เจย์ โจว (Jay Chou) หรือ โจวเจี๋ยหลุน เป็นนักร้องป๊อปชื่อดังชาวจีนที่มีพรสวรรค์ด้านดนตรี เขาคือผู้สร้างสรรค์ผลงานเพลงที่ถ่ายทอดความโรแมนติก ความคิดถึงวันวาน และเสน่ห์ของวัฒนธรรมจีนดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม หากแฟนๆ เปิดฟังเพลงของเขาในช่วงนี้ อาจจะนึกถึงสิ่งใหม่ๆ อย่างเช่น “แมงมุม”
งานวิจัยวิทยาศาสตร์ฉบับล่าสุดที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนเพลงชาวจีน จากการตั้งชื่อแมงมุมสายพันธุ์ใหม่ 16 สายพันธุ์ตามชื่อเพลงที่โด่งดังของนักร้องวัย 45 ปี รายนี้
แมงมุมสายพันธุ์ใหม่เหล่านี้ซึ่งถูกจัดอยู่ใน 6 สกุล ได้รับการค้นพบที่สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนาแห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จวบจนถึงปัจจุบันจีนพบแมงมุมทั้งหมด 920 สายพันธุ์ในสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ที่มีขนาดใหญ่11 ล้านตารางเมตร และได้รับการยกย่องว่าเป็นสถานที่ที่มีความหลากหลายของสายพันธุ์แมงมุมมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ชื่อของแมงมุมเหล่านี้ได้แก่ “อันจิ้ง” (Silence-เงียบสงบ), “หลงเฉวียน” (Dragon Fist-หมัดมังกร), “เย่ฉวี่” (Nocturne-บทเพลงแห่งรัตติกาล), “ไฉ่หง” (Rainbow-สายรุ้ง) และ “เต้าเซียง” (Rice Field-นาข้าว) ซึ่งนักวิจัยบันทึกชื่อเหล่านี้ด้วยพินอินในเอกสารภาษาอังกฤษที่ตีพิมพ์ในวารสาร “การวิจัยด้านสัตววิทยา : ความหลากหลายและการอนุรักษ์” (Zoological Research :Diversity and Conservation) เมื่อเดือนธันวาคมของปี 2024
เมื่อถูกถามถึงแรงบันดาลใจในการตั้งชื่อ หลี่ซูเฉียง หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบันสัตววิทยา แห่งสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนได้ให้คำตอบที่น่าประทับใจ โดยกล่าวกับสำนักข่าวซินหัว ว่า สมาชิกในทีมของเขาทุกคนที่เกิดช่วงปี 1980-2000 ล้วนเป็นแฟนเพลงตัวยงของนักร้องและนักแต่งเพลงจากไต้หวันรายนี้ “พวกเขาเติบโตมากับการฟังเพลงของเจย์ โจว”หลี่กล่าว พร้อมเสริมว่าทีมงานมักฟังเพลงของเจย์ โจว ในเวลาว่างอันนำไปสู่การตัดสินใจตั้งชื่อสายพันธุ์แมงมุมทั้ง 16 ตามชื่อเพลงของเขา
ส่วนการเลือกชื่อให้แมงมุมแต่ละตัว หลี่เผยว่าไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ทางวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด แต่เป็นการสุ่มเลือกโดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับลักษณะของแมงมุม
หมี่เสี่ยวฉี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยถงเหรินในมณฑลกุ้ยโจวผู้เขียนหลักของงานวิจัยชิ้นนี้ ก็เป็นผู้ที่ชื่นชอบในตัวเจย์ โจว เช่นกัน หมี่ในวัยไล่เลี่ยกับ เจย์ โจว กล่าวว่า เขาเคยตั้งชื่องานที่ค้นพบจากลักษณะทางกายภาพของสัตว์ แต่ในปี 2022 เนื่องจากชื่อที่เขาตั้งนั้นไปซ้ำกับงานวิจัยชิ้นก่อนหน้าของคนอื่น ทำให้บทความของเขาไม่ได้รับการตีพิมพ์อย่างราบรื่น “ตั้งแต่นั้นมาผมจึงระมัดระวังมากขึ้นในการตั้งชื่อแมงมุม ครั้งนี้ผมจึงเลือกวิธีตั้งชื่อที่แตกต่างออกไปเพื่อป้องกันชื่อซ้ำ” หมี่กล่าว
หมี่กล่าวเสริมว่า การตีพิมพ์การค้นพบสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ 16 สายพันธุ์ในวารสารวิชาการพร้อมๆ กันนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับนักวิจัยที่มีประสบการณ์หลายปี “ผมคุ้นเคยกับสายพันธุ์แมงมุมทั้งหมด แค่มองแวบเดียวก็สามารถบอกได้ว่าสายพันธุ์นั้นอยู่ในหมวดหมู่ใดและเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือไม่”
ในสายตาของนักวิจัยแมงมุมชาวจีน สายพันธุ์แมงมุมมากมาย อันรวมถึงสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบนี้ มีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจ เช่น แมงมุมตัวเมียโตเต็มวัยที่สามารถมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ได้หลายเท่า การค้นพบแมงมุมสายพันธุ์ใหม่จึงสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพของจีน ตลอดจนความสำเร็จในการปกป้องระบบนิเวศ
หลังผลงานวิจัยนี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หมี่กล่าวว่า เขารู้สึกพอใจกับความสำเร็จของทีมที่ทำให้ผลงานวิทยาศาสตร์ใกล้ชิดกับสาธารณชนมากขึ้น และหวังว่าผู้คนจะสนใจงานวิจัยของทีมและสนับสนุนการอนุรักษ์ธรรมชาติกันมากขึ้น
ชาวเนตจีนในโซเชียลยกให้หมี่เป็น “แฟนตัวพ่อ” ของ เจย์ โจว และชมวิธีการตั้งชื่อแมงมุมสายพันธุ์ใหม่ของเขาว่า เป็นวิธีการตามดาราหรือศิลปินที่สุดแสนจะสร้างสรรค์ ขณะที่แฟนๆ ของเจย์ โจว หลายคนยังพบว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นักร้องเพลงป๊อปรายนี้มีอิทธพิลต่อแวดวงวิทยาศาสตร์เพราะเมื่อปี 2020 มีนักศึกษาปริญญาโทจากสถาบันธรณีวิทยาและบรรพชีวินวิทยาหนานจิง ได้ค้นพบไทรโลไบต์ (กลุ่มของสัตว์ทะเลขาปล้อง)ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ อายุประมาณ500 ล้านปี และตั้งชื่อมันว่า “แฟนตาซี”(Fantasy) เนื่องจากได้รับแรงบันดาลใจจากอัลบั้มที่สองของ เจย์ โจว โดยนักวิจัยผู้นี้บอกกับสื่อว่า การตั้งชื่อดังกล่าวเป็นวิธีสุดโรแมนติกในการแสดงความยกย่องไอดอลของตน ขณะที่เมื่อปี 2009 นักดาราศาสตร์สมัครเล่น4 คน ที่หลงใหลในเพลงของ เจย์ โจว ก็ได้ค้นพบดาวเคราะห์น้อยดวงหนึ่ง และตั้งชื่อให้มันตามชื่อของเขา
ตั้งชื่อใหม่ได้ ตามแต่ใจจะสร้างสรรค์
ในแวดวงการวิชาการ การตั้งชื่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่หรือชนิดใหม่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาการทั่วไป และยึดถือหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เช่น ชื่อจะต้องไม่ซ้ำกับชื่อของสายพันธุ์ที่มีอยู่เดิม และไม่ควรก่อให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความขุ่นเคืองใจ
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีพื้นที่สำหรับ “ความคิดสร้างสรรค์” เพราะการผสมผสานวิทยาศาสตร์เข้ากับความเป็นมนุษย์เป็นแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมในหมู่นักวิจัยทั่วโลก โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีความสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อ
ระหว่างการสำรวจใต้ทะเลลึกในปี 2019 นักวิทยาศาสตร์ค้นพบแอมฟิพอด (Amphipod) หรือสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดจิ๋วในทะเลลึกชนิดใหม่ และตั้งชื่อมันว่า “โดโรเธีย” (Dorotea) ตามตัวละครที่งดงามและจิตใจดีในนวนิยายระดับโลกเรื่อง “ดอน กิโฆเต้” (Don Quixote)ในทำนองเดียวกัน เมื่อปี 2018 ก็มีหนอนทะเลลึกชนิดหนึ่งที่ถูกตั้งชื่อว่า “โฮดอร์ โฮดอร์” (Hodor hodor) เพื่อยกย่องตัวละครที่ได้รับความนิยมจากซีรี่ส์แฟนตาซีสัญชาติอเมริกันเรื่องเกมออฟโธรนส์ (Game of Thrones)
หนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่งแสดงความเห็นว่า การนำเอาองค์ประกอบของเพลงป๊อปมาใส่ในชื่อของสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่ไม่เพียงแต่เป็นแนวทางที่น่าสนใจ แต่ยังช่วยดึงดูดให้ประชาชนหันมาสนใจวิทยาศาสตร์ และสร้างแรงบันดาลใจให้อยากออกไปสำรวจความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี