หลายฝ่ายกำลังจับตาดูกันว่า ติ๊กต็อก (TikTok) จะปิดการให้บริการในสหรัฐฯ ที่มีชาวอเมริกันใช้งาน 170 ล้านคน ในวันที่ 19 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่คำสั่งห้ามใช้งานแพลตฟอร์มยอดนิยมดังกล่าวในสหรัฐฯ มีผลบังคับใช้จริงหรือไม่ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง เมื่อผู้ใช้งานในสหรัฐฯ เปิดแอปพลิเคชั่นในวันนี้จะมีป๊อปอัพเป็นข้อความแจ้งเตือนพร้อมลิงก์ที่นำไปยังเว็บไซต์ที่โพสต์รายละเอียดเกี่ยวกับการแบนครั้งนี้โดยจะเปิดให้ผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับบัญชีของตนเองออกมาเก็บไว้ได้
สำหรับสาเหตุของการตัดสินใจปิดตัวในครั้งนี้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนต้องการให้แพลตฟอร์มนี้อยู่ภายใต้บริษัทแม่อย่างไบต์แดนซ์ (Bydance) ต่อไป หลังจากไบต์แดนซ์ตัดสินใจไม่ขายติ๊กต็อกในสหรัฐฯ ก่อนถึงเส้นตายในวันดังกล่าว ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ศาลฎีกาของสหรัฐฯ พิจารณาขั้นสุดท้าย ไฟเขียวบังคับใช้กฎหมายและอนุญาตให้ติ๊กต็อกถูกแบนในวันอาทิตย์ ตามที่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้ออกกฎหมายเมื่อเดือนเมษายน 2567 ให้แบนการใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐฯ หากไบต์แดนซ์ไม่ขายแพลตฟอร์มนี้
นั่นทำให้หลังจากนี้ อนาคตของแอปฯ ติ๊กต็อก ในสหรัฐฯ จะขึ้นอยู่กับโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้เตรียมดำรงตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม หลังจากคำสั่งแบนติ๊กต็อกมีผลได้เพียง 1 วัน หลายสื่อในสหรัฐฯ รายงานว่า ทรัมป์กำลังพิจารณาออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อระงับการแบนดังกล่าวภายใน 60-90 วัน ถือเป็นการกลับลำมาสนับสนุนติ๊กต็อก หลังจากที่เขาใช้แพลตฟอร์มนี้หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2567 และได้รับความนิยมอย่างมาก จากเดิมที่เขาพยายามจะปิดกั้นแพลตฟอร์มนี้ในสหรัฐเมื่อปี 2563 และบีบให้ขายให้กับบริษัทอเมริกัน
ขณะที่ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้หารือกันในหลากหลายประเด็น รวมถึงติ๊กต็อก การค้า และเรื่องไต้หวัน ระหว่างการสนทนากันทางโทรศัพท์เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาไม่กี่วันก่อนทรัมป์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯในวันที่ 20 มกราคมนี้
สถานการณ์ของติ๊กต็อกในสหรัฐฯทำให้บรรดาผู้ใช้งานอินเตอร์เนตชาวจีนบนแพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ยอดนิยมแห่งหนึ่ง ต่างรู้สึกถึงการหลั่งไหลเข้ามาอย่างฉับพลันของผู้ใช้งานหน้าใหม่ชาวต่างชาติ ซึ่งเรียกขายตัวเองว่าเป็น “ผู้อพยพ” จากติ๊กต็อกเนื่องด้วยวิตกกังวลความเสี่ยงว่ารัฐบาลสหรัฐฯ อาจสั่งแบนแอปพลิเคชั่นติ๊กต็อกภายในช่วงระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์
รายงานระบุว่า “เสี่ยวหงซู” (Xiaohongshu) แพลตฟอร์มของจีนที่ผสมผสานจุดเด่นของอินสตาแกรม(Instagram) และพินเทอเรสต์ (Pinterest)เข้าด้วยกัน เกิดกระแสติดแฮชแท็กอย่าง #TikTokRefugee หรือ #ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก เป็นจำนวนหลายแสนโพสต์จากบัญชีผู้ใช้งานที่ส่วนใหญ่ลงทะเบียนอยู่ในสหรัฐฯ การพุ่งขึ้นดังกล่าวส่งผลให้เสี่ยวหงซูหรือที่ต่างชาติรู้จักกันในชื่อ “เรดโน้ต” (RedNote) ทะยานขึ้นครองตำแหน่งแอปพลิเคชั่นที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดบน App Storeในสหรัฐฯ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน
ท่ามกลางการรอลุ้นผลลัพธ์สุดท้าย บรรดานักสร้างสรรค์เนื้อหาออนไลน์บางส่วนไม่ยอมเสียเวลาเปล่าประโยชน์กับคำสั่งแบนอันย้อนแย้งกับความเป็นจริง โดยผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อกรายหนึ่งบนเสี่ยวหงซู โพสต์คลิปวีดีโอสั้นที่เผยว่า “พวกเขาพยายามแบนติ๊กต็อก (ด้วยข้ออ้างความมั่นคงของชาติ) แต่ตอนนี้ทุกคนแห่กันมาใช้แอปพลิเคชั่นของจีนที่แท้จริงแล้ว”
“เหล่าผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อกกำลังอพยพมายังแอปพลิเคชั่นของจีนโดยยินยอมให้ข้อมูลโดยตรงอย่างเต็มใจ” อีกหนึ่งโพสต์เสียดสีบนแอปพลิเคชั่นเอ็กซ์ (X) หรืออดีตทวิตเตอร์
“ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก” ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากผู้ใช้งานเสี่ยวหงซู ซึ่งแบ่งปันรูปถ่ายและคลิปวีดีโอร่วมกับสมาชิกผู้ใช้งานหน้าใหม่นำเสนออาหารและการเดินทางท่องเที่ยวรวมถึงบทเรียนภาษาฟรี เนื่องจากเนื้อหาบนเสี่ยวหงซูส่วนใหญ่เป็นภาษาจีน
เสี่ยวหงซู ก่อตั้งปี 2013 เดิมทีมุ่งเน้นให้คำแนะนำเกี่ยวกับการช้อปปิ้งต่อมาปรับเปลี่ยนสู่การเป็นแพลตฟอร์มไลฟ์สไตล์ครบวงจร ซึ่งผสมผสานสื่อสังคมออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซเข้าด้วยกัน โดยผู้ใช้งานสามารถแบ่งปันเนื้อหาและซื้อสินค้าโดยตรงผ่านแอปพลิเคชั่น สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งแบบไม่มีสะดุดกวนใจ
ผู้ใช้งานเสี่ยวหงซูรายหนึ่ง ซึ่งทำงานเป็นล่ามภาษาอังกฤษในกรุงปักกิ่งโพสต์ข้อความว่า “ยินดีต้อนรับทุกคนสู่ชุมชนที่เปี่ยมด้วยพลังความมีชีวิตชีวาและสีสัน” และโพสต์จากผู้ใช้งานอีกรายซึ่งมาจากมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ระบุว่า“เริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ด้วยอาหารจีนกันเถอะ” พร้อมแนะนำเมนูเด็ดประจำมณฑลซื่อชวน
ขณะเดียวกันนักศึกษาชาวจีนบางส่วนเริ่มต้นขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับการบ้านภาษาอังกฤษของพวกเขา ซึ่งพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจริงๆ โดย “ผู้ลี้ภัยจากติ๊กต็อก” ที่ใช้ชื่อ Rosie_in_Wonderland บอกว่าเสี่ยวหงซูคล้ายคลึงกับติ๊กต็อกมากในแง่การสร้างสรรค์เนื้อหาและใช้งานง่าย
การแบนติ๊กต็อกที่อาจเกิดขึ้นนั้นไม่ได้เป็นเพียงกรณีเดียว เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของจีน รวมถึงหัวเหวย (Huawei) และดีเจไอ (DJI) ตกเป็นเป้าหมายของรัฐบาลวอชิงตันอย่างอยุติธรรมเพิ่มขึ้นโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาตรการต่างๆ มาจำกัดควบคุมการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีจีนเหล่านี้
หลี่ว์เซียง นักวิจัยอาวุโสประจำศูนย์จีนและโลกาภิวัตน์ กล่าวว่าผู้ใช้งานติ๊กต็อกในสหรัฐฯ กำลังแสดงพลังต่อต้านว่าไม่ยอมรับการกดขี่กลุ่มบริษัทที่ไม่ใช่ของสหรัฐฯ ซึ่งดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจอย่างเป็นปกติ และการกระทำลักษณะดังกล่าวของกลุ่มนักการเมืองสหรัฐฯ กำลังสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของประชาชนชาวอเมริกันโดยตรง
หลี่ว์เสนอว่า รัฐบาลวอชิงตันควรปรับเปลี่ยนสู่มุมมองที่เปิดกว้าง ยอมรับการแข่งขันที่เป็นธรรม และส่งเสริมกลุ่มบริษัทของสหรัฐฯ สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เครือข่ายสังคมออนไลน์ใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้ใช้งานชาวอเมริกัน
โดย ดาโน โทนาลี
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี