สวัสดีปีใหม่ 2568 กับผู้อ่านอย่างเป็นทางการเป็นอันดับแรก และเชื่อว่าสัปดาห์ที่แล้วทุกท่านน่าจะเฉลิมฉลองวันปีใหม่กันอย่างมีความสุขและเชื่อหลายๆ ท่านคงมีเวลาทบทวนชีวิตในปีที่ผ่านไป หลายๆ ท่านคงเป้าหมายและปณิธานปีใหม่เพื่อเป็นหมุดหมายของชีวิต
หลายคนอาจจะตรวจสอบดวงชะตาว่าปีงูเล็กจะมีผลอย่างไรกับเรา ไม่ว่าจะการงาน การเงิน ความรัก สุขภาพ
บางครั้งผู้เขียนสงสัยเหมือนกันว่า ทำไมหัวข้อสุขภาพถึงมักอยู่ท้ายสุดทุกทีในคำอวยพรเพราะตามความเป็นจริงแล้ว ถ้าสุขภาพมีปัญหา เรื่องงาน เงิน หรือความรักก็คงไม่น่าจะดี
ดังนั้นในปณิธานปีใหม่ จึงขอให้ตั้งเป้าหมายเรื่องสุขภาพดีขึ้นเป็นข้อแรกๆ เริ่มต้นจากเรื่องอาหารการกิน เช่น ลดมันเค็มลงจากเดิม
ลดการกินอาหารแปรรูป อาหารปิ้งย่าง และอาหารทอด เป็นต้น จะช่วยทำให้สุขภาพดีขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มค่าใช้จ่าย
ส่วนคนที่ติดบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์หนักๆ ต้องถนอมปอดกับตับให้อยู่กับเรานานขึ้น โดยลด ละ เลิกให้ได้ ปัจจุบันเรามีเทคนิค และมียาช่วยลด ละ เลิกได้แล้ว จึงขอแนะนำให้คุณๆ ที่มีปัญหาข้างต้นไปปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
อีกประเด็นหนึ่งคือ อย่าลืมการตรวจร่างกายประจำปี เมื่อเรามีอายุมากขึ้น จำเป็นต้องตรวจคัดกรองโรคที่เรามีความเสี่ยงมากกว่าปกติ และควรพบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
ส่วนผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว แล้วมักละเลยการรับประทานยาให้สม่ำเสมอ ลืมกินยาเป็นประจำ ก็จะต้องตั้งเป้าหมายว่าจะมีวินัยกินยารักษาตัวให้ครบถ้วนต้องหาวิธีการทำให้ไม่ลืมกินยา เป็นต้น
แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้สำหรับทุกคนคือการออกกำลังกายให้พอเหมาะกับสภาพร่างกายของอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อรักษาสุขภาพกายแล้วต้องดูแลสุขภาพใจด้วย เพราะใจกับกายต้องไปด้วยกัน คนที่ใจยังไม่ป่วย ก็ต้องคงสภาพที่ดีไว้ แต่อาจจะต้องพัฒนาทักษะการจัดการความเครียดเพิ่มขึ้น เพราะดูทรงแล้วเศรษฐกิจปีหน้าไม่น่าจะดีกว่าปีนี้ วางแผนให้ดี เตรียมคิดหาทางแก้ปัญหาไว้ล่วงหน้า มีแผนรองรับกรณีเกิดภาวะวิกฤต เดินทางสายกลาง มองโลกตามความเป็นจริงเผื่อใจไว้กรณีไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าถึงเวลาแล้วไม่ไหวจริงๆ ก็ขอให้พิจารณาปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่นนักจิตวิทยา จิตแพทย์ เป็นต้น
อย่าคิดว่าโรคจิตเวชเป็นที่น่าอาย กายป่วยได้ ใจก็ป่วยได้ เป็นเรื่องธรรมดามาก คนที่ไม่ยอมรับเรื่องความเจ็บป่วยทางใจต่างหากที่ใจแคบ และกรณีที่เจ็บป่วยทางใจก็ใช้ยาได้เช่นกัน ที่สำคัญคือต้องกินยาตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่าเพิ่มลดหรือหยุดยาเองเป็นอันขาด เพราะยาจิตเวชมีอาการไม่พึงประสงค์หลากหลาย บางอย่างก็ไม่รุนแรง เช่น ง่วงซึม แต่บางอย่างก็รุนแรงมากเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ เป็นต้น
ผู้เขียนขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามบทความ “รู้เรื่องยากับเภสัชจุฬาฯ” มาโดยตลอดหวังว่าบทความต่างๆ จะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของท่านผู้อ่าน ขอเรียนว่าคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่คู่ประเทศไทยมาจนย่างเข้าปีที่ 112 นับตั้งแต่โรงเรียนปรุงยา จวบจนเป็นคณะเภสัชฯ จุฬาฯ ในปัจจุบัน พวกเราขอปณิธานว่าเราทุกคนตั้งใจให้คำปรึกษา และดูแลเรื่องยาและผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับสุขภาพทั้งหลายให้กับสังคม เพื่อให้ทุกคนในประเทศไทยของเรามีสุขภาพกาย และใจที่ดี
ท้ายที่สุดนี้ ขออาราธนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ท่านเคารพนับถือ โปรดดลบันดาลให้ทุกท่าน มีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงตลอดปี 2568 และตลอดไป
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี