นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีมอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงานด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ประจำปี 2568 และมอบโล่รางวัลพนักงานและเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาครบรอบ 17 ปี สำนักงาน ป.ป.ท. ภายใต้แนวคิด “พลังศรัทธา พลังล่าทุจริต” โดยมีนายอำนาจ พวงชมภู ประธานกรรมการฯพร้อมคณะกรรมการฯ นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการฯ คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ท. จากส่วนกลาง และ ปปท. เขต 1- 9 จำนวนกว่า 250 คน เข้าร่วมฯ ณ ห้องแกรนด์บอลรูม A ชั้น 5 โรงแรมเบสท์เวสเทิร์น พลัสแวนด้า แกรนด์ ถ.แจ้งวัฒนะ ต.คลองเกลือ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นหน่วยงานที่รัฐบาลใช้ในการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สามารถตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล ซึ่งการดำเนินการจะต้องมีความชัดเจนและได้รับความไว้วางใจจากประชาชน โดยการดำเนินคดีทุจริตในภาครัฐจะต้องมีการดำเนินงานในภาพรวมที่เป็นปัจจุบัน ไม่มีคดีตกค้าง และมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้น สำนักงาน ป.ป.ท. ควรศึกษาหรือรับทราบข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการในการดำเนินงานคดีทุจริตและประพฤติมิชอบร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งกระบวนการ เพื่อให้ทราบปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไขปัญหาที่มีความชัดยิ่งขึ้นอันจะนำไปสู่เป้าหมายหลัก คือ การดำเนินคดีทุจริตที่มีความรวดเร็ว เป็นธรรม โปร่งใส ไม่เลือกปฏิบัติ และปราศจากการแทรกแซง
นายภูมิธรรม กล่าวว่า สำหรับทิศทางการขับเคลื่อนงานด้านการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของ ป.ป.ท. ในปี 2568 นั้น เน้นย้ำการทำงานที่สำคัญ 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ด้านการป้องกัน ต้องยกระดับการสร้างความซื่อตรงในการปฏิบัติราชการให้กับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาสังคม 2) ด้านการป้องปราม ต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการสอดส่องพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนการสกัดกั้นการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น เช่น โครงการของภาครัฐโดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่มีความเสี่ยงต่อการทุจริต “วงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป” และ 3) ด้านการปราบปราม ต้องพัฒนากระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง ให้ดำเนินการด้วยความรวดเร็ว ภายใต้พื้นฐานของความถูกต้อง เป็นธรรม และโปร่งใส การทำงานที่มีการประสานสอดรับกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด
นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อระลึกถึงความสำคัญในการก่อตั้งสำนักงาน ป.ป.ท. ที่ดำเนินงานในฐานะเป็นหน่วยงานหลักในการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต ตลอดจนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทภารกิจ อำนาจหน้าที่ และผลการดำเนินงานให้ประชาชนทั่วไปและสื่อมวลชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดระยะ 17 ปีที่ผ่านมา ได้มุ่งมั่นสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริตอย่างต่อเนื่องและได้พัฒนารูปแบบการสกัดกั้นการทุจริตเชิงรุกในทุกรูปแบบ โดยมีการขับเคลื่อนงานที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการปราบปรามการทุจริต มีสถิติสำนวนคดี ตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียน/กล่าวหา จำนวน 40,645 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ จำนวน 40,104 เรื่อง และชี้มูลความผิด จำนวน 5,973 เรื่อง อีกทั้ง ยังดำเนินการในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) นับตั้งแต่ดำเนินการเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2567 ได้รับเรื่องร้องเรียน/กล่าวหา จำนวน 5,021 เรื่อง ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วเสร็จ จำนวน 4,878 เรื่อง และพบมูลการกระทำทุจริตในภาครัฐ จำนวน 3,115 เรื่อง
2) ด้านการป้องกันการทุจริต ได้ยกระดับความเข้มแข็งและส่งเสริมให้ภาคประชาชนเป็นกลไกเฝ้าระวังการทุจริต ผ่านเครือข่ายพื้นที่สีขาวต้นแบบในการมีส่วนร่วมเพื่อป้องกันและเฝ้าระวังทุจริต ป้องกันการทุจริตเชิงรุกในหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาการทุจริตก่อนเบิกจ่ายงบประมาณ ส่งเสริมธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน และนักลงทุน โดยการให้ความรู้ความเข้าใจผ่านหลักสูตรบรรษัทภิบาลต่อต้านการทุจริต และดำเนินการตรวจสอบ เฝ้าระวัง ยับยั้งการทุจริตเชิงรุก โดยการลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐที่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนหรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 58/2 และ 58/3 แห่ง พ.ร.บ. มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
และ 3) ด้านการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์ขับเคลื่อนการบริการภาครัฐ สำหรับนักลงทุนและชาวต่างชาติ การยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption perceptions Index : CPI)โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนปฏิบัติการยกระดับค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ระยะ 5 ปี ขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงานในการสกัดกั้นความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้นในโครงการขนาดใหญ่ “วงเงินตั้งแต่ 500 ล้านบาทขึ้นไป” การนำร่องแนวทางการยกระดับการส่งเสริมภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน (Pilot Project) ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ให้สามารถดำเนินงานและบังคับใช้ในการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ ให้มีประสิทธิภาพต่อไป
นอกจากนี้ สำนักงาน ป.ป.ท. ยังได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ The United Nations GlobE Network เป็นหน่วยงานที่ 216 จาก 118 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐานด้านความซื่อตรง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ อีกทั้ง ยังเป็นกลไกในการสนับสนุนความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศ และเสริมสร้างบทบาทของประเทศไทยด้านการต่อต้านการทุจริตในเวทีโลกอีกด้วย
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี