เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567 ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) หรือ NSM พร้อมด้วย Ms.Marissa Whitten Assistant to Cultural Affairs สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย เป็นประธานมอบรางวัลการประกวดในการแข่งขันโครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talks (UniTi Talks 2024) รอบชิงชนะเลิศ เวทีสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์อย่างสร้างสรรค์ ระดับอุดมศึกษา ที่ห้องประชุม IT Auditorium พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ NSM คลองห้า จ.ปทุมธานี
ผศ.ดร.รวิน กล่าววว่า การแข่งขัน UniTi Talks 2024 ปีนี้จัดขึ้นในหัวข้อ “UniTi Talks on STI for Climate Change การสร้างความตระหนักรู้, การลดผลกระทบ และการปรับตัวต่อเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” การแข่งขันครั้งนี้เป็นมากกว่าการแข่งขัน มันคือการจุดประกายให้เกิดเครือข่ายนักสื่อสารวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่พร้อมจะขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวข้ามผ่านวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปด้วยกัน ผลงานของเยาวชนในครั้งนี้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า วิทยาศาสตร์สามารถเปลี่ยนโลกได้ และเราเชื่อมั่นว่าอนาคตของประเทศไทยจะสดใสขึ้นด้วยพลังของเยาวชนเหล่านี้
“การแข่งขัน UniTi Talks 2024 ไม่เพียงแต่เป็นเวทีในการแสดงความสามารถของนักศึกษา แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคการศึกษา ภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนให้กับประเทศไทยและโลกอีกด้วย” ผศ.ดร.รวิน กล่าว
Ms. Marissa Whitten, Assistant to Cultural Affairs สถานทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ University Students’ Science, Technology and Innovation Talks (UniTi Talks 2024) เกิดจากการผนึกกำลังความร่วมมือกันระหว่าง NSM สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และศูนย์ข้อมูลและวัฒนธรรมอเมริกัน (American Corners) และมหาวิทยาลัยเครือข่าย 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ถือเป็นกิจกรรมที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาฯ ให้ความสำคัญเพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนในอนาคต ผ่านการสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะประเด็นของ Climate Change ที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงสำคัญของนักสื่อสารวิทย์รุ่นใหม่ที่จะได้ถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจไปสู่สาธารณชนได้ต่อไป และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลในลำดับที่ 1-3 ที่ได้รับโอกาสเดินทางไปศึกษาดูงาน ณ สหรัฐอเมริกาในเดือน เม.ย. 68 หวังว่าเวทีนี้จะช่วยสร้างเครือข่ายของกลุ่มนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ พร้อมสร้างบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรุ่นใหม่ เพื่อให้ก้าวต่อไปเป็นนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพให้กับประเทศไทยในอนาคต
ทั้งนี้ ผลการแข่งขันปรากฏว่า น.ส.กชกร คล่องแคล่ว นักศึกษาแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ในหัวข้อ “Who Kills The Sharks?” ด้วยไอเดียปลาฉลามช่วยลดโลกร้อน โดย น.ส.กชกร กล่าวถึงหัวข้อที่นำเสนอว่าเป็นเรื่อง “Who Kills The Sharks?” อาจจะฟังดูแปลกใหม่ แต่จริง ๆ แล้วปลาฉลามมีส่วนสำคัญในการรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งส่งผลต่อการลดภาวะโลกร้อนอย่างมากเลยนะคะ สิ่งสำคัญที่สุดในการสื่อสารวิทยาศาสตร์ คือ การเล่าเรื่องให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาและร่วมกันแก้ไขค่ะ ใครจะเชื่อว่า สัตว์นักล่าสุดโหดอย่างปลาฉลาม จะกลายเป็นฮีโร่ที่ช่วยปกป้องโลกได้
ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ตกเป็นของ น.ส.ลักษิกา จันทนะรัตน์ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์มหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ CBG: Move Forward to the Bigger Step Together ซึ่ง น.ส.ลักษิกา เผยว่า หัวข้อที่นำมาเสนอคือ CBG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถใช้กับรถ NGV และ CNG ได้ สิ่งสำคัญคือการใช้เชื้อเพลิง CBG จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ นอกจากนี้การใช้ก๊าซ CBG ในการขนส่งยังสามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เทียบเท่ากับก๊าซ NGV อีกด้วย
ด้าน นายปัณณ์พิตรา ภูธร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในหัวข้อ Fast Fashion: W.E.A.R. Solutions กล่าวว่า ตนเลือกหัวข้อที่นำเสนอเกี่ยวกับการใช้เสื้อผ้ามือสอง การใส่เสื้อผ้าซ้ำเพื่อลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่ หรือ การนำชุดที่มีอยู่แล้วมาตัดแต่งใหม่ให้เป็นแฟชั่นที่สร้างสรรค์และยั่งยืน สิ่งเหล่านี้สามารถเริ่มต้นได้ด้วยตัวเราเองและยังสามารถแนะนำและบอกต่อเพื่อนๆ ได้อีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชย (Honorable Mention) อีก 5 รางวัล ได้แก่ น.ส.สิริโชค โกศัลวิตร จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ โลกรวน... ป่วนสุขภาพ น.ส.ณรีกานต์ สิงขรรัตน์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ เมืองของทุกชีวิต นายสุขปวัตน์ เมืองสมบัติ จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในหัวข้อ ถ้าหมอมา-แต่หนีหาย-เพราะหมายหนี นายพีรัช ชุ่มแก้ว จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในหัวข้อ Climate Change แล้ว Education Change หรือยัง? นางสาวเตชินี อนังคพันธ์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในหัวข้อ Flooding Relate to Food Security:Effects From Climate Change และอีกหนึ่งรางวัลพิเศษ Out of the Box ได้แก่ นายเกียรติศักดิ์ โพธาวิมลจรัส จากมหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันพระบรมราชชนก ในหัวข้อ 3 SAVE SEX – รักเธอยังไงให้รักษ์โลกไปด้วย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี