กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ ร่วมกับองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) จัดงานสัมมนาวิชาการด้านวัณโรค “Ending TB Seminar - Thailand’s High TB Burden : Challenges and Pathways to Solutions” ณ โรงแรมอมารี ดอนเมืองแอร์พอร์ท กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ในการใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีรุ่นใหม่มาประยุกต์ใช้ร่วมกับวิธีการค้นหา รักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรคของประเทศไทย รวมถึงเสริมสร้างเครือข่ายการวิจัยด้านวัณโรคในประเทศไทย
ในการเปิดงาน นายแพทย์บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมประชุม พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาวัณโรค ซึ่งยังคงเป็นภาระสำคัญของประเทศไทย แม้ว่าประเทศไทยจะหลุดจากกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูง (MDR/RR-TB) ตั้งแต่ปี 2564 แต่ยังคงมี อุบัติการณ์วัณโรคสูงถึง 157 รายต่อประชากรแสนคน หรือประมาณ 113,000 ราย องค์การอนามัยโลก (WHO)และสหประชาชาติ (UN) กำหนดให้การยุติวัณโรคเป็นเป้าหมายสำคัญในแผนพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ภายใต้ ยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy 2035)
งานสัมมนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศร่วมบรรยาย ได้แก่ นายแพทย์นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่นำเสนอหัวข้อ “Thailand’s Current Situation and Commitment to Ending TB” และ Dr.Ikushi Onozaki กับ Dr.Takashi Yoshiyama จาก The Research Institute of Tuberculosis (RIT/JATA) ที่ร่วมแบ่งปันข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการปรับปรุงกระบวนการคัดกรองเพื่อค้นหาผู้ป่วยวัณโรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย รวมถึงการแก้ปัญหาวัณโรคในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic TB) และวัณโรคแฝง (LTBI) นอกจากนี้ แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารโครงการกองทุนโลก ได้นำเสนอบทบาทของกองทุนโลกในการสนับสนุนยุทธศาสตร์ยุติวัณโรคของประเทศไทย
ช่วงบ่ายของงานเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Why Does Thailand Still Struggle with TB?” โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับสาเหตุที่ประเทศไทยยังมีภาระวัณโรคสูง และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั้งในระดับนโยบายและปฏิบัติการ ปิดท้ายด้วยกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Analyzing Missing Cases : Tools and Strategies” และ “Optimizing Case Finding : Practical Approaches” ซึ่งเน้นการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกและพัฒนาประสิทธิภาพการคัดกรอง
งานสัมมนานี้นับเป็นอีกก้าวสำคัญที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมายการยุติวัณโรคตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติ เพื่อมุ่งสู่ “ประเทศไทยปลอดวัณโรค”
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี