การแพ้อาหารเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่เด็กเป็นกลุ่มที่พ่อแม่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะการแพ้อาหารอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสุขภาพของเด็ก ทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ผื่นแดง คัน ลมพิษ หน้าบวม ปากบวม และในบางกรณีอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นายแพทย์สุรวัช หอมวิเศษ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า ภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) คือภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อส่วนประกอบในอาหารทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น ผื่นลมพิษหน้าบวมปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก อาเจียน ถ่ายเหลว และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ซึ่งอาหารที่มักเป็นสาเหตุการแพ้อาหาร ได้แก่ นม ไข่ แป้งสาลี ถั่วเหลือง ถั่วลิสง สัตว์น้ำ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย หมึก ถั่วเปลือกแข็ง เช่น มะม่วงหิมพานต์ อัลมอนด์ วอลนัท แมคคาเดเมียพิสตาชิโอ
นพ.สุรวัช หอมวิเศษ
ภูมิแพ้อาหาร เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ แบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่ 1. ชนิดเฉียบพลัน (IgE mediated food allergy) อาการจะเกิดอย่างรวดเร็วภายใน 2-4 ชั่วโมง หลังรับประทานอาหาร โดยจะมีอาการหลักคือ ผื่นลมพิษ หน้าบวม ปากบวม ปวดท้อง อาเจียนในบางกรณีอาจเกิดอาการรุนแรง (Anaphylaxis)อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น แน่นหน้าอก หายใจลำบาก หน้ามืด และหมดสติ 2.ชนิดไม่เฉียบพลัน (non-IgE mediated food allergy)อาการจะเกิดขึ้นหลายชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากรับประทานอาหาร อาการจะค่อยๆเพิ่มขึ้น เช่น ผื่นแดงเรื้อรัง คัน ถ่ายเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียนรุนแรง ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
ปัจจุบันสาเหตุของภูมิแพ้ทางอาหารยังไม่ทราบแน่ชัดแต่มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้อง เช่น 1.พันธุกรรม : เด็กที่มีพ่อแม่หรือสมาชิก
ในครอบครัวเป็นภูมิแพ้ มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพ้อาหารมากขึ้น 2.ผื่นผิวหนังอักเสบในเด็ก : เด็กที่มีปัญหาผิว เช่น ผื่นแพ้ ผิวหนังอักเสบ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้อาหาร 3.การงดอาหารที่มากเกินไป : การงดอาหารบางชนิด หรือเริ่มกินอาหารเสริมช้าเกินไปในวัยเด็ก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการแพ้อาหารเช่นกัน
การวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด แพทย์อาจใช้การเจาะเลือด เพื่อตรวจหาสารก่อภูมิแพ้ (specific IgE) ซึ่งสามารถตรวจได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้จากอาหาร และจากทางอากาศ โดยไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนเจาะเลือด และสามารถทราบผลได้ภายในวันเดียว นอกจากนั้นยังมีการตรวจยืนยันการแพ้อาหารด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่สงสัย (oral food challenge) ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีที่แม่นยำที่สุด แต่ต้องทำภายใต้การดูแลของ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้
ในปัจจุบัน การรักษาภูมิแพ้อาหารไม่ได้จำกัดเพียงการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้เท่านั้น แต่ยังมีการรักษาด้วยวิธีการรับประทานอาหารที่แพ้
(oral immunotherapy) โดยแพทย์จะให้รับประทานอาหารที่แพ้ ในระดับที่ปลอดภัย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลารักษา3-5 ปี วิธีนี้ต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคภูมิแพ้ และโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงสุด
ข้อดีของวิธีนี้คือ ช่วยลดโอกาสการเกิดอาการแพ้จากการบริโภคอาหารที่ปนเปื้อน ทำให้ไม่ต้องเลี่ยงอาหารที่แพ้ตลอดไป และอาจหายขาดจากการแพ้อาหารได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
การรักษาด้วยวิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอายุ มากกว่า 5 ขวบขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่มีระดับการแพ้อาหารสูง และมีโอกาสหายได้เองยาก รวมถึงผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารรุนแรง
“เมื่อก่อนเราเคยมีความเชื่อว่าหากแพ้อาหารชนิดไหนก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นไปตลอด เพราะอย่างไร ก็ไม่มีทางหาย แต่ในปัจจุบันเราเชื่อว่า ยิ่งเลี่ยงอาหารที่แพ้ยิ่งไม่หายแต่ถ้าเรากินอาหารที่แพ้ในปริมาณที่ปลอดภัย สุดท้ายร่างกายจะกินอาหารที่แพ้ได้เพิ่มขึ้น หรืออาจหายขาดจากอาการแพ้อาหารได้” นายแพทย์สุรวัช กล่าว
ทั้งนี้ หากสงสัยว่าตัวเอง หรือบุตรหลานมีอาการแพ้อาหาร ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อการประเมิน และวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลเพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี