ในระยะประมาณ 4-5 ปีมานี้คนกรุงเทพฯ (รวมถึงคนไทยส่วนใหญ่)ต้องเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศหนักขึ้น หลายคนได้ยินเรื่อง PM2.5 บ่อยขึ้น จนกระทั่ง 1-2 ปีที่ผ่านมาก็ได้เกิดความตื่นตัวเรื่องพิษภัยของ PM2.5 มากขึ้น
ขณะนี้ เป็นช่วงต้นปี 2568 ปรากฏว่าหลายพื้นที่ในไทย รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังเผชิญ PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐาน นั่นหมายถึงประชาชนกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพอย่างหนัก โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีโรคประจำตัวระบบทางเดินหายใจและหัวใจ
ถึงแม้ว่าจะมีข่าวหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องออกมาตรการควบคุม PM2.5 เช่น ห้ามเผาในพื้นที่โล่ง ควบคุมการปล่อยมลพิษจากยานพาหนะ ส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไปดังนั้น ประชาชนจำเป็นต้องป้องกันตนเองจาก PM2.5 ให้ดีที่สุด
PM2.5 คือฝุ่นพิษขนาดจิ๋วมากมี Particulate Matter ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมโครเมตร เป็นอนุภาคขนาดเล็กมากที่ลอยอยู่ในอากาศ และสามารถผ่านเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ลึกถึงถุงลมในปอด เพราะมีขนาดเล็กมาก จึงแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ และยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้นและยาว
เมื่อร่างกายสัมผัส PM2.5 ในระดับสูง อาจเกิดอาการตามระบบต่างๆ เช่น ต่อระบบทางเดินหายใจ อาจเกิดอาการ ไอ จาม เจ็บคอ หายใจลำบาก และมีอาการระคายเคืองตา ส่วนระบบหัวใจและหลอดเลือด จะทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันโลหิตสูง และเพิ่มความเสี่ยงของอาการหัวใจวาย แต่ถ้าเกิดอาการกับผิวหนังและภูมิแพ้ จะทำให้ผิวหนังแห้ง เป็นผื่นคัน และอาจกระตุ้นอาการภูมิแพ้
อาการข้างต้นถือเป็นอาการในระยะสั้น แต่เมื่อพูดถึงผลกระทบระยะยาว ได้แก่ โรคปอดเรื้อรัง และมะเร็งปอด โรคหัวใจ และหลอดเลือด เช่น หลอดเลือดตีบ และหัวใจขาดเลือดโรคทางสมอง เช่น อัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน PM2.5 มีผลกระทบมากต่อเด็กอ่อน และเด็กเล็ก รวมถึงหญิงตั้งครรภ์ ทำให้พัฒนาการล่าช้า และคลอดก่อนกำหนด
ประชาชนป้องกันตนเองและรักษาสุขภาพให้ดีที่สุดในช่วงวิกฤต PM2.5 โดย ลดการก่อมลพิษ ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ลดการเผาขยะในที่โล่งแจ้ง เพิ่มการปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองอากาศ และติดตามคุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิด โดยใช้แอปพลิเคชั่นตรวจสอบค่า PM2.5 และต้องหลีกเลี่ยงการออกไปข้างนอกบ้าน ในช่วงที่ PM2.5 สูงหากต้องออกนอกบ้าน ก็ต้องสวมหน้ากาก N95 หรือหน้ากากที่สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ เมื่ออยู่ในบ้านหรือในที่ทำงานต้องใช้เครื่องฟอกอากาศ โดยเลือกเครื่องที่มีประสิทธิภาพกรองฝุ่นขนาดเล็กได้
สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 ต้องใช้ยารักษาตามอาการ ดังนี้ ยาแก้แพ้ เช่น ลอราทาดีน เซทิริซีน เฟกโซเฟนาดีนเป็นต้น ซึ่งช่วยบรรเทาอาการแพ้ คัดจมูก น้ำมูกไหล และคันตาสำหรับผู้ที่มีโรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง อาจต้องใช้ยาขยายหลอดลมแบบสูดพ่นเพื่อบรรเทาอาการหายใจลำบาก รวมถึงอาจจำเป็นต้องใช้ยาสูดพ่น เพื่อลดการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตามการใช้ยาเหล่านี้ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน ไม่ซื้อยากลุ่มนี้ไปใช้เอง เพราะอาจเกิดอันตรายได้ หากมีอาการไข้หวัด ไอมีเสมหะ สามารถใช้ยาบรรเทาอาการปวด ลดไข้ พาราเซตามอลได้
สำหรับอาการไอแบบแห้งๆ สามารถใช้ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน หรือในกรณีที่ไอแบบมีเสมหะ ก็ใช้ยาขับเสมหะ เช่น ยาไกวเฟนิซิน เป็นต้น นอกจากการใช้ยาตามอาการแล้ว การดูแลรักษาตัวเองให้แข็งแรง พักผ่อนและดื่มน้ำให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ ผักผลไม้สีต่างๆ ที่ประกอบไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เพื่อช่วยลดผลกระทบจาก PM2.5 ช่วยลดการอักเสบ และป้องกันความเสียหายของเซลล์จากมลพิษทางอากาศ ถ้าจะใช้สมุนไพรต่างๆ ที่มีสรรพคุณหลากหลาย ก็ต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน เนื่องจากมีข้อควรระวังเช่นกัน เพราะสมุนไพรบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงหรือมีปฏิกิริยากับยาที่ใช้อยู่ก่อน
PM2.5 นับเป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัวใจ การป้องกันตนเองเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการใช้ยาอย่างเหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากฝุ่น หากประชาชนร่วมมือกันลดมลพิษทางอากาศ ก็จะช่วยลดความรุนแรงของปัญหา PM2.5 และทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น
รศ.ภญ.ดร.ณัฏฐดา อารีเปี่ยม และ รศ.ภก.ดร.บดินทร์ ติวสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี