จากการประกาศยกย่องให้ภูพระบาทเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ในอุดรธานีเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ ๔๖ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย นั้น ยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมาวัดพระพุทธบาทบัวบานเป็นแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยใช้ชื่อว่าภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี (อังกฤษ : Phu Phrabat, a testimonyto the Sīma stone tradition of the Dvaravati period) อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ภายใต้การดูแลของกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรมแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาภูพาน ครอบคลุมพื้นที่ ๓,๔๓๐ ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติของกรมป่าไม้มีชื่อว่าป่าเขือน้ำ ท้องที่บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัดเป็นระยะทางประมาณ ๖๗ กิโลเมตร
พระบาทบัวบก
แหล่งมรดกวัฒนธรรมที่นำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก เป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง ๒ แหล่ง คือ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน แหล่งที่พบการปักหลักเสมา ยังแสดงถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ และมีความเป็นของแท้และดั้งเดิมมากที่สุด โดยเฉพาะวัดพระพุทธบาทบัวบานนั้น ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และเป็นที่ตั้งของแหล่งวัฒนธรรมสีมา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองอันเก่าแก่ในโบสถ์ หลักฐานที่สำคัญคือ พบกลุ่มเสมาหินทราย จำหลักภาพบุคคลในลักษณะต่างๆ เป็นศิลปกรรมสมัยทวารวดีตอนปลาย-ลพบุรีตอนต้น ดังนั้น มรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งนี้จึงอยู่ภายใต้เกณฑ์การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ๒ ข้อ ที่เป็นลักษณะที่โดดเด่นคือ เกณฑ์ข้อที่ ๓ เอกลักษณ์ที่หายากยิ่ง เพราะภูพระบาทลักษณะแบบนี้ไม่เคยพบที่ใดในประเทศไทยและเชื่อว่าในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือที่อื่นๆ ก็อาจจะไม่มีเหมือนเราและเกณฑ์ข้อที่ ๕ เป็นแหล่งที่มีตัวอย่างที่โดดเด่นในการปรับใช้พื้นที่ทางธรรมชาติมาเป็นพื้นที่แหล่งวัฒนธรรมในเรื่องของความเชื่อศาสนาและความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะเรื่อง วัฒนธรรมสีมา ศิลปทวารวดีที่มีการพบจำนวนมากในพื้นที่ ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ประมาณ 2,000-3,000 ปีมาแล้วผู้คนในสมัยนั้นดำรงชีวิตด้วยการเก็บของป่าและล่าสัตว์เป็นอาหาร เมื่อขึ้นมาพักค้างแรมอยู่บนโขดหินและเพิงผาธรรมชาติเหล่านี้ก็ได้ใช้เวลาว่างขีดเขียนภาพต่างๆ เช่น ภาพคนภาพสัตว์ ภาพฝ่ามือ ตลอดจนภาพลายเส้นสัญลักษณ์ต่างๆ ไว้บนผนังเพิงผาที่ใช้พักอาศัยในบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทปรากฏภาพเขียนสีเหล่านี้เป็นจำนวนมาก เช่นที่ถ้ำวัว-ถ้ำคนและภาพเขียนสีโนนสาวเอ้ ซึ่งเป็นปริศนาให้ผู้คนในชั้นหลังค้นหาความหมายที่แท้จริงต่อไป
ยูเนสโกประกาศยกย่องภูพระบาท
เมื่อพุทธศาสนาเข้ามาในดินแดนบริเวณนี้ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ ในสมัยทวารวดีของประเทศไทย เพิงหินเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนให้มาทำหน้าที่สำคัญทางพุทธศาสนา โดยมี๗ เพิงหิน และลานหินขาใหญ่ ซึ่งมีการติดตั้ง “ใบสีมา”เป็นขอบเขตพัทธสีมา เป็นเครื่องแสดงว่าเพิงหินแห่งนี้เป็น “พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์” สำหรับประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาของภิกษุสงฆ์ ฝ่ายเถรวาท บนภูเขาแห่งนี้มีอยู่ ๘ จุดที่มีใบเสมาล้อมรอบและพระพุทธรูปศิลา นอกจากนี้ ยังมีอีก ๑๓ แห่งเป็นเพิงหินธรรมดาที่ไม่มีเสมาล้อมรอบแต่มีการสกัดตกแต่งพื้นที่ให้เป็นห้องเล็กๆ ห้องโค้งๆเพิงหินเหล่านี้ถูกใช้ประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนาด้วยเช่นกัน ความหมายอาจจะเป็นที่นั่งพัก ที่นั่งวิปัสสนา ที่นั่งสมาธิ รวมอยู่ด้วย และมีบ่อนํ้าที่คนขุดขึ้นมาหนึ่งแห่ง ขุดลงไปในหินที่เรียกว่า “บ่อนํ้านางอุสา” ซึ่งมีการศึกษาในพื้นที่เพื่อเตรียมเสนอเป็นมรดกโลกนั้นเริ่มแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ จนถึงวันนี้ ๒๐ ปี จึงสำเร็จและเป็นบทเรียนที่ต้องสร้างการเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมสีมาให้มากขึ้น
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี