โรคงูสวัดมีผลกระทบต่อสุขภาพหลายด้าน เช่น อาการปวด ภาวะแทรกซ้อนทางประสาท การติดเชื้อแบคทีเรีย ผลกระทบต่อสุขภาพจิต เป็นต้น การป้องกันที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ หากคุณมีอาการหรือสงสัยว่าตนเองอาจเป็นโรคงูสวัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม
ข้อมูลจาก ภญ.กชรัตน์ ชีวพฤกษ์ ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า โรคงูสวัด (Shingles) จัดเป็นโรคติดเชื้อทางผิวหนัง
ชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุและผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง สาเหตุของโรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster) หรือ ฮิวแมนเฮอร์ปี่ไวรัส ชนิดที่ 3 (Human Herpes Virus Type 3) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสชนิดนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายได้จากการหายใจหรือการสัมผัสเชื้อโดยตรง เช่น สัมผัสที่ตุ่มน้ำใสหรือสิ่งของที่ปนเปื้อนตุ่มแผลของผู้ป่วยจนทำให้เกิดเป็นโรคอีสุกอีใส เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว ไวรัสชนิดนี้จะไปแฝงตัวซ่อนอยู่ในปมประสาทของร่างกายได้เป็นเวลาหลายปีโดยไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ จนกระทั่งเมื่อระดับภูมิคุ้มกันของร่างกายลดต่ำลง เชื้อไวรัสนี้จะถูกกระตุ้น แบ่งตัวและกระจายอยู่ตามเส้นประสาทและก่อให้เกิดโรคงูสวัดได้
อาการของโรคงูสวัดมีอะไรบ้าง
อาการของโรคงูสวัดสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรกของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มจากมีอาการปวดแสบปวดร้อนที่ผิวหนังหรืออาจมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย หลังจากนั้น 2-3 วัน จะเข้าสู่ระยะหลักของโรค ผู้ป่วยจะเริ่มมีผื่นแดงขึ้นแล้วกลายเป็นตุ่มน้ำใส โดยผื่นแดงนี้มักจะขึ้นเรียงกันเป็นกลุ่มหรือเป็นแถวตามแนวเส้นประสาท ในระยะนี้ผิวหนังของผู้ป่วยอาจจะไวต่อการสัมผัส คือจะรู้สึกเจ็บแปลบเหมือนไฟช็อตหรือปวดแสบปวดร้อนแม้เพียงมีการสัมผัสเล็กน้อยหรือแค่สัมผัสโดนเสื้อผ้า ต่อมาตุ่มน้ำใสจะแตกออกเป็นแผลและตกสะเก็ดจนหายได้เองภายในระยะเวลา 2-4 สัปดาห์ ระยะหลังจากที่ผื่นหาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะยังมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทหลงเหลืออยู่ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอายุเกิน 50 ปีขึ้นไปและมากกว่าร้อยละ 70 ในผู้ป่วยอายุ 70 ปีขึ้นไป และระยะเวลาของอาการปวดนี้อาจจะเป็นเดือนหรือเป็นปีขึ้นกับผู้ป่วยแต่ละราย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง
l การติดเชื้อแบคทีเรียที่ผิวหนัง เมื่อตุ่มน้ำใสแตกออก หากผู้ป่วยดูแลรักษาความสะอาดของแผลไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น เชื้อ Staphylococcus aureus ได้
l การติดเชื้อที่ตา ภาวะนี้เกิดจากเชื้อที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทคู่ที่ 5 ทำให้เกิดอาการตาแดง ตาอักเสบ กระจกตาอักเสบ และอาจมีอาการปวดตามเส้นประสาทรอบดวงตา
หากอักเสบเรื้อรังอาจส่งผลให้การมองเห็นลดลงหรือสูญเสียการมองเห็นได้
l การติดเชื้อที่หู อาจทำให้เกิดการอักเสบที่หู ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหู วิงเวียนศีรษะ ได้ยินเสียงลดลง ไปจนถึงมีภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Ramsay Hunt Syndrome) เนื่องจากมีการอักเสบของเส้นประสาทกล้ามเนื้อใบหน้าได้
l การติดเชื้อในระบบประสาทส่วนกลาง ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยแต่มีความรุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ หรือไขสันหลังอักเสบ
l ภาวะแทรกซ้อนของระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคงูสวัดอาจก่อให้เกิดการอักเสบของเส้นเลือด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองได้
กลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาโรคงูสวัดมีอะไรบ้าง
แนวทางของการรักษาโรคงูสวัดโดยเฉพาะในผู้สูงอายุมีเป้าหมายเพื่อควบคุมการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการลดระยะเวลาการเกิดผื่น และป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น โดยกลุ่มยาที่นิยมใช้ในการรักษา มีดังนี้
1.ยาต้านไวรัส การรับประทานยาต้านไวรัสภายใน 72 ชั่วโมงหลังเริ่มมีผื่นจะได้ประสิทธิภาพในการรักษาสูงสุด เนื่องจากยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสส่งผลให้ลดการแพร่กระจายเชื้อบนผิวหนังและอวัยวะภายใน ทำให้ลดความรุนแรงของผื่น ลดการเกิดผื่นใหม่ ลดระยะเวลาและความรุนแรงของอาการปวดได้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสในรูปแบบของยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยตรง
2.ยาบรรเทาอาการปวด ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดระดับเบาถึงปานกลางสามารถรับประทานยาพาราเซตามอล หรือยาแก้ปวดต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น Ibuprofen หรือ Naproxen เพื่อบรรเทาอาการปวดได้ หากมีอาการปวดที่รุนแรงอาจใช้ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของ opioids เช่น Tramadol หรือ Oxycodone ซึ่งขนาดยาที่ใช้จะต้องปรับตามคำแนะนำของแพทย์ที่ทำการรักษา
3.ยาลดอาการปวดตามแนวประสาท ยาที่สามารถลดอาการปวดตามเส้นประสาทได้ คือ ยาต้านซึมเศร้าในกลุ่ม Tricyclic antidepressants เช่นAmitriptyline และยากันชัก (Anticonvulsants)เช่น Gabapentin
4.ยาสเตียรอยด์ การให้ยาสเตียรอยด์เช่น prednisolone ร่วมกับการได้รับยาต้านไวรัส พบว่าสามารถช่วยลดอาการปวดจากโรคและความรุนแรงของอาการปวดตามแนวเส้นประสาทได้
การดูแลรักษาแผลตุ่มน้ำจากโรคงูสวัด
ใช้น้ำเกลือปราศจากเชื้อ (0.9% normal saline solution, NSS) ล้างทำความสะอาดแผลหรือใช้ประคบแผล ครั้งละ 10-15 นาที วันละ 2-3 ครั้ง จากนั้นใช้ผ้าก๊อซซับให้แห้งและใช้แผ่นปิดแผลที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้แผลระคายเคือง และช่วยทำให้แผลแห้งไวขึ้น กรณีที่แผลมีการติดเชื้อแบคทีเรียอาจใช้ยาฆ่าเชื้อเฉพาะที่ เช่น mupirocin หรือ fusidic acid ทาแผลก่อนปิดแผลได้
การป้องกันโรคงูสวัด
l การรักษาสุขภาพทั่วไป ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
l การหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดหรือสัมผัสผู้ป่วยโรคงูสวัด หรือโรคอีสุกอีใสโดยตรง
การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด
การฉีดวัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการลดโอกาสการเกิดโรค โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและมีประวัติเคยเป็นโรคอีสุกอีใส วัคซีนยังสามารถลดภาวะปวดเรื้อรังหรือลดความเจ็บปวดจากโรคงูสวัดเมื่อผื่นงูสวัดหายไปแล้ว (ในกรณีได้รับวัคซีนแล้วยังเกิดโรคงูสวัด)
แต่วัคซีนดังกล่าวไม่สามารถใช้เพื่อการรักษาโรคงูสวัดได้ ผู้ที่ต้องการจะฉีดวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนรับวัคซีน เพราะอาจมีผลข้างเคียงหรืออาการแพ้วัคซีนใน
ผู้ป่วยบางรายได้
โดยสรุป หากผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติโดยเฉพาะมีผื่นหรือตุ่มบริเวณผิวหนังร่วมกับอาการปวด ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานาน ควรรีบปรึกษาแพทย์เพราะโรคนี้หากได้รับยาต้านไวรัสเร็วจะสามารถลดความรุนแรงของโรคและความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนลงได้ ผู้สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/
รับปีใหม่นี้ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ขอเชิญร่วมบริจาคโลหิตทั่วประเทศ สอบถามได้ที่ ฝ่ายจัดหาผู้บริจาคโลหิตฯ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โทร.02-2564300, 02-2639600-99 ต่อ 1101, 1760, 1761 หรือ www.blooddonationthai.com
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี