นับเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ปัจจุบันได้มีผลบังคับใช้ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” (การรับรองการสมรสระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน) แล้ว ขณะที่สังคมไทยเราเปิดกว้างยอมรับความแตกต่างทางเพศอย่างเสรี โดยหนึ่งในแนวคิด L-O-V-E-S ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) คือการสร้างและให้โอกาส O – Opportunity ว่า มศว เป็นมหาวิทยาลัยที่ให้โอกาสและความเท่าเทียมทางด้านเพศสภาพและการศึกษาแก่นิสิตที่มีความหลากหลายทางเพศมาโดยตลอด ร่วมสนับสนุน Pride Month เช่นเดียวกับองค์กรอื่นๆ โดยเฉพาะการเป็น Hub ด้านแหล่งรวมนักวิชาการและองค์ความรู้แบบพหุศาสตร์ ซึ่งพร้อมจะถ่ายทอดความรู้เหล่านั้นแก่นิสิตภายในมหาวิทยาลัย และต่อสาธารณชน
การให้ความรู้ด้านกฎหมายเพื่อผู้หญิงจากนักวิชาการสตรีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางอย่าง “ดร.กิ๊ฟท์” หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์ รักษาการรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) นักวิชาการและนักกฎหมายสตรีรุ่นใหม่ ก็พร้อมจะให้ความรู้ข้อกฎหมายสำหรับผู้หญิงเพื่อการปกป้องสิทธิของตัวเอง เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้อย่างยิ่ง
ดร.กิ๊ฟท์-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) มีนักวิชาการที่พร้อมจะให้ความรู้วิชาการทุกศาสตร์ โดยมองว่าเราเป็น Hub ของแหล่งรวมองค์ความรู้ อย่างเช่น เรื่องความรู้กฎหมายเพื่อผู้หญิง หรือแม้แต่การสมรสเท่าเทียมกันระหว่างชายรักชาย หญิงรักหญิง ดิฉันเองก็จะใช้ความรู้ด้านกฎหมายที่เรียนมาและสอนนิสิต ถ่ายทอดไปสู่สังคม เพราะมองว่าผู้หญิงเราเป็นเพศแม่และมีหน้าที่ในบทบาทที่หลากหลาย ในอดีตผู้หญิงถูกกำหนดตีตราว่าเป็นเพศที่สองรองจากบุรุษเพศ สังคมไทยเราเองผู้ชายก็เป็นใหญ่เป็นผู้นำครอบครัว เป็นหัวหน้างาน ปัจจุบันผู้หญิงสามารถก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นใหญ่เป็นโตได้เทียบเท่าชาย ทำงานหนักที่ผู้ชายทำได้ เพราะแท้จริงแล้ว สิทธิของผู้หญิง คือ สิทธิมนุษยชน เราทุกคนล้วนมีสิทธิมนุษยชนอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะมีชีวิตโดยไม่ถูกใช้ความรุนแรงหรือถูกเลือกปฏิบัติ สิทธิในการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจ สิทธิที่จะได้รับการศึกษา สิทธิในการครอบครองทรัพย์สิน สิทธิในการออกเสียงเลือกตั้งและสิทธิในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม แต่ทั่วโลกยังมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงจำนวนมากที่ประสบกับการถูกเลือกปฏิบัติจากสาเหตุเพศกำเนิดและเพศสภาพ”
อีกทั้ง มีกฎหมายเกี่บวกับผู้หญิงมากมายที่ควรรู้ อาทิ กฎหมายครอบครัว ในมุมมองของฝ่ายสตรีนิยม กฎหมายครอบครัวเป็นกฎหมายที่มีลักษณะกดขี่ฝ่ายหญิงพอสมควร ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎหมายครอบครัวยกร่างขึ้นโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ จึงไม่มีการประกันสิทธิสตรีหรือความเป็นธรรมแก่ฝ่ายหญิงเท่าที่ควร (แม้กฎหมายครอบครัวเขียนโดยผู้ชายเป็นสำคัญ แต่ในชั้นของการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ซึ่งถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการก่อตั้งกฎหมายครอบครัวสมัยใหม่ของไทย ปรากฏว่ามีสุภาพสตรีหนึ่งท่านที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คือ คุณหญิงแร่ม พรหโมบล บุณยประสพ ซึ่งท่านเป็นที่รู้จักในฐานะเนติบัณฑิตหญิงคนแรกของไทย ซึ่งเป็นหญิงไทยคนแรกที่ขอเข้าเรียนกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายกระทรวงยุติธรรม เป็นเรื่องโกลาหลกันพอสมควรในยุคนั้น)
กฎหมายเกี่ยวกับผู้หญิงที่ควรรู้นั้น ก็ยังมีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดฐานอนาจาร คือการกระทำต่อเนื้อตัวบุคคลที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งมิได้หมายความเฉพาะการล่วงประเวณีหรือความใคร่เท่านั้น เช่น การกอดเอว จับมือ ดึงแขน หรือแม้แต่การเปิดกระโปรงสาวๆ ก็เป็นความผิดเช่นกัน ถึงแม้จะยินยอมก็ถือเป็นความผิดฐานอนาจารหากเหยื่ออายุต่ำกว่า 15 ปี กฎหมายการล่วงละเมิดทางเพศด้วยการขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย ทำให้อยู่ในภาวะจำยอม มีโทษจำคุก 4 – 20 ปี ปรับตัั้งแต่ 8,000 - 40,000 บาท และหากใช้อาวุธปืน ระเบิด หรือรุมโทรมหญิง จะมีโทษจำคุกขั้นต่ำ 10 ปี หรือ ตลอดชีวิต เป็นต้น กฎหมายโทรมหญิง : จากกรณีผู้หญิงถูกยัดเยียดความเป็นสามี ถูกรุมข่มขืนอีกหลายคน การกระทำชำเราผู้อื่นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป ถือเป็นความผิดฐานรุมโทรม อาจถึงขั้นจำคุกตลอดชีวิต กฎหมายเกี่ยวกับเสรีภาพ : เช่น การข่มขืนใจผู้อื่น คือ การบังคับให้ทำหรือไม่ทำสิ่งใดหรือจำยอมต่อสิ่งใดๆ โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ชื่อเสียง เสรีภาพ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ถูกกักตัวไม่ให้ออกไปไหนหรือทำให้ขาดเสรีภาพ เช่น มัดมือมัด เท้า ใส่กุญแจมือ ถือเป็นความผิดฐานกักขังหน่วงเหนี่ยว เป็นต้น
ดร.กิ๊ฟท์-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาภรณ์ กล่าวย้ำว่า กฎหมาย ถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำของการอยู่ร่วมกันในสังคม ส่วนว่ากฎหมายที่ผู้หญิงยุคสมัยใหม่นี้ควรรู้นั้น ถ้าไม่แบ่งแยกเพศ กฎหมายพื้นฐานที่มนุษย์ควรรู้นั่นก็คือ เราทำสิ่งใดได้บ้าง ทำสิ่งใดไม่ได้บ้าง ซึ่งกฎหมายมีกฎหมายอาญาที่เป็นเรื่องพื้นฐาน และมีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่กำกับดูแลชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนตาย กฎหมายแรงงานที่มีการคุ้มครองผู้หญิงเป็นพิเศษ สำหรับความผิดเกี่ยวกับเพศ ฐานอานาจารหรือการกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ ซึ่งไม่ต้องกลัวว่าการกระทำเหล่านี้จะถูกปิดบัง เพราะปัจจุบันมีสื่อแสดงที่ทำให้ผู้หญิงกล้าที่จะเปิดเผยหรือปกป้องสิทธิของตัวเองมากขึ้น เช่น Movement ของ Hash Tag Me too ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องปกติและไม่ใช่เรื่องที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นได้ เช่น อยู่ในที่ทำงานแล้วถูกนายจ้างที่เป็นผู้ชายถูกกดขี่หรือกระทำการทางเพศที่ไม่สมควรต่างๆ สามารถเปิดเผยได้ ผู้หญิงเองก็ต้องมีการระแวดระวังภัยคุกคามเหล่านี้มากกว่าเพศชาย อาจจะเพราะเป็นเพศหญิงและการถูกกระทำที่อยู่ในภาวะจำยอมต่างๆ นั่นด้วย
“ปัจจุบันไทยเราก็เปิดกว้างมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมกันในคนเพศเดียวกัน เพราะได้มีการแก้ไขครั้งสำคัญสำหรับบรรพห้าแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันมีหลักการสำคัญเกี่ยวกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ ก็จะมีผลกระทบเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดูบุตรทั้งที่คลอดเอง หรือรับมาเป็นบุตร ซึ่งกฎหมายต้องปรับแก้ให้ครอบคลุมไม่เฉพาะคู่สมรสที่เท่าเทียมเท่านั้น แต่ต้องปกป้องบุตรบุญธรรมและอาจจะเป็นเด็กที่จะเกิดในครอบครัวในอนาคตด้วย
กฎหมาย พรบ. PDPA ก็เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอย่างที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ทุกคน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลส่วนตัว ซึ่งเจนเนอเรชั่นเด็กผู้เยาว์หรือวัยเปราะบาง ก็จะได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น ส่วนผู้หญิงก็จะเกี่ยวข้องกับ Sensitive Data คือการให้ความยินยอม เก็บ/ใช้/เปิดเผย ข้อมูลส่วนตัว เป็นเรื่องของสิทธิในการปกป้องตัวเอง ยิ่งถ้าเป็นคนที่อ้างว่าเป็นการปกป้องตนเองก็จะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่คำนึงถึงสิทธิสตรีก็เลยมีข้อความที่ว่าทุกคนควรปกป้องสิทธิสตรี อย่างที่กล่าวว่า We Should All Be Feminists เพราะอะไร คำตอบคือ ความเป็นผู้หญิง คือความมีพลัง เช่น การให้กำเนิดลูก การดูแลลูก พลังสตรีในการทำงาน ผู้หญิงก็เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกกฎหมาย แต่บางเรื่องผู้หญิงกลับปฏิเสธไปอย่างน่าเสียดาย” ดร.กิ๊ฟท์-ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประภาภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
038
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี