เหตุสะเทือนขวัญที่คนร้ายใช้รถปิกอัพก่อเหตุรุนแรงถึง 2 ครั้งซ้อนในวันขึ้นปีใหม่ที่สหรัฐฯ สร้างความหวาดกลัวเป็นวงกว้างถึงการกลับมาของการก่อการร้าย ที่เคยคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากในโลกตะวันตก ยุคที่กลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส เรืองอำนาจ สำนักงานสอบสวนกลาง หรือ เอฟบีไอ ต้องเร่งหาคำตอบว่า ไอเอสเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน
วันขึ้่นปีใหม่ 1 มกราคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ เผชิญเหตุรุนแรง 2 เหตุการณ์ในวันเดียวกัน ทั้งเหตุคนร้ายขับรถปิกอัพที่เช่ามา พุ่งชนฝูงชนที่กำลังรวมตัวเฉลิมฉลองวันขึ้นไปใหม่ บนถนนเบอร์เบินในย่านเฟรนช์ ควอเตอร์ ย่านประวัติศาสตร์และแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของเมืองนิวออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียนา ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 ศพ และได้รับบาดเจ็บอีก 35 คน ก่อนออกจากรถมายิงใส่เจ้าหน้าที่และถูกยิงวิสามัญ
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังเกิดเหตุรถปิกอัพไฟฟ้า ไซเบอร์ทรัค ที่ผลิตโดยบริษัทเทสลา ระบิดด้านนอกโรงแรมทรัมป์ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮเต็ล ในเมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดา มีคนในรถเสียชีวิต 1 ศพ และคนอื่นๆ บาดเจ็บอีก 7 คน
จากการสืบสวนของตำรวจพบว่าผู้ก่อเหตุขับรถพุ่งชนคนบนถนนท่องเที่ยวชื่อดังใน นิวออร์ลีนส์ อาจได้รับแรงบันดาลใจมาจากกลุ่มรัฐอิสลาม หรือไอเอส เนื่องจากพบธงสัญลักษณ์ของกลุ่มไอเอสอยู่ในรถ รวมทั้งพบคลิปวีดีโอที่ แชมซุด-ดิน จาบบาร์ ผู้ก่อเหตุชาวอเมริกัน วัย 42 ปี จากรัฐเท็กซัส ระบุว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากไอเอส และเข้าร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายกลุ่มนี้ แม้ว่าจนถึงขณะนี้ กลุ่มไอเอสจะยังไม่ได้ออกมาอ้างว่าอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีในครั้งนี้
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขั้นตอนและวิธีการในการก่อเหตุสะเทือนขวัญครั้งนี้แทบจะลอกแบบมาจากคู่มือการก่อการร้ายของไอเอส โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเหตุการณ์จากกล้องวงจรปิดที่สามารถจับภาพของรถปิกอัพสีขาวที่ขับมาตามถนน ก่อนที่จะเร่งความเร็วและหักเลี้ยวเข้าไปในถนนเบอร์เบิน เพื่อพุ่งชนผู้คนที่ออกมาเดินถนนในค่ำคืนของการเฉลิมฉลอง เหตุการณ์นี้จบลงหลังจากผู้ก่อเหตุลงจากรถและเปิดฉากยิง ก่อนที่จะถูกตำรวจวิสามัญฆาตกรรม โดยมีผู้เสียชีวิตจากเหตุโจมตีอย่างน้อย 14 ศพ และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 35 คน
เจ้าหน้าที่สืบสวนยังพบในเวลาต่อมาว่า รถปิกอัพทั้งสองคันที่ใช้ในการก่อเหตุทั้งสองเหตุการณ์นี้ ถูกเช่ามาจากบริษัทเช่ารถผ่านแอปพลิเคชั่นบริษัทเดียวกัน จนมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า สองเหตุการณ์นี้มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่พบความเชื่อมโยงของทั้งสองเหตุการณ์นี้ และมุ่งเน้นประเด็นการก่อการร้ายในเหตุการณ์ขับรถพุ่งชนคนที่นิวออร์ลีนส์เป็นหลัก
นับตั้งแต่ปี 2557 ที่กลุ่มไอเอสประกาศให้ผู้สนับสนุนใช้วิธีขับรถพุ่งชนคนถ้าไม่สามารถวางระเบิดหรือก่อเหตุกราดยิงได้ เหตุโจมตีที่นีซในวันชาติฝรั่งเศสเมื่อปี 2559 ก็กลายเป็นการก่อการร้ายจากฝีมือนักรบไอเอส ที่ใช้รถพุ่งชนคนครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 86 ศพ และอีกหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บ
เหตุการณ์ดังกล่าวตามมาด้วยการโจมตีในลักษณะคล้ายๆ กันในหลายเมืองใหญ่ของโลกตะวันตก เช่น เหตุขับรถบรรทุกพุ่งชนคนในตลาดคริสต์มาสที่กรุงเบอร์ลินของเยอรมนี เหตุขับรถชนคนบนสะพานเวสต์มินเตอร์ ด้านนอกอาคารรัฐสภาในกรุงลอนดอนของอังกฤษเหตุขับรถพุ่งชนคนบนถนนท่องเที่ยวในบาร์เซโลน่าของสเปน ไปจนถึงที่นิวยอร์ก เมื่อปี 2560 ที่ผู้ก่อเหตุโจมตีโดยมีเป้าหมายเพื่อเข้าร่วมกลุ่มไอเอส
จุดร่วมอย่างหนึ่งของการก่อเหตุเหล่านี้ นอกจากเรื่องแนวคิดอิสลามสุดโต่งแล้ว ก็คือ การใช้วิธีการใดในการก่อเหตุก็ได้ เพื่อคร่าชีวิตของผู้คนให้ได้มากที่สุด โดยตามตำราของไอเอส นั่นก็คือ การขับรถพุ่งชน ก่อนจะเริ่มเปิดฉากยิง หรือไล่แทงคน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็มักจะจบลงด้วยการที่ผู้ก่อเหตุถูกวิสามัญฆาตกรรม
ไม่น่าแปลกใจที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้ายหลายคนจะออกมาตั้งข้อสังเกตว่า กลุ่มเกี่ยวข้องกับตัวผู้ก่อเหตุมากน้อยแค่ไหน และมีบทบาทในเหตุโจมตีที่นิวออร์ลีนส์ ในฐานะแรงบันดาลใจหรือเป็นผู้สั่งการโดยตรง
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เอฟบีไอและซีไอเอ ต่างส่งสัญญาณตรงกันว่า สหรัฐฯ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญเหตุก่อการร้าย โดยเฉพาะนับตั้งแต่สถานการณ์ในตะวันออกกลางร้อนระอุจากเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2566 ซึ่งเจ้าหน้าที่พบว่า กลุ่มไอเอสใช้โฆษณาชวนเชื่อบนสื่อสังคมออนไลน์และชักจูงคนให้เข้าเป็นสมาชิก เพื่อก่อเหตุโจมตีในสหรัฐฯ
การขับรถพุ่งชนคนเป็นการโจมตีที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่กลุ่มผู้ก่อเหตุที่มีแนวคิดอิสลามสุดโต่งเท่านั้น เรายังเห็นเหตุโจมตีลักษณะนี้ด้วยสาเหตุอื่นๆ บ่อยมากขึ้น เช่น ที่ ชาร์ลอตส์วิลล์รัฐเวอร์จิเนีย เมื่อปี 2560 ผู้ก่อเหตุมีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาวและขับรถชนผู้ประท้วงต่อต้านแนวคิดดังกล่าว ส่วนเหตุโจมตีในออนแทริโอ เมื่อปี 2564 ผู้ก่อเหตุชาวแคนาดาซึ่งมีแนวคิดเชิดชูคนผิวขาว ตั้งใจขับรถชนครอบครัวชาวมุสลิม ขณะที่บางเหตุการณ์ ผู้ก่อเหตุอาจมีปัญหาด้านสุขภาพจิต เครียดหรือโกรธแค้นสังคม อย่างเช่น ที่จีน เมื่อปลายปีที่แล้ว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตที่ศูนย์กีฬาในเมืองจูไห่มากถึง 35 ศพ
เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เอฟบีไอจับมือกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิและศูนย์ต่อต้านการก่อการร้ายแห่งชาติ ประกาศคำเตือนไปยังตำรวจเกี่ยวกับภัยคุกคามร้ายแรงจากผู้ก่อเหตุที่ลงมือเพียงลำพัง ในช่วงเทศกาลฤดูหนาว หน่วยงานในสหรัฐฯ ประเมินว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะพุ่งเป้าโจมตีไปที่สถานที่สาธารณะที่ใช้จัดงานรวมตัวขนาดใหญ่ แต่มีการรักษาความปลอดภัยต่ำกว่าที่อื่นๆ โดยจะใช้วิธีก่อเหตุที่ไม่ซับซ้อน เช่น ใช้มีดไล่แทงคน ใช้ปืนกราดยิง หรือขับรถพุ่งชนคน เนื่องจากเป็นวิธีที่ไม่ต้องผ่านการฝึกซ้อม เข้าถึงอาวุธได้ง่ายและก่อให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง
ในระยะหลังๆ มานี้ สถานการณ์ก่อการร้ายในโลกตะวันตกดูจะไม่ได้รุนแรงเหมือนในอดีต โดยรายงานดัชนีก่อการร้ายโลกฉบับล่าสุด ชี้ว่า เมื่อปี 2566 เกิดเหตุก่อการร้ายในโลกตะวันตก 25 เหตุการณ์ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 21 ศพต่ำที่สุดในรอบ 15 ปี แต่สถานการณ์ในสหรัฐฯ เลวร้ายกว่าชาติอื่นๆ ตัวเลขผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งเผชิญเหตุโจมตีที่เข้าข่ายก่อการร้ายไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง
สามารถเรียกได้ว่า สถานการณ์ก่อการร้ายเริ่มเปลี่ยนไปอีกครั้ง ในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯกำลังจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคมนี้สะท้อนโจทย์ใหญ่การแก้ปัญหาและป้องกันเหตุก่อการร้าย มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นประเด็นหลักในวาระงานของเขา
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี