สืบเนื่องจากวันครูที่เพิ่งผ่านไปในฐานะที่ผู้เขียนได้ดีเพราะครูบาอาจารย์วันนี้จึงขอตอบแทนพระคุณของคุณครู
ด้วยบทความที่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพและยาที่คุณครูอาจใช้บ่อยๆ เพราะมีโรคที่พบเจอบ่อยในอาชีพครู ได้แก่ โรคทางเดินหายใจและระบบเสียง
อาชีพครูต้องใช้เสียงอย่างต่อเนื่อง และยังต้องสัมผัสฝุ่นหรือสารก่อภูมิแพ้ในห้องเรียน ทำให้ครูหลายท่านเสี่ยงต่อโรคกล่องเสียงอักเสบเรื้อรัง โรคภูมิแพ้ และไซนัสอักเสบ และโรคทางกล้ามเนื้อและกระดูก เพราะว่าคุณครูต้องยืนสอนนานๆ หรือทำงานในท่าทางที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ปัญหาปวดหลัง ปวดคอ ปวดเข่า หรือภาวะนิ้วล็อกได้
และยังมีโรคสุขภาพจิต และความเครียดจากการทำงาน รวมถึงการจัดการปัญหาของนักเรียนและผู้ปกครอง อาจก่อให้เกิดภาวะเครียดเรื้อรัง ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล
โรคที่เกี่ยวกับดวงตา คุณครูเป็นอาชีพหนึ่งที่ใช้สายตาอย่างหนัก ไม่ว่าเพื่ออ่านหรือใช้คอมพิวเตอร์ เพื่อเตรียมสอนบ้าง ตรวจงานนักเรียนบ้าง อาจนำไปสู่ภาวะตาล้า ตาแห้ง และปัญหาการมองเห็น
โรคทางเดินอาหาร จากรับประทานอาหารไม่ตรงเวลาและความเครียดสะสม อาจส่งผลต่อการเกิดกรดไหลย้อนและโรคลำไส้แปรปรวน
โรคเรื้อรัง และโรคอ้วน ครูบางท่านที่มีพฤติกรรมที่นิ่ง และบริโภคอาหารไม่เหมาะสม มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วนเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
แน่นอนว่าการหาทางป้องกันไม่ให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ เช่น หลีกเลี่ยงฝุ่นหรือสารที่ทำให้แพ้ ใช้อุปกรณ์เสริมการเรียนการสอน ลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่ต้องใช้มากเกินไป พักเป็นระยะๆ ระหว่างทำงาน เรื่องที่ทำงานก็ทิ้งไว้ที่ทำงาน ไม่แบกเรื่องรบกวนจิตใจกลับไปบ้าน เป็นต้น แต่ครูผู้ทุ่มเทมักจะรู้ทุกอย่างแต่ทำไม่ค่อยได้ การเจ็บป่วยและการใช้ยาจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยาก บางครั้งคุณครูก็อาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยา จึงจะขอยกตัวอย่างยาในกลุ่มต่างๆ ที่คุณครูใช้บ่อยดังนี้
ยาสำหรับโรคทางเดินหายใจและระบบเสียง
- ยาแก้ไอ เช่น เดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan) ข้อควรระวัง : หลีกเลี่ยงการใช้เกินขนาด เพราะอาจทำให้ง่วงซึมหรือเวียนศีรษะ
- ยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะ เช่น ไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) บรอมเฮกซีน (Bromhexine) เอ็น-อะเซทิลซิสเทอิน (N-acetylcysteine) ถึงแม้จะรับประทานยาแล้ว ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดความเหนียวของเสมหะ
- ยาแก้แพ้ ควรเลือกยากลุ่มที่ไม่ง่วง หรือง่วงน้อย เช่น ลอราทาดีน (Loratadine) เซทิริซีน (Cetirizine) และ บิลาสทีน (Bilastine)
ยาบรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- ยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น ออร์เฟนดรีน (Orphenadrine) ซึ่งยาชนิดนี้มักจะอยู่ในรูป ยาสูตรผสมกับยาพาราเซตามอล
ซึ่งกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อจะมีผลข้างเคียงที่ทำให้ง่วง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับแอลกอฮอล์หรือยาอื่นที่ทำให้ง่วง นอกจากนี้ต้องระวังการใช้ยาพาราเซตามอลเกิดขนาด โดยเฉพาะเมื่อใช้ยาอื่นที่มีตัวยาพาราเซตามอลอยู่ด้วย
- ยาแก้ปวด ลดไข้ แนะนำให้ใช้ ยาพาราเซตามอล ให้ระวังอย่าใช้เกินขนาดที่กำหนด เพราะอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ
ในกรณีที่ต้องใช้ ยาแก้ปวด ลดอาการอักเสบ อื่นๆ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ และเภสัชกร เนื่องจากยาบางชนิด เช่น ยากลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ต้องระมัดระวัง เพราะมีผลข้างเคียงหลายประการ
ยาสำหรับการจัดการความเครียดและการนอนหลับ
- ยาช่วยการนอนหลับ ขอให้ปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
ยาสำหรับปัญหาดวงตา
- น้ำตาเทียม ให้ใช้อย่างถูกวิธี ไม่ใช้น้ำตาเทียม ร่วมกับผู้อื่น
ยาสำหรับอาการปวดศีรษะและไมเกรน มีหลายชนิด บางท่านแพทย์อาจสั่งจ่าย และบางชนิดถ้าใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตราย ควรอ่านวิธีใช้ให้ชัดเจน และไม่ใช้เกินขนาด
ยาสำหรับปัญหาทางเดินอาหาร
- ยาลดกรด ซึ่งมีหลากหลายชนิด เช่น ยาที่มีฤทธิ์เป็นด่างอย่าง อะลูมิเนียม-แมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ หรือยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ลดการหลั่งกรด ทั้งนี้ ไม่ควรใช้ในระยะยาวโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ยาแก้ท้องอืด เช่น ไซเมทิโคน (Simethicone) ถ้าท่านใช้แล้ว หากอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
- ยาแก้ท้องเสีย แนะนำเบื้องต้นให้ชดเชยน้ำและเกลือแร่ด้วยยาผงชงน้ำโออาร์เอส และอาจใช้ร่วมกับยาถ่าน ถ้าไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ เช่นกัน
นอกจากนี้ เราขอย้ำคุณครูว่า หากท่านเจ็บป่วยและจำเป็นต้องใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อเลือกยาที่เหมาะสมกับอาการ อ่านฉลากยาและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และเมื่องานยิ่งหนักยิ่งควรตระหนักเรื่องการดูแลสุขภาพ การพักผ่อนที่เพียงพอ การออกกำลังกาย และโภชนาการที่เหมาะสม สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ ได้ ต้องพึงระลึกไว้เสมอว่ายิ่งครูแข็งแรงมากเท่าใด ก็จะยิ่งสามารถดูแลศิษย์ให้มีคุณภาพ เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพได้จำนวนมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและสังคมโลกต่อไป
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี