับช่วยเรื่องท้องเสียเช่นกัน (6) ยาแก้ท้องอืดแน่นท้อง ซึ่งมีหลายชนิด สามารถเลือกใช้ได้ตามความชอบ เช่น ตัวยาไซเมติโคน หรือยาที่มีส่วนประกอบตัวยาโซเดียมไบคาร์บอเนต เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมียาใช้ภายนอกก็มีความจำเป็นเช่นกัน ได้แก่ (1) แอลกอฮอล์ (2) โพวิโดนไอไอดีน (3) พลาสเตอร์ สำหรับจัดการกับแผล(4) ยานวดแก้ปวดเมื่อย รวมถึงยาดม ยาหม่อง (5) ยาทาหรือสเปรย์กันยุง(6) หน้ากากอนามัยสำรอง เผื่อเกิดเป็นหวัดระหว่างเที่ยว คนที่เป็นจะได้มีไว้ใส่เพื่อจะไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น หรือเอาไว้ใส่เวลาเดินทางกับขนส่งสาธารณะที่คนเยอะๆ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นก็ได้เช่นกัน
ยาที่เตรียมไปทุกชนิดควรมีฉลากชื่อยา วิธีใช้ รวมถึงมีวันหมดอายุระบุบนภาชนะบรรจุยาด้วย
ยาชนิดสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ ที่ต้องเตรียมก็คือ ยาสำหรับโรคประจำตัวและควรเตรียมในจำนวนเกินกว่าจำนวนวันที่จะใช้สักหน่อย เผื่อมีการเลื่อนวันเดินทางกลับ ไม่ว่าจะมาจากกรณีใดๆ ก็ตาม เราจะได้ยังมียาเหลือพอที่จะใช้
ส่วนท่านที่มีความเจ็บอาการเจ็บป่วยใดๆ ที่เป็นอยู่บ่อยๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร เพื่อเตรียมยาที่ท่านเคยใช้
สุดท้ายนี้ ท่านที่ต้องเดินทางด้วยการขับรถ ก็ขอให้ระมัดระวัง ขับขี่ด้วยความปลอดภัย พักผ่อนให้พอ และไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการเดินทาง และไม่เจ็บป่วยระหว่างการเดินทาง
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี