“ราชมงคลพระนคร” สู่ปีที่ 20 ร่วมใจ ก้าวต่อไปให้สุดแรง มุ่งสู่มาตรฐานสากล ย้ำ “เรียนที่ไหนก็เรียนได้ แต่เรียนที่ราชมงคลพระนครต้องมีงานทำ100%”
จากความมุ่งมั่นในการสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (ราชมงคลพระนคร) ที่มีมายาวนาน จนถึงวันนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 แห่งการก่อตั้งวันสถาปนา 18 มกราคม 2568 และตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันราชมงคลพระนคร ยังคงเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงและมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ขณะเดียวกันทำหน้าที่ขับเคลื่อนและขยายโอกาสทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ พร้อมเป็นกำลังสำคัญของประเทศในการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่สำคัญราชมงคลพระนครยังได้ผลิตบัณฑิตออกไปรับใช้สังคมจำนวนมาก ส่งเสริมทักษะความรู้ให้แก่คนทุกกลุ่มให้มีอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวอีกจำนวนนับไม่ถ้วน
ก่อนที่จะไปดูว่าปีที่ 20 ราชมงคลพระนครจะก้าวเดินหน้าไปในทิศทางไหน หรือมีเป้าหมายอย่างไร เรามาคุยกับ ดร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล อธิการบดีราชมงคลพระนคร กันก่อนว่าในช่วงปี 2567 ได้นำพาราชมงคลพระนครทำอะไรกันบ้าง โดย ดร.ณัฐวรพล เล่าให้ฟังว่า ราชมงคลพระนครได้ริเริ่มทำสิ่งใหม่ๆ เป็นครั้งแรกในหลายงาน ซึ่งมี 4 ด้านหลัก ๆ เริ่มจากงานด้านวิชาการ ได้มีการเปิดระบบเครดิตแบงค์หรือคลังหน่วยกิต ที่ใช้สำหรับนำความรู้หรือความสามารถของผู้ที่ต้องการสะสมที่วัดจากทักษะ ประสบการณ์การทำงาน การฝึกอบรมหรือการเรียนรู้ทั้งจากสถาบันการศึกษา การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) การเรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อนำมาเทียบโอนเป็นหน่วยกิตมาสะสมไว้ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสทางการศึกษา การ Upskill และ Reskill ได้เป็นอย่างดี และมั่นใจในปีนี้ได้ใช้ระบบเครดิตแบงค์กันแน่นอน
ดร.ณัฐวรพล เล่าต่อว่า นอกจากนี้ยังเริ่มทำ Pre-degree และ Non-degree ในทุกคณะมากขึ้น เพื่อรองรับการศึกษาแก่คนทุกกลุ่ม รวมทั้งกระจายโอกาสการศึกษาด้วยการมอบทุนมากขึ้น ได้แก่ ทุนราชมงคลพระนคร ,ทุนเรียนดี, ทุนเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ,ทุนการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ราชมงคลพระนคร เรียนต่อระดับปริญญาตรี ,ทุนนักกีฬา และทุนศิลปะการแสดง รวมกว่า 5 ล้านบาท อีกทั้งมีทุนสนับสนุนด้านการศึกษาจากองค์กรต่าง ๆ และภาคเอกชนด้วย รวมทั้งเปิดโอกาสสู่ความรู้ด้านกฎหมายผ่านการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยรับใบอนุญาตของกรมคุ้มครองสิทธิ์และเสรี พร้อมจัดตั้งศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ราชมงคลพระนคร ก่อตั้งวิทยาลัยนานาชาติและการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรองรับโลกการศึกษาที่ไร้พรมแดน ขณะเดียวกันเตรียมแผนเพิ่มจำนวนนักศึกษาต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะนักศึกษาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศภูฏาน เนื่องจากนักเรียนเหล่านี้มีความต้องการศึกษาต่อในประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยเฉพาะประเทศไทย เพราะมีระบบการศึกษาที่เปิดกว้าง ค่าเล่าเรียนก็ไม่สูงมากนัก ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงได้พัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อจะรองรับความต้องการศึกษาต่อในอนาคต และได้มีการจัดงาน International Week เพื่อสร้างความเข้มแข็งกับเหล่าพันธมิตรด้วย
ส่วนด้านมาตรฐานสากลนั้น ดร.ณัฐวรพล ย้ำว่า เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะการเข้าร่วม Ranking หรือจัดอันดับ จะทำให้เรารู้ว่าอยู่ตรงไหนและจะก้าวต่อไปอย่างไร บางคนมองเรื่อง Ranking เป็นเรื่องที่ไม่สะท้อนอะไร แต่มุมมองของผมในเชิงการบริหาร เพื่อดูว่าเรากับคนอื่นทำได้ดีมากหรือน้อย แตกต่างกันแค่ไหน มหาวิทยาลัยขยับอะไรไปบ้าง และต้องทำอะไรต่อไป ขณะเดียวกันผลการเข้าร่วม Ranking จะบอกให้โลกรู้ด้วยว่าราชมงคลพระนครอยู่ตรงไหน ต้องสร้างอัตลักษณ์ หรือตัวตนของเราให้รู้ว่าเราเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีที่อยู่ในตัวเมือง และวันนี้ราชมงคลพระนครได้ลงสนามเพื่อเข้าร่วมประเมินกับหน่วยงานระดับโลกหลายหน่วยงาน เช่น การประเมิน QS Stars Rating 2023-2026 / QS University Ranking: Asia 2025 และQS University Ranking: South-Eastern Asia 2025 การประเมิน THE Impact Ranking 2024 และการประเมิน The UI GreenMetric World University Ranking 2023 ซึ่งผลการประเมินต่าง ๆ เป็นที่น่าพอใจ อีกทั้งยังร่วมเป็นสมาชิกในเครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย และเป็นองค์กรผู้ริเริ่มด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจก กับทางเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกด้วย
ถือเป็นความภาคภูมิใจของราชมงคลพระนคร คือ การเข้าร่วมจัดอันดับของ Times Higher Education (THE) Impact Ranking องค์กรจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจากประเทศอังกฤษ ประจำปี 2024 ซึ่ง ดร.ณัฐวรพล บอกว่า เป็นครั้งแรกที่ราชมงคลพระนครเข้าร่วมด้วย โดยมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมจำนวน 2,152 แห่ง จาก 125 ประเทศทั่วโลก และสถาบันอุดมศึกษาไทยเข้าร่วม จำนวน 77 แห่ง ผลปรากฏว่าการจัดอันดับด้านการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างยั่งยืน (Sustainable cities and Communities) หรือ SDG 11 ราชมงคลพระนคร เป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สำหรับผลจากจัดอันดับภาพรวม เป็นอันดับร่วมที่ 29 ของประเทศไทย และอันดับร่วมที่ 1 ของกลุ่ม มทร. ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าราชมงคลพระนครมีคุณภาพในการจัดการศึกษาเชิงประจักษ์ที่โดดเด่นได้รับการยอมรับในระดับสากล ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยโลกที่รับผิดชอบต่อสังคมอย่างยั่งยืนที่แท้จริง
อธิการบดีราชมงคลพระนคร กล่าวว่า ส่วนงานด้านการบริหารจัดการ มีการยกระดับหน่วยงานภายใน เพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัย รวมทั้งหารายได้ ตลอดจนเริ่มใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้นด้วย และอีกเรื่องที่สำคัญการดูแลด้านขวัญและกำลังใจบุคลากรที่ผมพยายามสนองนโยบายรัฐได้สำเร็จตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2542 ซึ่งอนุมัติหลักการให้มหาวิทยาลัยของรัฐจ้างลูกจ้างในลักษณะการจ้างพิเศษที่มีวาระการจ้างที่กำหนดเวลาชัดเจนแทนการบรรจุข้าราชการใหม่ โดยจ้างสายผู้สอน อัตรา 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ และสายสนับสนุนวิชาการอัตรา 1.5 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ จากนี้บุคลากรจะได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีความสุข ใครถนัดงานด้านไหนก็มุ่งไปทางนั้น และสามารถนำผลงานมา ปรับตำแหน่งและเพิ่มเงินเดือนได้ด้วย เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้ปรุงระเบียบต่าง ๆ ให้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนี้มีนโยบายการสร้างมหาวิทยาลัยแห่งความสุข Happy University รวมทั้งการเพิ่มสวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้บุคลากรมีความเป็นอยู่ที่ดี และมีความสุขกับการทำงานมากขึ้น
ถึงตรงนี้อธิการบดีราชมงคลพระนคร ประกาศชัดปี 2568 ซึ่งผมจะครบวาระการดำรงตำแหน่งอธิการบดี ในอีก 6 เดือน ผมมุ่งมั่นนำราชมงคลพระนคร “ ก้าวต่อไปให้สุดแรง ” (20th RMUTP: Keep Going, Be All In) โดยเฉพาะการสานต่องานที่วางไว้ทั้งหมดให้เป็นรูปธรรมมากที่สุด รวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ SDG โดยการกำหนดเป้าหมายการเป็นคาร์บอนนิวทรัล ในปี 2045 และ Net Zero ในปี 2060 ที่สำคัญตั้งเป้าหมายเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เป็น Animal Welfare ตอบโจทย์ SDG ในหัวข้อ Life on land ต่อไปเราจะกินของดี อยู่ดี เพราะทุกพื้นที่ของราชมงคลพระนครจะใช้ไข่ไก่ชนิดเคสฟรี ปลอดภัยไร้สารอันตราย และเรื่องคุณภาพการศึกษาต้องยกระดับให้สูงขึ้น ต้องทำให้บัณฑิตมีคุณภาพ สถานประกอบการหรือผู้จ้างบัณฑิตมั่นใจและกล้าที่จะจ้างเด็กของเราเข้าทำงานโดยไม่ลังเล ดังนั้นต้องเริ่มจากหาผู้เข้าเรียนที่มีจริตตรงกับสถาบันเน้นวิชาชีพตามที่เราถนัด อาจจะไม่แข็งวิชาการ 100 % แต่มีเอกลักษณ์โดดเด่น มีทักษะในการทำงานได้ ทำงานดี ทำงานทน (อึด) ปรับตัวได้เร็วตามสภาพที่เปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี
คงต้องขอเป็นกำลังใจให้ราชมงคลพระนคร ก้าวผ่านไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ และขึ้นสู่เวทีโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ พร้อมยึดมั่นสร้างบัณฑิตนักปฏิบัติ ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภายใต้การนำของ” ร.ณัฐวรพล รัชสิริวัชรบุล” ที่ยังคงสโลแกนยึดมั่น “เรียนที่ไหนก็เรียนได้ แต่เรียนที่ราชมงคลพระนครต้องมีงานทำ100%
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี