เผยผลการศึกษาสำรวจภาวะเสี่ยงต่อโลหิตจางในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปีนี้ ด้วยเครื่องมือ Masimo Rad-67 ซึ่งเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประเทศไทย และองค์การอาหารและยาจากสหรัฐอเมริกา พบว่า เด็กไทยถึง 1 ใน 3 มีความเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจาง โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงสุดคือเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี การศึกษายังพบว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงประกอบด้วย เด็กผู้หญิง หรือเด็กที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และเด็กที่เคยมีประวัติภาวะโลหิตจางมาก่อน นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่าเด็กที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองและชนบทมีโอกาสเสี่ยงเท่าๆ กัน
ผลการสำรวจดังกล่าว มาจากงานวิจัยที่สำรวจความชุกของภาวะเสี่ยงต่อโลหิตจางในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ด้วยเครื่องมือตรวจวัดระดับฮีโมโกลบินแบบไม่ต้องเจาะเลือด ได้ให้ข้อมูลสำคัญที่จะช่วยพัฒนาสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กเล็ก โดยครอบคลุมทั้งข้อมูลความชุกของโรคและความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะโลหิตจาง ผลการศึกษาทางคลินิกที่ดำเนินการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนี้ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสำคัญดังกล่าว พร้อมนำเสนอแนวทางการพัฒนาภาวะโภชนาการในประเทศไทย การศึกษานี้ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญในการจัดการกับความเสี่ยงกับภาวะดังกล่าวนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ โดยใช้วิธีตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางเชิงรุก ซึ่งควรทำการตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้นสำหรับเด็กเล็ก
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (IDA) เกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีธาตุเหล็กไม่เพียงพอต่อการสร้างเม็ดเลือดแดงที่สมบูรณ์ ธาตุเหล็กมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง และมีบทบาทสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย การพัฒนาระบบภูมิคุ้มกัน และการพัฒนาสมอง แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่ที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางจะไม่แสดงอาการ แต่ในรายที่รุนแรงอาจพบอาการต่างๆ เช่น ขาดสมาธิ อ่อนเพลีย อ่อนแรง วิงเวียน เล็บเปราะ และผิวซีด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการโดยรวม และ/หรือก่อให้เกิดความบกพร่องทางสมองอย่างถาวรได้
ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองอย่างถาวร เนื่องจากธาตุเหล็กมีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ประสาทและการพัฒนาระบบประสาทและสมองให้สมบูรณ์ จากการศึกษาพบว่า เด็กที่มีภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กมีความเสี่ยงที่จะมีระดับไอคิวต่ำกว่าเด็กในวัยเดียวกันถึงร้อยละ 13 นอกจากผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองแล้ว ภาวะนี้ยังส่งผลต่อพัฒนาการด้านอื่นๆ ได้แก่ การเจริญเติบโต ทักษะการเคลื่อนไหว ระดับพลังงานในร่างกาย และการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน
ผลการศึกษานี้ ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทย 3 ใน 4 คนได้รับธาตุเหล็กไม่เพียงพอ สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม เช่น การหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ หรือเลือกรับประทานอาหารในรูปแบบที่ธาตุเหล็กดูดซึมได้ยาก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีความรู้ในการจัดเตรียมอาหารอย่างถูกวิธี ทั้งการเลือกแหล่งอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงและการเสริมวิตามินซี ที่น่าวิตกคือ เด็กที่มีภาวะโลหิตจางมากกว่าร้อยละ 90 ไม่แสดงอาการผิดปกติให้เห็น ทำให้ไม่ได้ไปตรวจคัดกรอง
ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์จาก 6 ประเทศ ในอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะนำให้มีทางเลือกในการตรวจคัดกรองภาวะโลหิตจางตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อลดผลเสียต่างๆ ต่อสุขภาพที่จะตามมาเครื่องมือตรวจคัดกรองแบบที่ไม่ต้องเจาะเลือดเป็นหนึ่งในทางเลือกที่สามารถใช้ได้ ทั้งนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) แนะนำว่าควรพาเด็กเข้ารับการตรวจคัดกรองครั้งแรกช่วงอายุ 6-12 เดือน และตรวจครั้งที่สอง เมื่ออายุ 3-5 ปีเพื่อให้รู้แต่เนิ่นๆ ในกรณีที่มีภาวะโลหิตจาง นอกจากนี้ การให้ผลิตภัณฑ์เสริมธาตุเหล็กสามารถช่วยลดความเสี่ยงของภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กและใช้เป็นกลยุทธ์ในการป้องกันได้
การป้องกันและจัดการภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก ควรเริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงในชีวิตประจำวัน หรือเลือกธาตุเหล็กเสริมในรูปแบบที่ดูดซึมได้ง่าย เช่น เฟอรัสซัลเฟต ภายใต้การดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้ การรับประทานวิตามินซีร่วมกับธาตุเหล็กในอัตราส่วน 1:3 จะช่วยเพิ่มการดูดซึมธาตุเหล็กได้มากถึง 3 เท่า ทั้งนี้ การได้รับธาตุเหล็กในปริมาณที่เพียงพอมีความสำคัญอย่างยิ่งในการป้องกันภาวะโลหิตจาง
รศ.พญ.สุชาอร แสงนิพันธ์กูล หนึ่งในคณาจารย์ด้านโภชนาการเด็ก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กรรมการเครือข่ายโภชนาการช่วงแรกของชีวิต…ประเทศไทย และหัวหน้าคณะผู้วิจัย ร่วมแบ่งปันมุมมองในการประชุม ELN ภายใต้หัวข้อ “ภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในหญิงตั้งครรภ์และเด็กอายุ 0-5 ปี : ปัญหาสุขภาพระยะยาวของเด็กไทย” ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ว่า “ข้อมูลที่เราได้จากการรวบรวมชี้ให้เห็นถึงปัญหาสาธารณสุขที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพบว่าเด็กเล็กในไทยมีอัตราการเกิดภาวะโลหิตจางและภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กในระดับสูง การศึกษานี้ยังตอกย้ำถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองตั้งแต่ระยะแรก เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงและให้การดูแลป้องกันผลกระทบต่อพัฒนาการในระยะยาว เป้าหมายสำคัญของเราคือการเสริมสร้างความรู้และศักยภาพให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ปกครอง และผู้กำหนดนโยบาย เพื่อร่วมกันดำเนินมาตรการเชิงรุก ให้มีการเจาะเลือดคัดกรองภาวะโลหิตจางในเด็กเล็ก รวมทั้งอาจพิจารณาใช้นวัตกรรมการตรวจคัดกรองแบบไม่เจาะเลือดร่วมเป็นทางเลือกในการคัดกรองในสถานที่ที่มีข้อจำกัดในการเจาะเลือด และการส่งเสริมโภชนาการที่เหมาะสม โดยเฉพาะการบริโภคอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงซึ่งจะเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับสุขภาพและพัฒนาการของเด็กไทยอย่างยั่งยืน”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี