นอกจากกาลเวลาแล้ว “ความร้อน ความชื้น และเชื้อรา นับเป็นตัวเร่งสำคัญในการลบและทำลายร่องรอยทางประวัติศาสตร์เอกสาร ภาพวาด ภาพถ่ายและแผนที่โบราณ” ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมหลายร้อยปีต่างแปรสภาพ กระดาษเปื่อย สีจางและรางเลือนความชื้นจับ ราขึ้น ฝุ่นเกาะ เหล่านี้เป็นปัญหาที่นักอนุรักษ์ทั่วโลกและชาวหนอนหนังสือทั้งหลายพยายามแสวงหาวิธีที่จะแก้ไขเพื่อยืดอายุประวัติศาสตร์และความทรงจำที่จารึกบนกระดาษ
ในต่างประเทศการเก็บหนังสือ ผลงานศิลปะ และเอกสารในห้องสมุดต่างๆ อยู่ในมือนักอนุรักษ์เอกสารโบราณ หรือนักวิทยาศาสตร์อนุรักษ์ (Conservator) ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มีความรู้ในการเก็บหนังสือ หรือวัตถุทรงคุณค่าตามกฎการอนุรักษ์ โดยจะใช้สารเคลือบวัตถุที่มีลักษณะใกล้เคียงกับเนื้อวัตถุ ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแปรสภาพเนื้อวัตถุ แต่ในประเทศไทยยังไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ การเก็บรักษาหนังสือและเอกสารโบราณจึงมักอยู่ในถุงพลาสติกซิปล็อก เก็บวางไว้ในที่แห้งและเย็น ซึ่งสามารถชะลอความเสื่อมของหนังสือได้ระยะหนึ่ง แต่ก็ชะลอได้ไม่นานนัก
ปัญหาดังกล่าวได้จุดประกายให้ “ทีมนักวิจัยของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ร่วมกันคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม “น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ” ที่เหมาะสมกับอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทย โดยทีมวิจัยประกอบด้วย ดร.ลัญจกร อมรกิจบำรุง นักวิจัยหลังปริญญาเอก C2F ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์, รศ.ดร.คเณศ วงษ์ระวี ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ อาจารย์ ดร.ภณิตา ศิลปวิทยาดิลก ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์
นวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษได้รางวัลสิ่งประดิษฐ์คิดค้น ระดับดี ประจำปี 2567 จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และหอสมุดชั้นนำหลายแห่งในประเทศก็ได้นำไปใช้จริงแล้วด้วยโดยการชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณต่างๆ ซึ่ง ดร.ลัญจกร กล่าวว่า น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไม่เพียงเหมาะกับการอนุรักษ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ ภาพวาดและภาพถ่ายโบราณเท่านั้น สำหรับบุคคลทั่วไปยังช่วยในการรักษาเอกสารสำคัญ หนังสือเล่มโปรด ภาพวาดและภาพถ่ายที่อยากเก็บให้คงสภาพและรักษาสีสันดั้งเดิมเอาไว้ให้นานขึ้นด้วย
ดร.ลัญจกร เล่าต่อไปว่า น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษเป็นนวัตกรรมที่ต่อยอดจากงานวิจัยระดับปริญญาเอก ขณะที่ศึกษาอยู่ ณ มหาวิทยาลัยกราซ (University of Graz) ประเทศออสเตรีย ซึ่งโจทย์วิจัยในตอนนั้น คือ การค้นหาวิธีรักษาเอกสารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์จำนวนมากในห้องสมุดให้คงอยู่ ไม่สลายไปตามกาลเวลา โดยมีเงื่อนไขว่าต้องใช้สารสกัดจากธรรมชาติ ไม่ทำให้กระดาษแปลงสภาพ และช่วยยืดอายุ ชะลอความเสื่อมสภาพของกระดาษได้นาน 10 ปีขึ้นไป และเมื่อผลการวิจัยประสบผลสำเร็จด้วยดี จึงคิดจะต่อยอดเมื่อกลับมาประเทศไทย
“สภาพอากาศแบบประเทศไทย กระดาษมีความเสี่ยงที่จะเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าในประเทศที่มีสภาพอากาศแห้งและหนาวเย็น เราจึงต้องเอางานวิจัยนี้มาพัฒนาปรับสูตรให้เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศเรา สูตรสารเคลือบกระดาษที่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทยได้ผ่านการพิสูจน์ Aging Test ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าได้ผล
เราจำลองสภาพแวดล้อมในห้องทดลองที่อุณหภูมิสูงถึง 80 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสูง 75% เป็นระยะเวลา 7 วันติดต่อกัน ซึ่งเทียบเท่ากับการอยู่ในอากาศภายนอก 20 ปี แล้วนำผลมาตรวจสอบความเปลี่ยนแปลงของกระดาษที่ถูกเคลือบ พบว่ากระดาษที่เคลือบน้ำยาจะเหลืองน้อยกว่าไม่เกิดเชื้อรา เนื้อกระดาษมีความแข็งแรงกว่ากระดาษที่ไม่ได้เคลือบน้ำยา” ดร.ลัญจกร กล่าว
ดร.ลัญจกร อธิบายว่า น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก 100% ผลิตจากเซลลูโลสที่สกัดได้จากพืชและใช้เทคโนโลยีนาโนคอมโพสิต จึงปลอดภัยทั้งกับวัสดุกระดาษต่างๆ และผู้ใช้งาน สามารถใช้ได้กับวัสดุที่มีส่วนประกอบจากเซลลูโลสทุกประเภท เช่น กระดาษ หนังสือ เอกสารโบราณ งานศิลปะ สิ่งทอ งานไม้เป็นต้น โดยน้ำยาจะช่วยปกป้องและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดาษและวัสดุได้ยาวนานถึง 15-20 ปี โดยไม่เปลี่ยนแปลงสภาพของกระดาษ สีวาด หมึกพิมพ์ และองค์ประกอบของหนังสือ
มีคุณสมบัติกันน้ำ กันความชื้น กันรังสียูวี กันเชื้อรา กันฝุ่นและคราบสกปรก ไม่ทำให้กระดาษเหลือง ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดาษได้มากถึง 65% ทั้งนี้ น้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ ได้จดอนุสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว และมีการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้า “SalvaStory (ซัลวาสตอรี)” โดยทีมวิจัยได้พัฒนาไว้ 2 สูตร คือ 1.สูตรอนุรักษ์หนังสือ น้ำยาเคลือบจะมีความเข้มข้นสูง ป้องกันน้ำช่วยเสริมความยืดหยุ่น ยืดอายุกระดาษ ไม่ทำให้กระดาษเป็นคลื่น ไม่ทิ้งคราบบนกระดาษ
ลักษณะบรรจุภัณฑ์มี 2 แบบ คือ 1.1 น้ำยาเคลือบบรรจุขวดแกลลอนสามารถเทน้ำยาใส่ภาชนะและนำหนังสือมาชุบได้เลย เหมาะกับบรรณารักษ์หอสมุด และประชาชนผู้ที่มีหนังสือเก่าหรือหนังสือทรงคุณค่าจำนวนมาก กับ 1.2สเปรย์สำหรับฉีดพ่น เหมาะสำหรับผู้ต้องการฉีดพ่นแผ่นเอกสารขนาดใหญ่ เช่น โฉนดที่ดิน แผนที่ขนาดใหญ่ หรือผู้ที่มีหนังสือเล่มบางๆ ที่ต้องการยืดอายุ
กับ 2.สูตรอนุรักษ์งานศิลปะ เป็นน้ำยาแบบพ่นเคลือบ ไร้สี ไร้กลิ่นฉุน ไม่เพิ่มความเงากระดาษทนน้ำ ใช้ได้กับสีไม้ สีน้ำ สีชาร์โคลสีชอล์ก สีอะคริลิก ดินสอแกรไฟต์ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเพิ่มคุณสมบัติทนน้ำให้กระดาษ ลดการหลุดลอกของสี ลดความเสี่ยงเกิดคราบเหลือง ไม่เปลี่ยนสภาพกระดาษและสีบนงานศิลปะ แต่สูตรนี้จะเข้มข้นน้อยกว่าสูตรอนุรักษ์หนังสือ
ในการใช้งาน “กรณีชุบเคลือบหนังสือ” มี 4 ขั้นตอน คือ 1.เทน้ำยาใส่ภาชนะ 2.จุ่มแช่หนังสือลงไปทั้งเล่ม ให้น้ำยาท่วมและซึมเข้าหนังสือทั้งเล่ม นาน 5-10 นาที 3.ยกหนังสือขึ้นจากน้ำยาเคลือบ 4.ผึ่งลมหนังสือให้แห้ง จะปิดหนังสือ หรือเปิดหน้าหนังสือไว้ก็ได้ น้ำยามีคุณสมบัติแห้งไวประมาณ 2-3 ชั่วโมง ขณะที่ “สเปรย์น้ำยาเคลือบ” มี 3 ขั้นตอน คือ 1.เขย่าขวดก่อนใช้งาน 2.ฉีดพ่นน้ำยาเคลือบบนภาพวาด ภาพถ่าย หน้าหนังสือ หรือเอกสารที่ต้องการเคลือบให้เปียกชุ่ม ทั้งด้านหน้าและด้านหลังทั่วทั้งชิ้นงาน 3.ผึ่งลมรอแห้ง ประมาณ 5 นาที
ดร.ลัญจกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนังสือหรือเอกสารกระดาษที่แห้งกรอบมากๆ แนะนำว่า “สามารถชุบหรือพ่นซ้ำได้ (หลายครั้ง) โดยรอให้การเคลือบรอบก่อนหน้าแห้งสนิทแล้วค่อยทำซ้ำ” ก็จะยิ่งช่วยเพิ่มความยืดหยุ่น และแข็งแกร่งแก่เอกสารกระดาษชุดนั้น” แต่ก็ยอมรับว่า ข้อจำกัดเดียวในขณะนี้ของน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ คือราคายังสูงอยู่พอสมควรเพราะสารบางอย่างยังหายากและราคาแพง
หลังผลิตออกมาใช้งานจริง มีสถานที่เก็บเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่งได้นำไปใช้ อาทิ หอสมุดกลางและหอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ฯลฯ ได้นำน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษไปใช้ชุบเคลือบหนังสือเอกสารโบราณแล้ว ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทีมวิจัยจึงเตรียมพัฒนาให้ครอบคลุมการอนุรักษ์ด้านอื่นๆ ต่อไป
“ทีมวิจัยเรามองการพัฒนาไว้ 2 แนวทางด้วยกัน แนวทางแรก เราจะพัฒนาผลิตภัณฑ์น้ำยาเคลือบให้มีประสิทธิภาพทั้งปกป้องวัตถุ และสามารถฆ่าเชื้อราที่เกิดขึ้นแล้วได้ด้วย ส่วนแนวทางที่สอง เราอยากจะต่อยอดนวัตกรรมนี้ให้ใช้กับโบราณวัตถุประเภทอื่นๆ ได้ด้วย เช่น งานไม้และงานปูนปั้น โดยน้ำยาเคลือบจะต้องไม่เป็นสารแปลกปลอมหรือส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเนื้อโบราณวัตถุไปจากเดิมตามกฎของการอนุรักษ์” ดร.ลัญจกร กล่าวทิ้งท้าย
ผู้สนใจสามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับนวัตกรรมน้ำยาเคลือบยืดอายุกระดาษ SalvaStory (ซัลวาสตอรี) ได้ที่เว็บไซต์ https://www.chula.ac.th/highlight/197364/
ศูนย์สื่อสารองค์กร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี