หลังจากว่างเว้นไปนานถึง 5 ปี ก็ได้เวลาแห่งการสานสัมพันธ์ของสองสถาบันอุดมศึกษาอันเก่าแก่ของประเทศไทยอีกครั้งกับ “งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75” การกลับมาของการแข่งขันฟุตบอลนัดประวัติศาสตร์ ระหว่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” และ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ที่จะกลับมาร่วมสร้างความทรงจำครั้งใหม่ โดยครั้งนี้ สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับหน้าที่เป็นเจ้าภาพในการจัดงาน ประสานความร่วมมือจากสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขุมพลังจากนิสิต นักศึกษาทั้งสองสถาบัน มาร่วมบันทึกความทรงจำครั้งใหม่ไปด้วยกัน ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ประตู 5 (ฝั่งธรรมศาสตร์) และประตู 18 (ฝั่งจุฬาฯ)
ในการนี้สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานแถลงข่าวการจัด “งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์ - จุฬาฯ ครั้งที่ 75” เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2568 ณ ห้องยูงทอง สมาคมธรรมศาสตร์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ฯ ซ.งามดูพลี โดยฝั่งเจ้าภาพมี ชาญศิลป์ ตรีนุชกร นายกสมาคมธรรมศาสตร์ฯ วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฝ่ายธรรมศาสตร์ และ ศ.ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาล อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านฝั่งจุฬาฯ มี อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ นายกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ลวรณ แสงสนิท ประธานคณะกรรมการดำเนินงานฯ ฝ่ายจุฬาฯ และ รศ.ดร.สุกัญญา สมไพบูลย์ รองอธิการบดีจุฬาฯ ร่วมให้รายละเอียดการจัดงาน ร่วมด้วย สุทธิพันธ์ วรรณวินเวศร์ ผู้จัดการทีมฟุตบอลจุฬาฯ และ สมชาย พูลสวัสดิ์ ผู้จัดการทีมฟุตบลอธรรมศาสตร์ ให้รายละเอียดความพร้อมของนักกีฬาฟุตบอล
เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 งานฟุตบอลประเพณีฯ จึงได้ห่างหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมไทยนานกว่า 5 ปี การกลับมาในครั้งนี้ จึงถือเป็นการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “Dawn of Memory” ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของการจัดงานในครั้งนี้ ทั้งสองมหาวิทยาลัยได้หยิบยกแนวคิดนี้มาตีความในมุมมองที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ฝั่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตีความออกมาได้ว่า “ความทรงจำในวันใหม่” และ ฝั่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในแนวคิด “The time of tapestry อดีต อนาคต ของปัจจุบัน”
งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขันฟุตบอลระหว่างสองมหาวิทยาลัยเท่านั้น ยังเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้นิสิตและนักศึกษาจากทั้งสองสถาบันได้แสดงศักยภาพของตนเองผ่านการทำงานร่วมกัน ฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ เสริมสร้างความสามัคคี และสรรสร้างมิตรภาพอันดีระหว่างกันอีกด้วย งานในครั้งนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับศิษย์เก่าของทั้งสองสถาบัน ที่จะได้กลับมาพบปะเพื่อนเก่าในบรรยากาศอันคุ้นเคยของงานฟุตบอลประเพณีฯ พร้อมย้อนภาพความทรงจำจากงานฟุตบอลประเพณีฯ ในอดีตที่เต็มไปด้วยความทรงจำอันงดงามและอบอุ่น
ไฮไลต์สำคัญของงานยังคงเป็นกิจกรรมอันเป็นเอกลักษณ์ที่ทุกคนเฝ้ารอ ไม่ว่าจะเป็นการแปรอักษร ซึ่งบอกเล่าถึงเรื่องราวของสังคมผ่านพลังมวลชนบนสแตนด์เชียร์ของทั้งสองฝั่ง ขบวนพาเหรดอันยิ่งใหญ่ ประกอบด้วย ขบวนพระเกี้ยวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขบวนธรรมจักรแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขบวนเฉลิมพระเกียรติ ขบวนล้อการเมือง และขบวนสะท้อนสังคม พร้อมด้วยกิจกรรมที่จะมาสร้างสีสันตลอดทั้งงานอย่าง ดรัมเมเยอร์ ผู้อัญเชิญพานนำขบวนธรรมจักร ผู้แทนถือป้ายนามมหาวิทยาลัย จุฬาฯ คทากร เชียร์ลีดเดอร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหน้าที่นำเสียงเชียร์จากผู้ชมบนสแตนด์ทั้งสองฝั่งส่งไปถึงนักกีฬา
มาร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความทรงจำครั้งใหม่ไปพร้อมกัน ในงานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯ ครั้งที่ 75 ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมส่งเสียงเชียร์ และกำลังใจให้แก่ทีมธรรมศาสตร์และจุฬาฯ ในการแข่งขันนัดล้างตาแห่งประวัติศาสตร์ ในวันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ประตู 5 (ฝั่งธรรมศาสตร์) และประตู 18 (ฝั่งจุฬาฯ)
038
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี