พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2567 สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.ดร.โทนี ฮันเตอร์ จากสหราชอาณาจักร/สหรัฐอเมริกา และสาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศ.ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด จากสหราชอาณาจักร สาขาการสาธารณสุข ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท และพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เมื่อวันที่30 มกราคม 2568
ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัสแก่ผู้มาร่วมงาน “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติกรณีกิจแทนพระองค์ ในพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2567 ในวันนี้ ขอขอบใจคณะกรรมการและผู้เกี่ยวข้องทุกคนทุกฝ่าย ที่ได้ดำเนินการต่างๆ ด้วยดีตลอดมา ทำให้การเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เป็นที่ประจักษ์แก่ทั่วโลกกว้างขวางโดยลำดับ การศึกษาค้นคว้าวิจัยทั้งการแพทย์และการสาธารณสุขเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคใดโรคหนึ่งโดยเฉพาะ หรือเพื่อหาวิธีแก้ไขทางสาธารณสุขนั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุหลัก รวมทั้งปัจจัยที่แวดล้อมอยู่ด้วยจึงจะบรรลุผลสำเร็จ เช่นผลงานของ ศ.ดร.โทนี ฮันเตอร์ ที่ค้นพบว่าการทำงานของเอมไซน์ไทโรซีนไคเนสและกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่นของร่างกายที่ถูกกระตุ้นอย่างผิดปกติเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์มะเร็งจึงนำไปสู่การพัฒนายาหลายชนิดที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ กับผลงานของ ศ.ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด ที่สร้างและพัฒนาคาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรงช่วยให้สามารถป้องกันและบรรเทาความเสียหายทางอาชญากรรมรุนแรงต่างๆ ทำให้ผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินลดลงเป็นอย่างมาก จึงช่วยลดการสูญเสียทรัพยากรอันมีค่าของนานาประเทศได้เป็นอย่างมากมาย ผลงานของท่านทั้งสองสร้างความก้าวหน้าในการบำบัดรักษาโรค การวางนโยบายสาธารณะเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ เป็นประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอย่างไม่อาจประมานได้ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความยินดีด้วยใจจริงที่ท่านทั้งสองได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ในครั้งนี้ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวขออวยพรให้ทุกท่านที่มาร่วมในพิธีนี้ประสบความสุขและความเจริญสวัสดีจงทุกเมื่อทั่วกัน”
ศ.ดร.โทนี ฮันเตอร์ (Professor Dr.Tony Hunter, Ph.D.) จากสหราชอาณาจักร/สหรัฐอเมริกา ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 สาขาการแพทย์ จากผลงานการค้นพบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส(Tyrosine Kinase) และกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่น (Phosphorylation) ซึ่งเป็นการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่กรดอะมิโนไทโรซีนในโปรตีน กระบวนการดังกล่าวถือเป็นกลไกพื้นฐานของการส่งสัญญาณภายในเซลล์ ที่ควบคุมการเจริญเติบโต และการทํางานของเซลล์ การกระตุ้นการทํางานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนสที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นกลไกสําคัญที่ทําให้เปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ นําไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ได้โดยการยับยั้งการทํางานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เกิดการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพจํานวนมากมายไม่น้อยกว่า 86 ตัว เช่น อิมาทินิบ (Imatinib, GleevecTM) ซึ่งใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว และสร้างความก้าวหน้าให้กับการรักษาและวิจัยด้านโรคมะเร็งอย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์ได้หลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ศ.ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด (Professor Dr.Jonathan P. Shepherd, D.D.Sc.,Ph.D.) ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปีพุทธศักราช 2567 สาขาการสาธารณสุข ผลงานสําคัญคือการริเริ่มสร้าง “คาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง” (Cardiff Model for Violence Prevention) จากผลการศึกษาวิจัยของท่านพบว่า ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงนําไปสู่การที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลจํานวนมาก แต่เหตุดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรายงาน ทําให้เจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รับทราบมากถึงร้อยละ 75 จึงได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของเหตุรุนแรงระหว่างโรงพยาบาลและตํารวจ เพื่อวิเคราะห์สถานที่ซึ่งเกิดเหตุบ่อย วันเวลาที่เกิดเหตุ ขนาดและประเภทของความรุนแรงนําไปสู่การสร้างเป็นคาร์ดิฟฟ์โมเดล สามารถใช้ในการวางแผนป้องกันเหตุความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทําให้จํานวนผู้ป่วยที่ต้องมาแผนกฉุกเฉินลดลงอย่างมีนัยสําคัญถึงร้อยละ 42 อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บได้จํานวนมาก คาร์ดิฟฟ์โมเดล จึงเป็นเครื่องมือและนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่สําคัญสําหรับการลดเหตุความรุนแรงในชุมชน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้จํานวนมาก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนต่างๆ และได้รับการยอมรับในหลายทวีป เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 ทั้งสองท่านได้เผยความรู้สึกว่า รู้สึกยินดีและแปลกใจมาก แต่เดิมนั้นไม่ได้รู้จักรางวัลนี้ แต่เมื่อได้รับทราบว่าได้รางวัลจึงได้ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับรางวัลนี้ จึงทำให้ทราบพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนก พระองค์ท่านทรงเป็นบุคคลผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการเห็นความสำคัญของการพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทยเป็นอย่างยิ่ง ทรงเป็นแรงบันดาลใจให้กับ อีกทั้งผู้ได้รับรางวัลนี้ที่ผ่านมาต่างเป็นผู้มีผลงานอันโดดเด่นและสร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลต่อมวลมนุษยชาติ ท่านทั้งสองจึงรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567
นอกจากนี้ ศ.ดร.โทนี ฮันเตอร์ และ ศ.ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด ยังได้ส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่นักวิจัยพัฒนาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขรุ่นใหม่ๆ ด้วยว่า ขอให้ผู้มีความสนใจในการทำวิจัยและพัฒนาไม่ว่าจะเรื่องใดๆ ก็ตาม ขอให้เลือกทำในสิ่งที่ตนเองสนใจจริงๆ โดยให้คำนึงว่าสิ่งที่สนใจนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อสังคมและมนุษยชาติมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นสิ่งที่มีผลประโยชน์ต่อมนุษยชาติก็ให้ลงมือทำ อีกทั้งการผิดพลาดล้มเหลวไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุด แต่ให้นำความผิดพลาดล้มเหลวมาเป็นประสบการณ์ และเรียนรู้จากความล้มเหลวนั้น แล้วในที่สุดความสำเร็จก็จะเกิดขึ้น
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปีแห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล และด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปี แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
-(016)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี