อาทิตย์ที่แล้ว ชวนทุกท่านคุยเรื่องยาที่ควรเตรียมเมื่อต้องเดินทางแล้ว วันนี้ขอนำเสนอถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยเวลาเดินทาง คือ อาการเมารถเมาเรือ จนถึงเมาเครื่องบิน ซึ่งอาจจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของท่านไม่สนุก ในบางครั้งอาจจะถึงกับทำให้ทริปล่มได้เลย
อาการเมารถเมาเรือ ซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า motion sickness ซึ่งแปลตรงๆ คือป่วยจากการเคลื่อนที่ เพราะเมื่อมีการเคลื่อนที่ เช่น การนั่งในรถ เรือ เครื่องบิน หรือการเล่นเครื่องเล่นในสวนสนุก ไม่ว่าจะเป็น ม้าหมุน รถไฟเหาะ ไวกิ้งฯลฯ ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันระหว่างภาพที่ตาเห็น กับข้อมูลทางประสาทสัมผัสที่หูชั้นในรับรู้โดยเฉพาะการเคลื่อนที่อย่างเร็ว หรือคดเคี้ยว การเคลื่อนที่ขึ้น-ลง การเคลื่อนที่หมุนเหวี่ยง ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการที่รุนแรงมากขึ้น
อาการเมารถเมาเรือ ที่เกิดขึ้นอาจอยู่ในระดับเบาๆ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ก็อาจมีอาการปวดหัว ใจสั่น แน่นหน้าอกเหงื่อแตก อาเจียน หน้าซีด รู้สึกเหมือนจะเป็นลมได้ และอาการเมารถเมาเรือนี้บางคนเป็น บางคนไม่เป็น บางคนเป็นบางวัน บางวันก็อาจจะไม่เป็น จากข้อมูลพบว่าเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี มีความเสี่ยงมากกว่าผู้ใหญ่ ผู้หญิงเป็นมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนตั้งครรภ์ หรือกำลังใช้ยาฮอร์โมน พบว่าเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเรื่องเมารถเมาเรือมากเป็นพิเศษ สำหรับคนที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเมารถเมาเรือได้ เช่น โรคปวดหัวแบบไมเกรน และโรคพาร์คินสัน ดังนั้น ถ้าพิจารณาแบบรวมๆ ก็คือเด็กวัยรุ่นผู้หญิงที่กำลังมีประจำเดือนและมีอาการปวดหัวไมเกรนบ่อยๆ เป็นคนที่เสี่ยงเมารถเมาเรือมากกว่าใครเพื่อน
บางท่านอาจสงสัยว่า ทำไมคนที่เป็นคนขับรถถึงไม่ค่อยเมารถ หรือบางคนตอนขับไม่เมา แต่ตอนนั่งรถที่คนอื่นขับกลับเมาเสียอย่างนั้น คำตอบก็คือคนที่ขับรถ เขาจะอยู่ตำแหน่งที่ต้องมุ่งความสนใจไปข้างหน้าตลอดเวลา ความสัมพันธ์ระหว่างการมองเห็นกับการรับรู้ของการเคลื่อนที่ย่อมดีกว่าคนที่นั่งโดยสารในรถนั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนนั่งที่ประเดี๋ยวก็มองข้างหน้า เบื่อแล้วก็มองข้างทาง บางทีก็ก้มเล่นมือถือ กลุ่มนี้สักพักก็จะจบลงด้วยอาการเมารถ
อย่างไรก็ตาม อาการเมารถเมาเรือนี้ก็ป้องกันได้แนะนำว่าก่อนการเดินทาง 30-60 นาที ให้กินยาชื่อไดเมนไฮดริเนต 50 มิลลิกรัม 1 เม็ด ยานี้ค่อนข้างปลอดภัย และราคาไม่แพง ในร้านสะดวกซื้อบางแห่งก็มีขาย ถ้าการเดินทางยาวนาน หรืออาการยังไม่ทุเลาก็สามารถกินซ้ำได้ทุก 6 ชั่วโมง โดยจำนวนเม็ดต่อวันมากที่สุดที่กินได้อยู่ที่ 8 เม็ด หรือไม่เกินวันละ 400 มิลลิกรัม อาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยจากยานี้คือ ง่วงนอนปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า เป็นต้น ผู้ที่ควรระวังการใช้ยานี้คือผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคต้อหิน หรือมีโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งยาทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นได้
นอกจากการใช้ยาแล้ว การป้องกันหรือบรรเทาความรุนแรงของอาการเมารถเมาเรือก็สามารถทำได้เช่นกัน เริ่มจาก (1) หากรู้กำหนดการเดินทางแน่นอน คืนก่อนหน้านั้นก็นอนให้พอ อย่าอดนอน (2) อย่าปล่อยให้ท้องว่าง ควรรองท้องด้วยอาหารเบาๆ แต่ก็อย่ากินเยอะเกินไปจนท้องแน่นอึดอัด (3) เตรียมพกยาดมหรือลูกอมรสเปรี้ยวๆ (4) ถ้าเลือกได้ให้นั่งข้างหน้ากับคนขับ เพราะเป็นจุดที่เราสามารถมองข้างหน้าได้ชัดเจนและลดโอกาสมองด้านข้าง รวมถึงพยายามล็อกเป้ามองไปเส้นขอบฟ้าข้างหน้าให้ได้มากที่สุด หรือถ้าเป็นเครื่องบินก็ให้นั่งตรงปีก (5) หลีกเลี่ยงการเล่นมือถือหรืออ่านหนังสือระหว่างนั่งรถ (6) พกยาแก้เมารถเมาเรือไปด้วยและรับประทานก่อนล้อหมุน หรือเครื่องบินขึ้นสัก 30-60 นาที
สุดท้ายแล้วหากเกิดอาการเมารถเมาเรือขึ้น ทางที่ดีที่สุดควรกินยาแล้วนอนพัก เชื่อว่าถ้าได้หลับพักสัก 1-2 ชั่วโมง อาการเมารถก็น่าจะทุเลาลงจนสามารถทำภารกิจให้ลุล่วงแล้วเสร็จจนได้ และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา สามารถสอบถามได้ที่ line @guruya
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี