เหมาะสมหรือไม่? และทำได้จริงหรือ? : ย้อนไปในวันที่ 7 พ.ค. 2567 เว็บไซต์ Aseannow.com ได้เผยแพร่ข่าวซึ่งอ้างว่า ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2567 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยได้หารือกับตัวแทนจากรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร รวมถึงกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ เช่น สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สภากอบกู้รัฐฉาน (RCSS) พรรคก้าวหน้าแห่งชาติกะเรนนี (KNPP) และองค์การแห่งชาติกะฉิ่น (KNO)
ในเวลาต่อมา วันที่ 14 พ.ค. 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
นายทักษิณผู้เป็นบิดา ปัจจุบันไม่ได้มีตำแหน่งอะไร แต่สมัยที่เป็นนายกฯ ก็มีการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งก็มีโอกาสที่ได้รู้จักทั้งกลุ่มชาติพันธุ์และชนกลุ่มน้อย รวมไปถึงทหารของเมียนมา จึงยังมีความสัมพันธ์ต่อกันอยู่ซึ่งก็เป็นความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ได้สร้างไว้ ฉะนั้นด้วยความเป็นห่วงประเทศ ถ้ามีการได้พูดคุยอะไร เป็นเพียงเพราะอยากมีส่วนร่วมในการช่วยประเทศไทยเท่านั้น ส่วนจะประสบผลสัมฤทธิ์มากน้อยขนาดไหนนั้น ตนก็ยังไม่ทราบรายละเอียด เพราะยังไม่ได้พูดคุยกับนายทักษิณ
แต่อีกด้านหนึ่ง ในวันที่ 8 พ.ค. 2567 นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช ซึ่งเคยถูกจำคุก ได้ตั้งคำถามว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ และหากเป็นความจริง เวลานั้นนายทักษิณยังอยู่ในมาตรการพักโทษ ไม่ว่าจะเป็นการข้ามไปฝั่งเมียนมา หรืออยู่ในประเทศไทยบริเวณชายแดน ได้ขออนุญาตหรือแจ้งกับกรมคุมประพฤติหรือไม่ ซึ่งแม้ไม่มีระเบียบต้องห้ามของกรมคุมประพฤติที่ชัดเจน แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มีความเหมาะสม กำลังเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม หรือภาษาพระเรียกว่า โลกวัชชะ หมายถึงโลกตำหนิติเตียน
รายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ทางช่องยูทูบ“แนวหน้าออนไลน์” วันที่ 8 ม.ค. 2568 นายสุทิน วรรณบวร สื่อมวลชนอาวุโส คอลัมนิสต์ นสพ.แนวหน้า และอดีตผู้สื่อข่าวสำนักข่าว AP ร่วมพูดคุยในประเด็นการเมืองไทยและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไล่ตั้งแต่ 1.ความเคลื่อนไหวที่มากขึ้นเรื่อยๆ ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประเด็นนี้มองว่า นายทักษิณ ณ ปัจจุบัน มีความเหมือนกับนายทักษิณช่วงปี 2547-2549 กล่าวคือ นายทักษิณควบคุมทุกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และมองว่าตนเองเก่งที่สุด
แต่สิ่งที่นายทักษิณทำนั้นส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของรัฐบาลและประเทศไทยโดยตรง อย่างที่นายทักษิณบอกว่าตนเองยุ่งทุกเรื่องเพราะไม่มีใครเป็นเจ้าภาพ แต่จริงๆ เรื่องนี้นายทักษิณไม่จำเป็นต้องพูดเพราะใครๆ ก็รู้ และไม่ใช่เฉพาะคนไทยแต่ยังรวมถึงต่างชาติอีกหลายประเทศด้วย จากรัฐบาลนายกฯหลายๆ คนที่ผ่านมา ตั้งแต่ นายสมัคร สุนทรเวชนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายเศรษฐา ทวีสิน มาจนถึงลูกสาวของตนเองอย่าง น.ส.แพทองธารชินวัตร นายกฯ คนปัจจุบัน
“แกกำหนดทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่อง แต่ไม่รู้ว่าหน้าของลูกสาวตัวเองเป็นอย่างไร คือแกไปบอกว่าคนแอฟริกาตัวดำบ้าง จมูกแบนบ้าง ก็ยังส่งเข้าประกวดได้ เพราะฉะนั้นคนไทยไม่ต้องไปเหลาหน้า ไม่ต้องไปทำจมูกก็เป็นนางแบบได้คนที่เหลาหน้าทำจมูก แกรู้ไหมว่าคนที่เป็นลูกสาวแกตอนนี้ไปทำอะไรมาบ้างกับหน้า ถ้าแกรู้จะไม่พูดเรื่องนี้มาเพราะฉะนั้นคุณทักษิณรู้ทุกเรื่องนอกจากเรื่องตัวเอง”
ทั้งนี้ ตนมองว่า หากนายทักษิณยังเคลื่อนไหวแบบนี้ต่อไปจะส่งผลเสียหายต่อประเทศไทย ต่างชาติจะไม่ให้ความเชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่าประเทศไทยมีใครเป็นนายกรัฐมนตรี แนวทางของประเทศไทยใครเป็นผู้กำหนด เพราะทุกคนต้องฟังนายทักษิณ และสิ่งที่นายทักษิณพูดก็ถูกนำมาใช้ในรัฐบาล หรืออย่างกรณีอดีตนายกฯ เศรษฐา ก็มีคนไปกดดันให้ตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี
ซึ่งนายทักษิณเข้าใจว่าตนเองรู้ทุกเรื่องและอยู่เหนือกฎเกณฑ์ต่างๆ ตั้งแต่เดินทางกลับมาประเทศไทย ได้รับพระราชทานอภัยโทษในคดีที่ศาลตัดสินไปแล้ว ลดโทษจากจำคุก 8 ปี เหลือ 1 ปี ก็ไม่ต้องเข้าคุกแม้แต่วันเดียว แต่คนที่ต้องรับกรรมจากนายทักษิณคือคนที่กำลังถูกสอบสวนอยู่ในขณะนี้ ทั้งคนจากกรมราชทัณฑ์และจากโรงพยาบาลตำรวจ เป็นการทำข้ามกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด จะเห็นว่าพอนายทักษิณกลับมาประเทศไทยความวุ่นวายก็เกิด แล้วยังไม่พอใจคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งที่จริงๆ นายทักษิณทำผิดทั้งหมด
และต้องบอกว่านายทักษิณพยายามควบคุมการบริหารประเทศทั้งหมด ส่วนนายกฯ ที่มีตำแหน่งอยู่นั้นให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับตัวหนังตะลุงที่มีคนเชิดอยู่หลังจอ อย่างสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็มีคนมาเล่าให้ตนฟังว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องถ่ายทอดไปต่างประเทศ ตนจึงเชื่อว่าการประชุม ครม. ยุคนี้ก็น่าจะมีการถ่ายทอดไปที่คนใดคนหนึ่งที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล ไม่เช่นนั้นคงไม่สามารถรู้ได้ว่ารัฐมนตรีคนใดไม่มาประชุม ถึงขนาดออกปากไล่ออกไปได้ ซึ่งเมื่อทั้งนายกฯ และ ครม. เหมือนกับตัวหนังตะลุงที่ถูกเชิดขณะที่คนไทยก็รู้สึกไม่เชื่อมั่นในรัฐบาลแบบนี้แล้ว คำถามคือคนต่างชาติจะเชื่อมั่นหรือไม่
2.การเมืองในประเทศเกาหลีใต้เทียบกับไทย ที่ ณ ปัจจุบัน เกาหลีใต้เหมือนกับไทยในปี 2549 ซึ่งต้องบอกว่ากระบวนการประชาธิปไตยของเกาหลีใต้นั้นที่ผ่านมาฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ คานอำนาจกันมาตลอดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีประธานาธิบดี 3 คน ถูกถอดถอน โดยเมื่อประธานาธิบดีทำผิด ฝ่ายนิติบัญญัติก็ยื่นถอดถอน แล้วฝ่ายตุลาการก็ตัดสินไปตามกฎหมาย ประธานาธิบดีสามารถถูกให้ออกจากตำแหน่งและถูกจำคุกได้
แต่ในยุคสมัยประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนล่าสุด แม้จะถูกลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง กลับไม่ยอมให้ความ
ร่วมมือกับทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและตุลาการ ไม่ยอมไปให้การ อีกทั้งขนคนออกมาปกป้องและให้ทหารมาคุ้มกัน ซึ่งหากมองกลับมายังประเทศไทย ในปี 2549 ที่รัฐบาลขณะนั้นประกาศยุบสภาวันที่ 24 ก.พ. 2549 แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 เม.ย. 2549 แต่กลับเป็นการเลือกตั้งที่สับสนวุ่นวาย ถึงขนาดที่กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเวลานั้นถูกตัดสินจำคุก และศาลรัฐธรรมนูญของไทยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ
ซึ่งต้องบอกว่า ตั้งแต่การยุบสภาวันที่ 24 ก.พ. 2549 เป็นต้นมา นายทักษิณกลับยังคงใช้อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีต่อไปจนถึงวันที่ 19 ก.ย. 2549 ที่ถูกรัฐประหารและต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ ทั้งที่จริงๆ ช่วงเวลาดังกล่าวนายทักษิณไม่มีสิทธิ์ใช้อำนาจอีกแล้วเพราะไม่มีสภาผู้แทนราษฎรเรื่องนี้ก็คล้ายกับประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันที่ถูกลงมติถอดถอน แต่ยังมองว่าตนเองเป็นประธานาธิบดีอยู่ มองข้ามกระบวนการประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ความร่วมมือ มองว่าตนเองมีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ไม่สามารถถูกจับกุม ไม่ต้องไปเข้ากระบวนการสอบสวน
3.ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา กัมพูชาและมาเลเซีย ซึ่งต้องบอกว่าทั้ง3 ประเทศ ล้วนดูถูกประเทศไทยและไม่ให้ค่ารัฐบาลไทย อย่างกรณีของ “เมียนมา” ที่ผ่านมาให้เกียรติประเทศไทยมากกว่าชาติอื่นๆ ในกลุ่มประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) อย่างสมัยรัฐบาลอดีตนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยุคนั้นรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยเป็นบุคคลเดียวในโลกที่รัฐบาลทหารเมียนมาอนุญาตให้เข้าพบออง ซานซู จี และนำเรื่องที่ได้พูดคุยกันไปแจ้งต่อที่ประชุมอาเซียน ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งในเมียนมานั้นคาดหวังการหาข้อยุติด้วยการเจรจามากกว่าการสู้รบ
“เมื่อได้ยินอย่างนี้ มติของอาเซียนจึงได้อนุมัติหรือแต่งตั้งให้ไทยเป็นคนกลางในการเจรจากับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้-เสียในเหตุการณ์ในพม่า (เมียนมา) ตั้งแต่นั้นมา รัฐบาลไทยในสมัยลุงตู่ก็กำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่ออำนวยการเจรจาของทุกฝ่าย เพราะไทยเข้าถึงทุกฝ่ายไม่ว่าจะฝ่ายต่อต้าน ชนกลุ่มน้อยหรือรัฐบาล แต่ขณะที่รัฐบาลกำลังตั้งคณะกรรมการขึ้นมานั้น ปรากฏว่าประเทศไทยเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ท่าทีของพม่าก็เปลี่ยนไปทันที”
ผู้นำรัฐบาลเมียนมาหารือนายกฯ ไทย เรื่องแรงงาน : วันที่ 7 พ.ย. 2567 ระหว่างการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ครั้งที่ 10 หรือ ACMECS SUMMIT ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ได้หารือทวิภาคีร่วมกับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย นายกรัฐมนตรีเมียนมา ซึ่ง น.ส.แพทองธารเปิดเผยว่า เมียนมา ได้แสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับแรงงานเมียนมาที่อยู่ในไทย ซึ่งบางส่วนยังไม่ได้ลงทะเบียนจึงอยากได้ตัวเลขว่าประชาชนของเขาไปอยู่ที่ไหนอย่างไรและขอข้อมูลที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งตนได้ฝาก รมว.ต่างประเทศไปแล้ว ก็จะพูดคุยเรื่องนี้กันต่อไป
หากย้อนไปในวันที่ 14 พ.ค. 2566 ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แล้วพรรคก้าวไกลชนะการเลือกตั้ง ในเวลานั้นมีการจับมือกับพรรคเพื่อไทยเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ผู้นำระดับสูงของรัฐบาลทหารเมียนมาออกแถลงการณ์เตือนประชาชนให้ระวังภัยจากพรรคก้าวไกลมีการระบุว่าพรรคก้าวไกลสนับสนุนชาติตะวันตกและก่อการร้าย ให้ประชาชนช่วยกันจับตาไม่ว่าจะทำสิ่งใด และแม้ต่อมาพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาลแทน แต่รัฐบาลเมียนมายังมองว่าทั้ง 2 พรรคเป็นเนื้อเดียวกัน เพียงแต่ปัจจุบันต้องแยกกันอยู่เพราะสถานการณ์ไม่อำนวยให้อยู่ด้วยกัน
และเมื่อนายทักษิณเสนอตัวว่าจะช่วยเป็นตัวกลางในการเจรจาระหว่างฝ่ายต่างๆ ในเมียนมา ซึ่งเมื่อมีข่าวว่านายทักษิณไปพบกับผู้นำกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร โฆษกของฝ่ายรัฐบาลทหารก็บอกว่าเป็นการแทรกแซงการเมืองของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไร้มารยาท ขณะที่ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไทยจัดประชุมอาเซียนนอกรอบเพื่อปรึกษาปัญหาวิกฤตในเมียนมา ทหารของทั้ง 2 ประเทศก็ยังไปมาหาสู่กัน
แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล แล้วรัฐบาลทหารเมียนมาขอให้ไทยส่งข้อมูลชาวมียนมาที่ทำงานในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ในเดือนพ.ย. 2567 ระหว่างการหารือทวิภาคีในการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ที่ประเทศจีน โดยนายกฯ แพทองธาร บอกว่าให้กระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าให้อะไร คือไม่ได้บอกว่ามอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศไปสำรวจ และหลังจากนั้นไทยก็ไม่ได้ตอบสนองใดๆ กับทางเมียนมา
ซึ่งเหตุที่รัฐบาลทหารเมียนมายกเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะสงสัยว่าอาจมีแนวร่วมของฝ่ายต่อต้านเคลื่อนไหวอยู่ในประเทศไทย โดยมีพรรคฝ่ายค้านใหญ่ในไทยเป็นผู้สนับสนุน แต่ไทยไม่ให้คำตอบ จนมาถึงเหตุการณ์ที่ทหารเมียนมายิงเรือและจับลูกเรือชาวไทยไป 4 คน ส่งดำเนินคดีและตัดสินใจจำคุกแต่การที่คนในรัฐบาลไทยออกมาให้ข่าวว่าจะปล่อยตัวอยู่หลายครั้ง แสดงว่าฝ่ายการเมืองไม่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคง โดยกองทัพไทยนั้นจะมีหน่วยงานหนึ่งที่บูรณาการหน่วยงานความมั่นคงทั้งหมด เพื่อแจกจ่ายภารกิจให้ติดตามสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้าน
“ศูนย์นี้ไม่ได้แจ้งกับรัฐบาลไทยว่าอะไรเกิดขึ้นที่ไม่ได้แจ้งเพราะทหารไทยโดยเนื้อแท้แล้วเขาไม่กล้าหรือไม่มั่นใจในรัฐบาลชุดนี้ เพราะเมื่อปี 2545 จำได้ไหมว่าผู้บัญชาการทหารบกตอนนั้นนำกำลังเข้าไปปะทะกับว้า แล้วถูกนายกรัฐมนตรีตอนนั้นตำหนิว่า Overreaction(ทำเกินกว่าเหตุ) และไม่ปรึกษาก่อน”
หรืออย่าง “กัมพูชา” ที่ล่าสุดเพิ่งเกิดเหตุลอบสังหารอดีตนักการเมืองฝ่ายค้านของกัมพูชากลางกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2568 เรื่องนี้ถือเป็นการหยามหน้าฝ่ายความมั่นคงของไทย โดยเชื่อว่าน่าจะมีการติดตามกันมาตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในกัมพูชา แต่เลือกที่จะไม่ลงมือในกัมพูชา คำถามคืออดีตนักการเมืองคนนี้สร้างศัตรูในประเทศไทยตั้งแต่เมื่อใด
นอกเสียจากเป็นศัตรูกับรัฐบาลกัมพูชา และคนที่หนีไปอยู่ฝรั่งเศสจนได้สัญชาติแบบนี้คงไม่มาสร้างศัตรูในประเทศไทย
“โดยสรุปก็คือว่าตราบใดที่ประเทศไทยไม่มีนายกฯ ตัวจริง ไม่มีรัฐบาลตัวจริง มีคนนอกรัฐบาล มีคนนอกกฎหมายมาควบคุมการบริหารประเทศอยู่ ประเทศไทยจะต้องเรือหายและต่างประเทศจะไม่ให้ความมั่นใจ”นายสุทิน กล่าวในตอนท้าย
หมายเหตุ : สามารถรับชมรายการ “สีสันการเมือง แบบ เด้งเด้ง” ดำเนินรายการโดย บุญระดม จิตรดอน ทางช่องยูทูบ “แนวหน้าออนไลน์” ทุกวันอังคาร-พฤหัสบดี เวลา 11.00-12.00 น. โดยประมาณ
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี