“นักโทษเทวดา”, “เทวดาชั้น 14” เป็นวลีที่สื่อและคอการเมืองวิพากษ์วิจารณ์กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับพระราชทานอภัยโทษ ลดโทษจากจำคุก 8 ปีในคดีทุจริต เหลือจำคุก 1 ปี แต่ไม่เคยต้องอยู่ในเรือนจำแม้แต่วันเดียว โดยนับตั้งแต่เดินทางกลับมาประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 ยังไม่ทันครบ 24 ชั่วโมง ก็ถูกส่งตัวไปพักที่ชั้น 14โรงพยาบาลตำรวจ โดยอ้างเหตุผลด้านความเจ็บป่วยรุนแรง และพักอยู่ยาวจนครบ 6 เดือน ก่อนได้รับอนุญาตให้เข้ามาตรการพักโทษ กลับไปอยู่ที่บ้านได้ในช่วง 6 เดือนที่เหลือ ก่อนพ้นโทษในเดือน ส.ค. 2567
ซึ่งตลอดกระบวนการก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า “ทักษิณป่วยจริงหรือไม่?”, “มีใครใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องหรือเปล่า?” จนมีผู้ไปร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ตรวจสอบ โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 51 ดำเนินการไต่สวนเจ้าหน้าที่ของรัฐสังกัดกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวม 12 คน
อีกด้านหนึ่ง ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งยื่นเรื่องเดียวกันให้ศาลฎีกาตรวจสอบ ได้กล่าวกับรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2567 ว่า ในส่วนของ ป.ป.ช. ก็ว่ากันไป แต่ในส่วนของตนก็จะไปยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา อย่างไรก็ตาม กระบวนการของ ป.ป.ช. น่าจะใช้เวลานาน โดยประมาณแล้วคือ 1-2 ปี
กล่าวคือ ป.ป.ช. มีเวลาไต่สวนตามกฎหมายเบื้องต้นคือ 180 วัน และต่อได้อีก 60 วัน ซึ่งผ่านไปแล้ว จากสำนักงาน ป.ป.ช. มาถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งก็ตั้งเป็นองค์คณะไต่สวนเอง แต่ในชั้นนี้จะมีระยะเวลาไต่สวนอยู่ที่ 1 ปี และจะตั้งอนุกรรมการมาดำเนินการก็ได้ แต่ครั้งนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เลือกดำเนินการไต่สวนเอง และหากตนจำไม่ผิดก็น่าจะต่อเวลาได้อีก 1 ปี รวมเป็น 2 ปี
เมื่อผ่านกระบวนการไต่สวนแล้ว องค์คณะก็ต้องทำความเห็นสรุปส่งให้ประธาน ป.ป.ช. เพื่อให้ประธานสั่งนำเข้าที่ประชุมใหญ่ของ ป.ป.ช. ก็จะใช้เวลาอีก 30 วัน หรือต้องไม่ช้ากว่า 60 วัน เพื่อให้ประธานพิจารณามีคำสั่งนำเข้าที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเมื่อเข้าที่ประชุมใหญ่แล้ว ก่อนจะมีมติชี้มูลความผิดก็ยังต้องเปิดให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจงด้วย น่าจะใช้เวลาราว 180 วัน ไปจนถึง 1 ปี และแม้จะผ่านชั้น ป.ป.ช. แล้ว ก็จะต้องส่งไปให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งจะใช้เวลาอีกเท่าใดก็ไม่รู้ แต่คดีนี้จะอยู่ที่ ป.ป.ช. คือไม่ต่ำกว่า 2 ปี และไปต่อที่ศาลซึ่งอาจใช้เวลาอีก 1 ปี
ขณะที่ในส่วนของตนที่ยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องย้อนไปในการยื่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 เรื่องพฤติกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าหน้าที่ ไล่ตั้งแต่ส่งตัวเข้าเรือนจำ และออกจากเรือนจำมา รพ.ตำรวจ ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์มีอำนาจส่งตัวผู้ต้องขังออกไปรักษานอกเรือนจำ แต่มีปัญหาต้องพิจารณาคือเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
อย่างไรก็ตาม กรณีการชี้ขาดปัญหานี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงยกคำร้องไม่มีการไต่สวน ซึ่งหากเป็นเรื่องการทุจริตหรือใช้อำนาจโดยมิชอบ ก็ต้องไปผ่านขั้นตอนของ ป.ป.ช. และไปต่อที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จากนั้นในวันที่ 15 ก.พ. 2567 ตนได้ยื่นเรื่องเป็นครั้งที่ 2 คราวนี้เป็นเรื่องข้อกฎหมายล้วนๆ เพราะมีกฎหมายระบุว่า การส่งผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำต้องแจ้งให้ศาลทราบ จึงถามไปว่าเป็นอำนาจศาลหรือกรมราชทัณฑ์ ซึ่งศาลก็แจ้งว่าไม่มีการมาขอ แบบนี้ก็เท่ากับเป็นอำนาจของศาล
ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิฯ อาญา) มาตรา 246 ว่าด้วยเรื่องการทุเลาโทษ และเคยมีตัวอย่างคดีเกิดขึ้นแล้ว เป็นกรณีหญิงตั้งครรภ์ร้องเรียนกรณีอธิบดีกรมราชทัณฑ์ไม่ให้ส่งตัวออกไปพักรักษานอกเรือนจำ แต่สุดท้ายศาลมีคำสั่งให้นำตัวออกไปรักษาโดยใช้เหตุเรื่องทุเลาโทษ คดีนี้สู้กันถึงชั้นฎีกา และศาลได้วางบรรทัดฐานว่าการทุเลาโทษตาม ป.วิฯ อาญา มาตรา 246 ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีมาตรการทุเลาโทษก่อนบังคับคดีเท่านั้น หมายถึงจะใช้การทุเลาโทษก่อนหรือหลังบังคับคดีก็ได้
แต่เรื่องนี้กฎหมายจะมีความแตกต่างกันอยู่ หากเป็นมาตรการทุเลาโทษตาม ป.วิฯ อาญา จะถือว่าระหว่างออกไปนอกเรือนจำไม่ถือว่ากำลังถูกจำคุก แตกต่างกับการใช้อำนาจของอธิบดีกรมราชทัณฑ์ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ (ทั้งฉบับเดิมปี 2479 และฉบับปัจจุบันคือปี 2560) โดยมีกฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552
ซึ่งเริ่มยกร่างกันในปี 2551 สมัยที่ สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี และ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
และเมื่อรัฐบาลนายสมัครพ้นไป รัฐบาลชุดต่อมาที่ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็น รมว.ยุติธรรม ก็หยิบร่างกฎกระทรวงนี้มาทำต่อ ซึ่งปัจจุบันกฎกระทรวงฉบับนี้ยังไม่ได้ถูกยกเลิก โดยในหมวด 2 การขังตาม ป.วิฯ อาญา ม.246 ในข้อ 24 ระบุว่า “ให้ผู้ดูแลสถานที่ขังสอบถามผู้ถูกขังในเรื่องอาการเจ็บป่วยหรือความผิดปกติของสภาพร่างกายและจัดทำบันทึกในเบื้องต้น
หากพบว่ามีอาการเจ็บป่วยหรือเห็นว่าจะต้องได้รับการรักษาเป็นพิเศษ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว ต้องรีบจัดการให้ผู้ถูกขังได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ในกรณีที่ผู้ถูกขังตามวรรคหนึ่งมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษานอกสถานที่ขัง ให้ผู้ดูแลสถานที่ขังนำตัวผู้ถูกขังไปรักษาพยาบาลยังสถานพยาบาลที่ใกล้เคียงได้และให้รายงานต่อศาลซึ่งสถานที่ขังนั้นตั้งอยู่ในเขตอำนาจ” ดังนั้น ก็ต้องรายงานต่อศาลด้วย
ซึ่งการที่ วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า เมื่อศาลสั่งขังแล้วที่เหลือเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ รวมถึง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ก็เคยให้ความเห็นว่า ป.วิฯ อาญา ม.246 หากไม่ขอก็ไม่เกี่ยวกับศาล เป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ แต่ตามระเบียบก็บอกอยู่ว่าให้แจ้งต่อศาล ดังนั้น รมว.ยุติธรรม ตอบแบบขัดต่อกฎหมายของตนเอง
ส่วนที่ไปอ้างถึงกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ.2563 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 นั้น ใน พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 ก็ระบุว่าการออกกฎกระทรวงต้องไม่ขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่สำคัญคือทั้งนายวิษณุ และ พ.ต.อ.ทวี รู้หรือไม่ว่า กฎกระทรวงกำหนดสถานที่อื่นที่ใช้ในการขัง จำคุก หรือควบคุมผู้ต้องหา จำเลย หรือผู้ซึ่งต้องจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด พ.ศ. 2552 ยังไม่ได้ถูกยกเลิก ยังมีผลบังคับใช้อยู่
“อันนี้ทำผิดกันเยอะ ถ้าไม่เกิดเรื่องนี้ก็ไม่ได้ค้นตัวนี้ออกมาใช้กัน แล้วก็รู้กันอยู่ไม่ใช่ไม่รู้ คนที่ปฏิบัติจริงคือราชทัณฑ์ เพราะใช้ระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมออกให้ราชทัณฑ์ ถ้าปัจจุบัน (กฎกระทรวงปี 2563) ที่เอาคุณทักษิณไป มันมีอยู่ 2 โรคเอง เป็นโรคสุขภาพจิตหรือโรคติดต่อ ไม่บอกว่าโรคไหล่เอียงหรืออะไรทั้งสิ้น แต่อันนี้ (กฎกระทรวงปี 2552) เป็นโรคไหนก็แล้วแต่ เอาไปรักษาเลย แต่ไปแจ้งให้ศาลรู้ ถ้าแจ้งให้ศาลรู้ศาลจะไต่สวนทันที หรือจะไม่ไต่สวน แต่ต้องแจ้งก่อน” นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวต่อไปว่า ส่วนข้อมูลนี้จะมีการยื่นไปที่ ป.ป.ช. หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคนที่จะไปยื่น ป.ป.ช. แต่สำหรับตนคือจะไปยื่นต่อศาล เพราะในเมื่อไม่แจ้งแล้วศาลจะว่าอย่างไร หากศาลจะไม่พิจารณาก็แล้วแต่ศาล อย่างที่นายวิษณุบอกว่าไม่เกี่ยวกับศาล ตนก็ยืนยันด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ส่วนคำถามว่าเหตุใดไม่รีบยื่นตั้งแต่ช่วงก่อนหน้านี้ เป็นเพราะตนต้องการรอให้ข้อเท็จจริงปรากฏและมีใครเกี่ยวข้องบ้าง เช่น ตนอาจอ้างข้อมูลจาก ป.ป.ช. ที่ตั้งองค์คณะไต่สวน ให้ศาลเรียกไต่สวนก็ได้ แต่จะยังไม่รีบยื่นเพราะต้องให้ละเอียดและตรงตามข้อเท็จจริงที่สุด
โดยเรื่องนี้มีประเด็นต้องวิเคราะห์ 1.ความเคลื่อนไหวของนายทักษิณสอดคล้องกับเรื่องอาการป่วยหรือไม่ 2.การที่นายทักษิณยื่นเรื่องขออภัยโทษ มีข้อสังเกตว่า ล่าสุดนายวิษณุบอกว่าเห็นนายทักษิณเข้าเรือนจำ ก่อนจะถูกส่งออกมา รพ.ตำรวจในช่วงกลางดึก แต่ก่อนหน้านั้นนายวิษณุเคยบอกว่าไม่ได้ไปในคืนนั้น แต่ไปในเช้าวันรุ่งขึ้นเพราะมีคนโทรศัพท์ไปบอก แต่ไม่ว่านายทักษิณจะถูกจำคุกจริงหรือไม่ นายวิษณุ รวมถึง พ.ต.อ.ทวี ถือเป็นคนหนึ่งที่เข้าข่ายร่วมกระทำผิดในการช่วยเหลือนายทักษิณ
ส่วนประเด็นการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของนายทักษิณ และมีกระแสข่าวว่านายทักษิณอาจหวนคืนสู่การเมืองถึงขั้นจะกลับมาเป็นนายกฯ หลังการเลือกตั้งปี 2570 เรื่องนี้จะทำได้ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะปัจจุบันนายทักษิณมีประวัติเคยถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง แต่หากทำแบบนั้นก็เหมือนนายทักษิณเป็นเทวดา แล้วบ้านเมืองจะอยู่กันอย่างไร
อนึ่ง ตนจับตาดูพฤติกรรมนายทักษิณมา 20 ปี นายทักษิณเป็นคนมีวิบัติในตนเอง ไม่รู้จักพอ ใครเตือนก็ไม่ฟังและยังสร้างศัตรูไม่รู้จักหยุด ซึ่งบรรดาคนที่เป็นใหญ่เป็นโตในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ขุนพลหรืออะไรก็แล้วแต่ หากวิบัติเหล่านี้จับตัวกันหายนะก็เกิดขึ้นทั้งตระกูล ไม่ใช่เฉพาะตัวบุคคลที่สร้างปัญหานั้นเพียงคนเดียว ส่วนคำถามว่าจะมีการลงถนนชุมนุมของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลหรือไม่ ก็ต้องดูว่ารัฐบาลได้ทำอะไรไปถึงขั้นล้ำเส้นจนประชาชนทนไม่ไหวแล้วหรือยัง ซึ่งหากไปถึงขั้นนั้นแล้วประชาชนก็จะออกมากันเอง
ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าความถูกต้องจะมาล้างความไม่ถูกต้องไม่เช่นนั้นมนุษย์ก็อยู่ไม่ได้ ทุกอย่างจะเกิดอย่างอัตโนมัติ คนจะออกมาเต็มท้องถนนก็ต่อเมื่อนายทักษิณท้าทายอำนาจประชาชนนายทักษิณกำลังทำให้บ้านเมืองเสียหาย เกิดการทุจริต ซึ่งกำลังมีการจับตามองโครงการต่างๆ ที่รออนุมัติกันอยู่ เพราะคนไทยไม่ได้กินแกลบกินหญ้า ตนเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม ซึ่งกรรมทางการเมืองจะเกิดขึ้นเร็วมาก ใครทำดีก็ทำไปเพราะนั่นก็คือความสุขแล้ว แต่คนที่ทำชั่วแล้วบอกว่าได้ดี ตนยังมั่นใจว่าหากเป็นแบบนั้นจริง อย่าว่าแต่ประเทศไทย โลกนี้ไม่ควรจะอยู่ได้แล้ว
“พฤติกรรมของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีทั้งหลายที่ทุจริต นักการเมืองที่ทุจริต ประชาชนเขาไม่ปล่อยให้คุณทำต่อไปแล้ว เดี๋ยวเขาจะมาเอง อย่าว่าแต่ 20 30 50 คนเลย 100 คนไปพูดอย่างไรถ้าเขาไม่ทำผิดปลุกอย่างไรก็ไม่ขึ้น”นายชาญชัย กล่าว
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี